ด้านมืดของ "ประวัติศาสตร์โลก" ความรู้รอบตัวที่ไม่มีในตำราเรียน
ในวิชาประวัติศาสตร์สากล ที่เรียนกันในเมืองไทยนั้นมีเรื่องทางประวัติศาสตร์หลายเรื่อง ที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในแบบเรียนส่วนใหญ่แล้วจะเน้นกันที่เหตุการณ์สำคัญของโลก ที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทย อย่างสงครามโลกครั้งที่สองก็จะมีการพูดถึง ฝ่ายอักษะกับสัมพันธมิตร ว่านำโดยชาติใดบ้าง และ ไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่สองก็เพราะมีเสรีไทย ส่วนที่อยู่นอกเหนือจากนี้ เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับครูที่สอนประวัติศาสตร์ว่าจะบอกเล่าอะไรเพิ่มเติม หรือ เด็กนักเรียนอยากจะรู้เนื้อหาที่มากกว่าในตำราเรียน
เมื่อประวัติศาสตร์โลกมีผลต่อการใช้ชีวิตในสังคม ดังนั้น Tonkit 360 ขอยกเอาประวัติศาสตร์โลกในด้านที่โหดร้าย และ สร้างความอ่อนไหวระหว่างประเทศ 3 เหตุการณ์มาเล่าให้คุณผู้อ่านได้ทราบกัน ซึ่งเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์นั้น แม้ว่าเราจะไม่เคยเรียนจากวิชาประวัติศาสตร์ แต่ก็เป็นความรู้รอบตัว ที่จะทำให้คุณได้เข้าใจสังคมมากยิ่งขึ้น
ศาลเจ้ายาซูกูนิ
คุณผู้อ่านน่าจะเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง สำหรับ ศาลเจ้ายาซูกูนิ ศาลเจ้าที่มีความหมายว่า “สงบสุข” แต่เวลามีผู้นำญี่ปุ่น หรือคนในรัฐบาลญี่ปุ่นเดินทางไปสักการะศาลเจ้าแห่งนี้ เกาหลี และ จีน ต้องลุกขึ้นมาประท้วงทุกครั้งไป สาเหตุนั้นเป็นเพราะศาลเจ้าแห่งนี้เป็นสถานที่เก็บป้ายสถิตวิญญาณของเหล่าทหารญี่ปุ่นสงครามโลกครั้งที่ 1 และ สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อผู้นำประเทศ หรือ คนในรัฐบาลญี่ปุ่น เดินทางไปสักการะที่ศาลเจ้า ก็จะสร้างความรู้สึกไม่พอใจให้กับจีน และ เกาหลี เพราะในสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่คนเอเชียเรียกกันว่า “สงครามมหาเอเชียบูรพา” ที่ญี่ปุ่นเป็นผู้นำฝ่ายอักษะในดินแดนตะวันออกนั้น กองทหารญี่ปุ่นได้สร้างรอยแผล ให้กับประเทศที่ถูกรุกรานทั่วทั้งทวีป (รวมถึงไทย) ดังนั้นศาลเจ้าแห่งนี้ จึงมักตกเป็นข้อขัดแย้งระหว่างประเทศทุกครั้ง หากมีคนในรัฐบาลญี่ปุ่นเยื้องกรายเข้าไปสักการะ
การสังหารหมู่ที่นานกิง
บาดแผลจากสงครามนั้นไม่เคยลบเลือนไปจากความทรงจำ แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน “การสังหารหมู่ที่นานกิง” เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีน กับ ญี่ปุ่น นั้นไม่สามารถแน่นแฟ้นได้ เมื่อย้อนกลับไปในปี 1937 ในเหตุการณ์สงครามระหว่าง จีน – ญีปุ่น ณ เวลานั้น นานกิง คือ อดีตเมืองหลวงเก่าของสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วง 6 สัปดาห์หลังจากกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ายึดนครนานกิง ได้สำเร็จและในเวลานั้น มีทหารจีนที่ถูกปลดอาวุธ รวมไปถึงพลเรือนชายชาวจีนจะถูกฆ่าอย่างทารุณ
ขณะที่หญิงชาวจีนถูกข่มขืนเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ไม่ว่าจะเป็นหญิงสาว คนท้อง หรือคนแก่ ทหารญี่ปุ่นข่มขืนชนิดไม่เลือกหน้า ไล่ตั้งแต่ชาวนา เด็กนักเรียน ครู พนักงานระดับบริหาร คนงาน อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งแม่ชี ต่างก็เลี่ยงไม่พ้นการถูกข่มขืนทั้งสิ้น โดยผู้หญิงคนหนึ่งจะตกไปอยู่ในมือของทหารประมาณ 15 ถึง 20 คน บางคนในจำนวนนี้ถูกเรียงคิวจนถึงแก่ความตาย แต่กฎของกองทัพที่ว่าห้ามข่มขืนผู้หญิงของฝ่ายตรงกันข้ามนั้น ทำให้ทหารสังหารเหยื่อเสียเมื่อเสร็จธุระ ทั้งนี้นักประวัติศาสตร์ได้ประเมินว่า มีผู้ถูกฆ่าระหว่าง 250,000 ถึง 300,000 คน
และนานกิง ก็เปรียบเสมือนบาดแผล ทางที่ติดค้างอยู่ภายในใจระหว่าง คนจีน และ ญี่ปุ่น เมื่อมีภาพยนตร์ หรือ หนังสือที่เกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิง มักจะมีเสียงปฏิเสธจากทางญี่ปุ่นทุกครั้งไป
ตวลสเลง และ ทุ่งสังหาร
ในยุคสมัยที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ คืบคลานเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศเพื่อนบ้านของไทยหลายประเทศที่ได้รับเอกราชและต้องเข้าสู่การปกครองด้วยตนเอง ได้รับอิทธิพลจากคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมาก และ กัมพูชา ก็คือหนึ่งในนั้น หลังจากพนมเปญแตก และ เขมรแดงเข้ายึดอำนาจไว้ได้ ภายใต้การนำของ พล พต และรูปแบบการปกครองที่จะทำให้ประชาชนมีความสามารถน้อยลง ก็เริ่มขึ้น ระหว่างปี 1971 – 1973 ที่เริ่มใช้นโยบายอพยพออกสู่ชนบทเพื่อแก้ปัญหาการที่คนในเมืองมีแต่ความสามารถทางการค้า พร้อมกับการมาถึงของนโยบายในการสร้างสังคมใหม่ โดย พล พต ได้กล่าวว่า ต้องการประชากรเพียง 1-2 ล้านคนในการสร้างสังคมใหม่ ดังนั้น “เก็บคุณไว้ก็ไม่มีประโยชน์ ทำลายคุณไปก็ไม่มีความเสียหาย”
การสังหารกลุ่มประชาชนใหม่เกิดขึ้นอย่างมากจนเกิดทุ่งสังหาร มีการจำแนกผู้คนตามศาสนาและกลุ่มชาติพันธุ์ ทุกศาสนาถูกคว่ำบาตร ชนกลุ่มน้อยถูกห้ามใช้ภาษาของตนเอง กลุ่มที่เป็นเป้าหมาย ได้แก่ พระภิกษุ มุสลิม ชาวคริสต์ ปัญญาชนที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก คนที่มีการศึกษาโดยทั่วไป คนที่เคยติดต่อกับชาติตะวันตกหรือเวียดนาม คนพิการ และเชื้อชาติส่วนน้อย เช่น ชาวจีน ชาวลาว ชาวเวียดนาม บางส่วนถูกส่งไปค่าย เอส-1 และบางส่วนถูกสังหาร
คาดการณ์ว่าผู้เสียชีวิตในสมัยเขมรแดงภายใต้ระบบพล พตอยู่ระหว่าง 7 แสนถึง 3 ล้านคน ส่วนใหญ่จะระบุตัวเลขเป็น 1.7 – 2.2 ล้านคน ครึ่งหนึ่งเสียชีวิตเพราะถูกประหาร อีกส่วนมาจากความอดอยากและโรคระบาด และในจำนวนนี้จะถูกนำไปขังคุกสำหรับนักโทษทางการเมือง ที่เรียกว่า ตวลเสลง ซึ่งภายในคุก จะมีการทรมานหลากหลายรูปแบบ จนทำให้นักโทษคนนั้นถึงแก่ความตาย และ ทุกวันนี้ ตวลเสลง ก็เปรียบเสมือนรอยแผล ของการปกครองที่ทิ้งเอาไว้ในใจคนกัมพูชาทุกคน