การตีตราของสังคมอาเซียน กับกลุ่มรักร่วมเพศ

การตีตราของสังคมอาเซียน กับกลุ่มรักร่วมเพศ

การตีตราของสังคมอาเซียน กับกลุ่มรักร่วมเพศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทันทีที่ทางการบรูไน ประกาศบทลงโทษโดยใช้กฎหมายตามหลักศาสนาอิสลาม (Islamic Sharia Law) ต่อกลุ่มผู้ที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ (LGBTQ – Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer) ภายในประเทศ ด้วยวิธีการ “ปาหินจนเสียชีวิต” กระแสของโลกโซเชียล และ ชาวรักร่วมเพศทั่วโลก ก็ร้อนแรงขึ้นมาทันที เพราะการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวเปรียบดูจะสวนทางกับโลกปัจจุบันที่เปิดกว้าง และให้โอกาสต่อกลุ่มผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศ

ขณะที่ทางการบรูไนชี้แจงว่า กฎหมายดังกล่าวมีขึ้น “เพื่อให้ชาวบรูไนซึ่งเป็นมุสลิมได้รับการสอนอย่างถูกต้องตามจารีตประเพณี และ เติบโตขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง”

ทั้งนี้ บรรดาเซเลบริตี้ ในฮอลลีวู้ด ไม่ว่าจะเป็น จอร์จ คลูนี่ย์ หรือ เอเลน ดิเจอนารีส ต่างก็โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ต่อต้านการใช้กฎหมายดังกล่าวในบรูไน และ มีการรณรงค์ให้คนทั่วโลกร่วมกันบอยคอต กิจการโรงแรม ที่ราชวงศ์บรูไน ถือหุ้นอยู่เพื่อแสดงให้เห็นว่า การตรากฎหมายดังกล่าวออกมาใช้นั้น เป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง

การตกเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มรักร่วมเพศในครั้งนี้ของบรูไน ประเทศเล็กๆเจ้าของบ่อน้ำมันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ทำให้สถานการณ์กลุ่มรักร่วมเพศภายในภูมิภาคนี้ ถูกจับตาอีกครั้ง และ เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่า สังคมเอเชีย ไม่ว่าจะภูมิภาคไหน สถานะของกลุ่มรักร่วมเพศ ยังคงเป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และ พวกเขามักถูกตีตราจากสังคมอยู่เสมอ และถ้าบรูไน ประกาศใช้กฎหมายตามหลักอิสลาม เรามาดูกันดีกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน มีสถานการณ์ของชาวรักร่วมเพศอยู่ในเกณฑ์ใด โดยนำข้อมูลมาจาก NQAPIA องค์กรที่รณรงค์เพื่อสิทธิของชาวเกย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

กัมพูชา

สถานการณ์ความหลากหลายทางเพศในกัมพูชา นั้นเปิดโอกาสให้คนที่มีรสนิยมแบบรักร่วมเพศนั้นใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ในปี 2008 ทางการกัมพูชา ใช้สรรพนามในการเรียก คนที่มีรสนิยมทางเพศ แบบชายรักชาย หรือ หญิงรักหญิงที่ต้องการอยู่รวมกันว่า “คู่ชีวิต (Spouses)”

อินโดนีเซีย

สถานการณ์ของกลุ่มรักร่วมเพศ ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมขนาดใหญ่นั้นยังคงไม่เปิดให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้แสดงตัวตนที่แท้จริงออกมามากนักเห็นได้ชัดจาก สถานีโทรทัศน์ในอินโดนีเซีย ยังมีข้อจำกัดในการนำเสนอเนื้อหาหรือตัวพิธีกรที่ต้องไม่มีความรู้สึกเบี่ยงเบนทางเพศ (ที่เป็นเช่นนั้นเพราะไม่ต้องการให้เกิดตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเด็ก) ขณะเดียวกันเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับเกย์ หรือ เรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มคนรักร่วมเพศ ก็มักจะถูกสั่งห้ามให้มีการเผยแพร่ หรือ ถูกแบนมาโดยตลอด

มาเลเซีย

สถานการณ์กลุ่มรักร่วมเพศในมาเลเซีย นั้นอยู่ในระดับเดียวกับบรูไน เพราะบางรัฐในมาเลเซียมีการใช้ Islamic Sharia Law เป็นบทลงโทษผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ และถ้าพิสูจน์ทราบว่าเป็นเกย์ คนผู้นั้นจะไม่สามารถเข้าทำงานในกองทัพของมาเลเซียได้เลย

ฟิลิปปินส์

ด้วยความที่เป็นประเทศซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก กลุ่มรักร่วมเพศ ในฟิลิปปินส์ จึงได้รับการยอมรับมากกว่าประเทศอื่นๆในแถบเอเชียตัวออกเฉียงใต้ ทั้งนี้มีผลสำรวจว่า 73 เปอร์เซ็นต์ของชาวฟิลิปปินส์ นั้น ยอมรับได้ถ้าสังคมที่เป็นอยู่จะมีการแสดงตัวตนของชาวเกย์ และอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ

พม่า

สถานการณ์รักร่วมเพศในพม่า นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับ และ ถ้ามีการแสดงตัวว่าใช้ชีวิตอยู่รวมกัน มีโอกาสที่คู่เกย์ คู่นั้นจะถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลาถึง 10 ปี และไม่มีกฎหมายข้อใดของพม่าที่จะปกป้องสิทธิของชาวเกย์ ในประเทศเลย

สิงคโปร์

ในสิงคโปร์ นั้นการแสดงตัวว่าเป็นกลุ่มรักร่วมเพศอย่างโจ่งแจ้ง หรือ แสดงความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ทางการสิงคโปร์ ออกกฎชัดเจนที่ห้ามเกย์ เข้ารับราชการในกองทัพของประเทศ

เวียดนาม

กิจกรรมที่เกี่ยวกลุ่มรักร่วมเพศ นั้นถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในปี 1945 แต่ผู้ชายที่เป็นเกย์ ยังสามารถเข้าสู่กองทัพเวียดนามได้ จนกระทั่งในปี 2014 สถานการณ์ของกลุ่มรักร่วมเพศ เริ่มดีขึ้นเมื่อทางการเวียดนาม ได้มีการพิจารณากฎหมายคู่รักเพศเดียวกันให้มีสิทธิทางกฎหมายได้เหมือนกับคู่รักชายหญิง ซึ่งทำให้การประกาศตนเป็นชาวรักร่วมเพศในเวียดนาม ไม่ผิดกฎหมายและไม่ถูกปรับ

ไทย

รายงานของ USAID ได้ระบุถึงสถานการณ์ของสังคมรักร่วมเพศในประเทศไทยเอาไว้ว่า “ก่อนหน้านี้กลุ่มรักร่วมเพศในเมืองไทยถูกจัดว่ามีภาวะทางจิตไม่ปกติ ไม่สามารถรับราชการทหารได้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2548 กองทัพไทยยกเลิกกฎหมายดังกล่าวแต่ก็ยังคงใช้คำอธิบายชายที่เป็นเกย์ว่า คือเพศที่ไม่สอดคล้องกับเพศโดยกำเนิด แม้ว่าปัจจุบันสังคมไทยจะเปิดกว้างต่อกลุ่มรักร่วมเพศ แต่ยังไม่มีกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของคนกลุ่มนี้”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook