เปิด-ปิดเทอมตามอาเซียน ส่งผลดีหรือวุ่นวายกันแน่?

เปิด-ปิดเทอมตามอาเซียน ส่งผลดีหรือวุ่นวายกันแน่?

เปิด-ปิดเทอมตามอาเซียน ส่งผลดีหรือวุ่นวายกันแน่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อปี 2557 เป็นปีแรกที่สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยเปลี่ยนช่วงเวลาการเรียนเป็น สิงหาคม-ธันวาคม และ มกราคม-พฤษภาคม โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเปิด-ปิดเทอมตามประเทศอาเซียน เพื่อให้สอดรับกับการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศของนักศึกษาหรืออาจารย์ หรือให้พอดีกับการจะไปเรียนต่อในประเทศอาเซียน

เกิดการถกเถียงกันมายาวนานตั้งแต่เริ่มเสนอนโยบาย จนมาถึงตอนนี้ผ่านมากกว่า 5 ปี ว่าสุดท้ายแล้วการเลื่อนเปิดเทอมของเด็กมหาวิทยาลัยมันส่งผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน?

เพราะเมื่อลองไปดูจริงๆ แล้ว ประเทศในอาเซียนมีเพียงสองประเทศที่เปิดเทอมในช่วงสิงหาคม-ธันวาคม นั่นคือ สิงคโปร์และบรูไน ส่วนประเทศอื่นๆ รวมทั้งทั่วโลกส่วนใหญ่จะเริ่มที่เดือนกันยายนเป็นต้นไป นั่นทำให้เกิดคำถามว่าสุดท้ายแล้วการเปิด-ปิดเทอมตามประเทศอาเซียนนั้นมันจะสอดคล้องกับอะไร?

ข้อดี

1. เด็กม.6 มีเวลาว่างมากขึ้นก่อนขึ้นมหาวิทยาลัย

เมื่อเด็กมัธยมปิดเทอมในช่วงเดือนมีนาคม ทำให้ก่อนจะเปิดเทอมขึ้นมหาวิทยาลัยมีเวลาว่างก่อนหน้านั้นประมาณ 4-5 เดือน ให้สามารถไปหากิจกรรมทำ ทำงานพิเศษ ไปเรียนภาษาที่ต่างประเทศ หรือเลือกทำอะไรที่ตัวเองสนใจได้

แต่สำหรับข้อนี้ เป็นข้อดีเฉพาะเด็กที่มีที่เรียนแล้วเท่านั้น ซึ่งก็คือการรับตรงในรอบแรกๆ ส่วนการแอดมิชชั่นที่เพิ่งเปลี่ยนระบบใหม่ทำให้ทามไลน์การรับนักศึกษาลากยาวไปจนถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งเท่ากับว่าจะมีเวลาเตรียมตัวสอบเยอะขึ้น แต่เวลาว่างไม่ต่างจากเดิม

2. มีช่วงเวลาบรรเทารถติดในเมืองใหญ่ๆ

ถ้าเป็นการเปิดเทอมตรงกันของประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย มันจะกลายเป็นช่วงที่รถติดยาวนานประมาณ 4 เดือน แต่เมื่อการเปิดเทอมมีความเหลื่อมกันนิดหน่อยทำให้ช่วงที่อีกฝั่งหนึ่งปิดอีกฝั่งหนึ่งเปิดเป็นช่วงที่ช่วยบรรเทารถบนถนนได้ เห็นผลมากๆ ในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯเป็นต้น

3. ทำให้การเปิดเรียนของมหาวิทยาลัย ทามไลน์ใกล้กับประเทศอาเซียนและทั่วโลกมากขึ้น

เนื่องจากส่วนใหญ่จะเปิดเทอมกันในเดือนกันยายนเป็นต้นไป การที่ประเทศไทยเลื่อนไปเป็นเดือนสิงหาคม ทำให้อยู่ในช่วงใกล้ๆ กัน สะดวกต่อการแลกเปลี่ยน หรือการไปเรียนต่อ ไม่เหลื่อมล้ำกันมากเกินไป

ข้อเสีย

1. การเรียนในช่วงฤดูร้อนและฝน ทำให้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่

ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่ต้องมาเรียนนั้นเป็นช่วงฤดูร้อน ทำให้การเดินทางระหว่างไปเรียน การต้องไปนั่งเรียน (ที่บางที่อาจจะไม่มีเครื่องปรับอากาศ) เป็นเรื่องที่ทรมานใจจนไม่มีจิตใจจะเรียนเลยก็ว่าได้

และในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมเป็นช่วงที่ฤดูฝนหนักหน่วง การต้องฝ่าฝนไปเรียนจะเกิดความลำบาก การจราจรวุ่นวาย ทำให้ไม่อยากจะไปเรียน

2. มีวันหยุดเยอะ การเรียนจะไม่ต่อเนื่อง

แค่เดือนเมษายนเดือนเดียวก็มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ถึง 4 วันไม่รวมเสาร์อาทิตย์ มีช่วงสงกรานต์เป็นหยุดยาว ซึ่งดูจากทามไลน์แล้วเป็นช่วงที่เตรียมตัวสู่การสอบปลายภาคพอดี นั่นอาจจะทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่อง เรียนๆ หยุดๆ สอนได้ไม่เต็มที่ และเด็กก็ไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ในช่วงวันหยุดยาว อาจจะไม่ได้กลับบ้านไปหาครอบครัวเพราะต้องมัวพะวงกับการเรียน

3. บางหลักสูตรสอดคล้องกับการเปิดเรียนแบบเก่ามากกว่า

อย่างเช่นคณะที่ต้องพึ่งสภาพอากาศ

4. มหาวิทยาลัยที่เลือกกลับไปเปิดเทอมแบบเดิม ไม่สอดคล้องกับระบบ TCAS

TCAS เป็นระบบการคัดเลือกคนเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ที่มีถึง 5 รอบด้วยกัน ในรอบปกติอย่างการแอดมิชชั่น จะเสร็จสิ้นในช่วงมิถุนายนพอดี ซึ่งบางสถาบันที่เลือกกลับไปเปิดเทอมแบบเดิมก็จะไม่สามารถรับนักศึกษาในรอบนี้ได้ เพราะช่วงเวลามันทับกันพอดี ทำให้เกิดความวุ่นวายไม่เป็นระบบเดียวกัน

เมื่อชั่งน้ำหนักดูข้อดีข้อเสียของมันก็แทบจะครึ่งๆ ทำให้มีบางมหาวิทยาลัยทดลองเปิดเทอมแบบอาเซียนได้ปีเดียวก็กลับไปเปิดแบบเดิม และปัญหามันก็ตามมาเพราะความไม่ไปด้วยกันของทุกสถาบันด้วย การเปลี่ยนแปลงย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ถ้าจะให้ดีกว่ามันต้องไปด้วยกันทั้งระบบ ไม่ใช่ต่างคนต่างสถาบันก็ไปคนละทาง มันจะไม่เกิดความต่อเนื่องทั้งภายในประเทศและการจะไปเชื่อมต่อกับต่างประเทศด้วย การเปิดโอกาสให้แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดเองเป็นสิ่งที่ยืดหยุ่นดี แต่อาจทำให้ไม่เป็นระบบและวุ่นวายภายหลังได้

ดูแล้วยังไม่มีวี่แววว่าจะลงตัวกันทุกฝ่าย เมื่อเป็นแบบนี้ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยเด็กจะมีเวลาว่างมากกว่าปกติ ถ้าจะให้เกิดประโยชน์จริงๆ ควรจะมีกิจกรรมรองรับความว่างของเด็กนักเรียน มีโครงการค่ายอาสาให้ไปทำ เปิดรับพนักงาน Part-Time เพื่อสนับสนุนให้เด็กเริ่มทำงานเป็นและมีรายได้ และฝึกการใช้ชีวิตไปในตัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook