"เด็กพวกนี้" กับวิบากกรรมที่แบกรับและฟันฝ่า

"เด็กพวกนี้" กับวิบากกรรมที่แบกรับและฟันฝ่า

"เด็กพวกนี้" กับวิบากกรรมที่แบกรับและฟันฝ่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เด็ก เยาวชนในสังคมที่เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก เที่ยวเล่น สนุกและตื่นเต้นกับทุกอย่างในชีวิต แต่สำหรับอีกมุมหนึ่งยังมีเส้นทางที่ตีคู่กับความสนุกตื่นเต้นของชีวิตไปพร้อม ๆ กันด้วย

ทั้งความกดดันจากทางครอบครัว ความคาดหวังที่พ่อแม่ฝากฝัง เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากับระบบการศึกษา รวมไปถึงการต้องเผชิญโลกที่เต็มไปด้วยผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจ และใช่เพราะ ความเป็นเด็ก นี่แหละที่ยิ่งจำกัดความคิดเห็น ถูกมองว่าไม่มีสิทธิ์ปริปาก

หากจะถามว่า เป็นเด็กมันลำบากตรงไหน ออกจะสบาย เงินทองพอแม่ก็ให้ มีเวลาว่างเยอะแยะได้เที่ยวได้สนุก มีหน้าที่แค่เรียนเท่านั้น เอาล่ะ! งั้นหยุดก่อนเถิด ฟังจากคำถามเหล่านี้แล้วทำให้รู้สึกเหมือนคนถามไม่เคยเป็นเด็กมาก่อน เอาเป็นว่ามาดูกันว่าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า เด็ก เนี่ยต้องเผชิญกับเส้นทางชีวิตอย่างไรบ้างก่อนที่จะโตเป็นผู้ใหญ่

เธอคือความหวัง

แน่นอนเลยล่ะ ว่าผู้ที่เป็นลูกแม้จะถูกเลี้ยงดูและได้รับความรักความเอาใจใส่จากผู้เป็นพ่อและแม่แล้ว แต่สิ่งที่แฝงมากับสายใยรักนั้นคือ ความคาดหวัง ที่จู่ ๆ มันก็ขึ้นมากองอยู่บนบ่าทั้งสองข้างของเด็ก ความคาดหวังต่าง ๆ เกิดจากข้อกล่าวอ้างที่ว่า รักและหวังดี อยากให้ลูกเดินไปในเส้นทางที่พ่อแม่เป็นคนขีดเขียนไว้ พร้อมปิดกั้นและละเลยความรู้สึกหรือความต้องการของตัวเด็ก

คล้ายกับว่าส่งไม้ต่อให้ลูกตอบสนองความต้องการของตัวเอง เช่น พ่อแม่เคยพลาดโอกาสในเส้นทางการเรียนแพทย์ ไม้ผลัดนั้นจึงถูกส่งต่อไปยังลูก ทั้งที่ตัวลูกเองอาจชอบเรื่องศิลปะมากกว่า แต่สุดท้ายต้องก้มหน้าแบกรับความหวังนั้นอย่างกล้ำกลืน

เด็กหลายคนอาจโชคดีในเรื่องนี้ ที่พ่อแม่ซัพพอร์ตในทุกความต้องการ ไม่บังคับหรือโยนความหวังใด ๆ ให้ลูกหนักใจ คอยผลักดันส่งเสริมในสิ่งที่ลูกชอบ และเช่นกัน มีเด็กไม่น้อยที่ไม่ได้โชคดีแบบนี้

studying-951818_960_720

การเรียนไม่เคยเพียงพอ

ผลจากความคาดหวังที่คอยสร้างความกดดันให้แก่เด็กไทย ที่เห็นได้ชัดในสังคมส่วนใหญ่ คือการเรียนเสริมพิเศษนอกเวลา หรือ การเรียนกับสถาบันติวเตอร์ ซึ่งเป็นการหาความรู้เพิ่มเติม โดยเหตุผลหลักมาจากการเรียนรู้ในห้องเรียนนั้นยังไม่เพียงพอ ซึ่งมาจากตัวระบบการศึกษาเองด้วยซ้ำ

เพราะดูเหมือนว่า การเรียนพิเศษนอกเวลาจะได้ความรู้มากกว่าจากห้องเรียนด้วยซ้ำ จึงไม่แปลกใจที่วงการสถาบันติวต่าง ๆ ยังคงเป็นที่สนใจของเหล่าผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานไปหาความรู้เพิ่มเติม

เป็นยุคที่นอกจากต้องจ่ายค่าเทอมโรงเรียนแล้ว ยังต้องพุ่งเป้ามาที่การใช้จ่ายในการเรียนเสริมอีกด้วย

student-2052868_960_720

การแข่งขันเพื่อการเติบโต

ชีวิตของเด็กไทยในช่วงวัยเรียน โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดในชีวิต คือช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 6 นับเป็นช่วงชีวิตที่ว้าวุ่นที่สุดของเด็กเลยก็ว่าได้

นอกจากที่ต้องเจอมาทั้งชีวิตแล้วอย่างการเรียนวันละ 7 – 8 คาบ แต่ละวิชาก็ให้งานเหมือนเด็กมีเวลาเยอะแยะ ซึ่งทั้งงานและการบ้านบางทีก็ส่งผลให้เกิดภาวะเครียด แทนที่จะมีเวลาหาประสบการณ์เพิ่มเติม กลับต้องใช้เวลาตรงนั้นทำการบ้านเพื่อแลกคะแนนที่ส่งผลต่อเกรดเฉลี่ย

กลับมาที่ช่วงชีวิตที่ว้าวุ่นที่สุดที่เด็กต้องเจอ นอกจากความคาดหวังจากทางบ้าน ความเครียดจากการต้องดิ้นรนทำคะแนน เด็กพวกนี้ ยังต้องมาคอยตระเตรียมการวิ่งเต้นสอบเพื่อเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่

ช่วงนี้แหละ ที่จะชี้วัดความตั้งใจของเด็ก ๆ ทุกคน เพราะการสมัครเข้าเรียนต่อสถาบันระดับอุดมศึกษานั้น ไม่ใช่เพียงยื่นใบสมัครก็มีชื่ออยู่ในทะเบียนเลย เพราะสำหรับบางที่จะมีการคัดเลือกผู้ที่จะได้เข้าศึกษาต่อแตกต่างกันไป ทั้งการสอบ วัดความสามารถ ผลงานต่าง ๆ

แต้มบุญในรูปแบบของความตั้งใจในชีวิตของการเป็นนักเรียน จะถูกนำมาวัดผลในการแข่งขันนี้ ซึ่งฉากการแข่งขันนี้ ล้วนแล้วแต่มีคนที่สมหวังและผิดหวัง เจ็บปวดฝ่าฟันกันในทุกด่าน

ระบบสอบคัดเลือก

เมื่อพูดถึงการเข้ามหาวิทยาลัย แน่นอนว่าต้องมาพร้อมกับระบบการสอบคัดเลือกหลักของการใช้วัดผลคะแนนเพื่อผ่านและได้เข้าเรียนในสถาบันที่ตนเองหวัง

ซึ่งที่ผ่านมาหลายปีให้หลังนี้ ระบบการสอบคัดเลือกต่าง ๆ นั้นเปลี่ยนแปลงบ่อยเหลือเกิน และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ เด็กพวกนี้ ไงล่ะ กับการสอบที่มีมากมายหลายเทศกาล ทั้ง GAT/PAT หรือ O-NET ทั้งยังเสริมด้วยระบบที่มีหลายขั้นตอน ถึง 4 – 5 รอบ เป็นปีที่ว้าวุ่นสำหรับน้อง ๆ ม.6 ทุกคน

เด็ก ๆ ต้องตื่นตัวติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ความเครียดและความกดดันในชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีใครเข้าใจได้ กลายเป็นลูปวิบากกรรมที่ไม่ว่ากี่รุ่นต่อกี่รุ่นต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้

จากทั้งหมดเหล่านี้ แค่คิดภาพตามก็รู้สึกถึงความกดดันและการแบกรับภาระต่าง ๆ ซึ่งเราก็ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ที่กำลังตั้งความหวังและต่อสู้ในสนามสอบ หรือตั้งเป้าหมายใด ๆ ไว้ นั้นอย่าท้อแท้ เพราะเมื่อด่านอุดมศึกษาผ่านไป ด่านชีวิตผู้ใหญ่กำลังรอคุณอยู่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook