ผลการศึกษายืนยัน "นอนเต็มอิ่ม" ทำคะแนนดีกว่า "อดนอน"
อาจารย์มหาวิทยาลัยในรัฐเท็กซัสของอเมริกา เสนอไอเดียการ “เพิ่มคะแนน” ให้กับนักศึกษาที่นอนหลับมากขึ้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีในระยะยาว
สำหรับนักเรียนนักศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนและเกรดอันงดงาม ก็ต้องพากเพียรศึกษาเล่าเรียนทั้งในห้องเรียนและที่บ้าน หรือบางคนก็พยายามจะเป็น “อัจฉริยะข้ามคืน” ด้วยการอ่านทบทวนตำรากันแบบไม่หลับไม่นอน
สำหรับอาจารย์ไมเคิล สคัลลิน (Michael Scullin) อาจารย์ด้านจิตวิทยาและระบบประสาท จากมหาวิทยาลัย Baylor University ในรัฐเท็กซัส ผู้มุ่งเน้นการสอนบทเรียนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ที่เป็นผลมาจากการขาดการนอนหลับ พบผลเสียของการขาดการพักผ่อนว่า ผู้ที่ขาดการพักผ่อนเพียงพอ จะส่งผลให้ขาดสมาธิ มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ และเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่างๆ ได้
ในตอนแรกนักศึกษา ก็ดูจะเข้าอกเข้าใจกับบทเรียนเรื่องการนอนหลับ แต่กลับทำตามไม่ได้สักที
อาจารย์ไมเคิล จึงกลับมาด้วยแนวคิดใหม่ที่กระตุ้นให้นักศึกษาพักผ่อนมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเพิ่มคะแนนในช่วงสอบปลายภาคให้กับนักศึกษา ซึ่งเป็นการสอบตัดสินอนาคตทางการเรียนวิชาของเขา
โดยกำหนดให้นักศึกษานอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวันเป็นเวลา 5 วันก่อนการสอบปลายภาค ซึ่งอาจารย์จะเพิ่มคะแนนให้ 2-3 คะแนนสำหรับการนอนหลับที่มากขึ้น ปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผลเกินคาด
อาจารย์ไมเคิล พบว่า นักศึกษาที่นอนหลับมากขึ้นจะสามารถทำคะแนนได้ดีขึ้น แม้จะเป็นชั้นเรียนที่แตกต่างกันก็ตาม โดยพบว่า นักศึกษา 8 คน จาก 18 คนในชั้นเรียนที่เขาทำสอนที่เลือกนอนหลับมากขึ้น และสามารถทำคะแนนสอบได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้นอนหลับเพียงพอราว 5 คะแนนทีเดียว ซึ่งให้ผลเดียวกันในชั้นเรียนอื่นๆ อีกทั้งคะแนนที่ทำได้มาจากผลงานของนักศึกษาล้วนๆ ก่อนที่จะมีการเพิ่มคะแนนพิเศษให้
ด้านนายแดเนียล เบสเซเซ่น จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ผู้ศึกษาเรื่องการนอนหลับ สนับสนุนการศึกษาเรื่องการนอนต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา โดยบอกว่า ผู้เรียนที่พยายามเป็นอัจฉริยะข้ามคืน หรือที่เรียกว่า cram ผู้ที่อ่านหนังสือทบทวนตำราหามรุ่งหามค่ำเพื่อการสอบปลายภาค มีแนวโน้มที่จะได้ผลกระทบที่ไม่ดีนัก
แม้ว่าข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC แนะให้คนในวัยผู้ใหญ่นอนหลับอย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง แต่กลับมีรายงานว่าตอนนี้ชาวอเมริกันนอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันแล้ว
ทางนายแดเนียล และอาจารย์ไมเคิล ให้คำแนะนำถึงการนอนหลับที่ดีต่อสุขภาพว่า
- พ่อแม่ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างในพฤติกรรมการนอนหลับที่ดีแก่เด็ก
- หลีกเลี่ยงการมองหรือใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า อย่าง โทรทัศน์ หรือสมาร์ทโฟน ก่อนนอน
- งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน 6 ชั่วโมงก่อนนอน
- พยายามปรับเวลานอนให้ตรงกันและเท่ากันทุกวัน
- หากยังไม่สามารถนอนหลับได้หลังจากเอนกายลงบนเตียงภายใน 10 นาที ขอให้ลุกขึ้นมา