“จุฬาฯ สรรศิลป์” COLOR MEMOIR สุดยอดผลงานจาก 17 ศิลปินชั้นนำของไทย
“ชีวิตนั้นสั้น ศิลปะยืนยาว” เป็นคำพูดที่ผุดขึ้นมาในใจเมื่อเดินชมนิทรรศการจุฬาฯ สรรศิลป์ ครั้งที่ 8 ในชื่อ “Color Memoir” ที่กำลังจัดแสดง ณ ห้องนิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม
ผลงานทางจิตรกรรมและภาพพิมพ์ทั้ง 18 ชิ้น เป็นผลงานของสุดยอดศิลปินเมืองไทย 17 ท่าน ที่ได้ฝากฝีมือไว้เมื่อครั้งยังเป็นนิสิตนักศึกษาทางศิลปะ และจุฬาฯ ได้ซื้อผลงานไว้ อย่าง ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง จิตรกรที่มีชื่อเสียงในงานจิตรกรรมแนว Realistic ซึ่งจุฬาฯ สนับสนุนผลงานตั้งแต่ปี 2520 หรืออาจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ อาจารย์ มหาวิทยาลัยศิลปากรที่มีชื่อเสียงระดับโลก จุฬาฯ ก็ได้สนับสนุนผลงานเมื่อครั้งเป็น Young Artist เมื่อ 40 ปีที่แล้ว
“จุฬาฯ มีคอลเลกชันผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติและศิลปินที่มีชื่อเสียงจำนวนมากกว่าพันรูปซึ่งสะสมมาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว ผลงานศิลปะในคอลเลกชันไม่ได้เป็นสมบัติของจุฬาฯ เท่านั้น แต่เป็นสมบัติของชาติด้วย” อ.จรรมนง แสงวิเชียร อดีตคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ กล่าวถึงที่มาของการจัดนิทรรศการ
จุดเริ่มต้นของนิทรรศการ “จุฬาฯ สรรศิลป์” มาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารจุฬาฯ เมื่อ 40 ปีก่อนที่เล็งเห็นความสำคัญของงานศิลปะจากผลงานการสร้างสรรค์ของนักศึกษาซึ่งเป็นศิลปินรุ่นเยาว์ (Young Artist) มหาวิทยาลัยจึงซื้อผลงานเหล่านั้นไว้ เพื่อให้กำลังใจและกำลังทรัพย์แก่นักศึกษาในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งถึงปัจจุบันนี้ ศิลปินแต่ละท่านก็อายุ 60 - 70 ปีแล้ว หลายท่านได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นอาจารย์สอนศิลปะที่มีชื่อเสียงในสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งประกอบอาชีพเป็นศิลปินในต่างประเทศ และบางท่าน แม้จะลาโลกแห่งศิลปะไปแล้ว แต่ผลงานยังคงถ่ายทอดความงามและความหมายอันลึกซึ้งให้ผู้ชมได้สัมผัสจวบจนทุกวันนี้
จุฬาฯ นำผลงานศิลปะในคอลเลกชันมาจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในปี 2544 ภายใต้ชื่อ “จุฬาฯ สรรศิลป์”(Chula Art’s Collection) ในครั้งนั้นเป็นผลงานของศิลปิน “เหม เวชกร” หลังจากนั้น ก็จัดแสดงนิทรรศการเป็นระยะๆ อีกหลายครั้ง เช่น “เหม เวชกร: วรรณจิตรกรรม” (2545),“Semi 2 Abstract” (2554), “จุฬาฯ สรรศิลป์: ในหลวง” (2555), “เชิดชูเกียรติ รศ.สัญญา วงศ์อร่าม” (2556) , “เหม เวชกร ศิลปินแห่งสยาม” (2557) จนในปีนี้ จุฬาฯ สรรศิลป์ ครั้งที่ 8 “Color Memoir” นำเสนอผลงานของศิลปินที่สะท้อนความงามและความหมายของสีสันในงานศิลปะ
“ผลงานศิลปะเปรียบเสมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ศิลปะในระยะเวลาหนึ่งของประเทศไทย ศิลปินเหล่านี้ค้นพบรูปแบบทางศิลปะของตนเอง ผลงานแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์โดดเด่น ผ่านกระบวนการทางความคิดของศิลปิน ที่ต้องการบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ ทัศนคติ ความเชื่อ” อ.จรรมนง กล่าว
ศิลปินทั้ง 17 ท่านในนิทรรศการ จุฬาฯ สรรศิลป์ ครั้งที่ 8 ได้แก่ กำจร สุนพงษ์ศรี ถาวร โกอุดมวิทย์ ประวัติ เล้าเจริญ ประสงค์ ลือเมือง ปริญญา ตันติสุข ปริทรรศน์ หุตางกูร ปรีชา อรชุนกะ พิชิต ตั้งเจริญ ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง มณเฑียร บุญมา วราวุธ ชูแสงทอง วิวิชชา ยอดนิล สมบูรณ์ หอมเทียนทอง สมโภชน์ อุปอินทร์ สมวงศ์ ทัพพรัตน์ อนันต์ ปาณินท์ และอิทธิ คงคากุล
“จุฬาฯ มีความภูมิใจที่ได้นำผลงานศิลปะจากศิลปินชั้นเยี่ยมที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติมาจัดแสดงในนิทรรศการจุฬาฯ สรรศิลป์ เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้สืบสานงานด้านศิลปวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง เป็นความภูมิใจของมหาวิทยาลัยที่อยากส่งต่อให้ประชาคมจุฬาฯ และสาธารณชนได้รับรู้” อ.จรรมนง กล่าว
รู้จักศิลปินของ “จุฬาฯ สรรศิลป์”
- กำจร สุนพงษ์ศรี อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ แม้จะเป็นที่รู้จักมากในฐานะผู้เขียนตำราประวัติศาสตร์ศิลปะ แต่อาจารย์ไม่เคยละทิ้งงานจิตรกรรม
- มณเฑียร บุญมา อดีตอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ล่วงลับ เป็นผู้นำทางศิลปะ ร่วมสมัย มีผลงานที่จัดแสดงนิทรรศการในระดับนานาชาติ
- ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง จิตรกรที่มีชื่อเสียงในงานเขียนภาพลักษณะ Realistic งดงามเหมือนจริง จุฬาฯ สนับสนุนงานของอาจารย์ไพรวัลย์ตั้งแต่ปี 2520
- ถาวร โกอุดมวิทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรที่มีชื่อเสียงระดับโลก จุฬาฯ สนับสนุนผลงานของอาจารย์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งเป็น Young Artist
- ปริญญา ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2561 สาขาทัศนศิลป์ จุฬาฯ สนับสนุนงานของท่านตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน
นิทรรศการ “จุฬาฯ สรรศิลป์”
- จัดแสดงระหว่างวันที่ 20 มีนาคม – 26 มิถุนายน 2562
- ณ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ
- เปิดวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น.
- ปิดวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ
- ไม่เสียค่าเข้าชม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์
สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ
โทร. 0-2218-3645 – 6