ปรับชีวิต พิชิตออฟฟิศซินโดรม
การเป็นคนขยันทำงานนับว่าดี แต่หากนั่งติดโต๊ะต่อเนื่อง หรือก้มหน้าก้มตาใช้คอมพิวเตอร์และ มือถือนานเกินไป ก็อาจจะทำให้โรคร้ายถามหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคฮิตของคนติดจอที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ โรคออฟฟิศซินโดรม
“ออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคใกล้ตัวของคนยุคนี้ พบมากในผู้ที่ทำงานในออฟฟิศ โรคนี้ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติมากมาย โดยเฉพาะความผิดปกติในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นประสาท และหมอนรองกระดูกสันหลัง” ศ.ดร.ประวิตร เจนวรรธนะกุล หัวหน้าหน่วยวิจัยการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงาน ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
ไม่เพียงความปวด-เมื่อย-ล้าตามกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก แต่ออฟฟิศซินโดรมยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย เช่น ต้อหิน ตาพร่ามัว ตาแห้ง มือชา นิ้วล็อก เอ็นอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคเครียด นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน กรดไหลย้อน ไมเกรนหรือปวดศีรษะเรื้อรัง เป็นต้น
นอกจากสุขภาพกายแล้ว อาการออฟฟิศซินโดรมยังบั่นทอนคุณภาพชีวิต ลดทอนประสิทธิภาพในการทำงาน และยังเป็นเหตุให้เรามีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการรักษาโรคอีกด้วย สำนักงานสถิติแห่งชาติเคยประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมสูงถึง 48,069 ล้านบาทต่อปี (โดยคำนวณจากจำนวนคนทำงาน เมื่อปี 2556)
จับสัญญาณโรค
- ปวดเมื่อย ตื้อๆ แปล๊บๆ คอ บ่า ไหล่ แขน มือ ปวดเมื่อยที่แขน / ขา ข้างใดข้างหนึ่ง หรือพร้อมกันทั้งสองข้าง แต่ไม่มีอาการชา หากเป็นมาก อาจมีอาการปวดร้าว และ/หรือ ปวดศีรษะได้
- เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก หรือไม่เต็มช่วงการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะคอ บ่า ไหล่ มือ แขน ขา สะโพก
เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ หลายคนมักเข้าหาหมอนวด เพื่อผ่อนคลายหรือบำบัดอาการ แต่นั่นก็อาจจะช่วยบรรเทาอาการได้เพียงชั่วคราว หากเราไม่ปรับพฤติกรรม รูปแบบการใช้ชีวิต ออฟฟิศซินโดรมก็มาเยือนเราได้เสมอๆ
วิธีดูแลตัวเองจากออฟฟิศซินโดรม
- จัดท่านั่งทำงานให้ถูกต้อง นั่งตัวตรงเพื่อรักษาแนวกระดูกสันหลัง ลงน้ำหนักก้นซ้ายขวาให้เท่ากัน
- จัดวางเครื่องคอมพิวเตอร์ให้อยู่ระดับเดียวกับสายตา ตำแหน่งที่วางคีย์บอร์ดต้องวางเข้าไปให้ลึกจนมีพื้นที่โต๊ะเหลือสำหรับวางข้อมือ
- เก้าอี้นั่งต้องมีเบาะพิงหลัง มีที่พักแขน และปรับระดับความสูงของเก้าอี้ให้พอดี โดยให้ข้อสะโพกงอ 90 องศา ข้อเข่างอ 90 องศา เท้าวางแนบลงบนพื้น
- หมั่นขยับร่างกายบ่อยๆ ขณะนั่ง อย่างน้อย 10 ครั้งต่อชั่วโมง
- ขยับ ยืด เดิน เน้นการออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อคอ บ่า และหลัง หรือเดินประมาณ 10,000 ก้าวต่อวัน สำหรับประชาคมจุฬาฯ มาขยับเขยื้อนเคลื่อนกายก่อนกลับบ้านได้ ทั้งวิ่งและเดินที่สนามกีฬาจุฬาฯ หรืออุทยาน 100 ปีจุฬาฯ หรือจะไปที่ศูนย์กีฬาฯ ที่มีทั้งฟิตเนส ว่ายน้ำ เต้นซุมบ้า โยคะ เต้นลีลาศ ฯลฯ เปิดให้บริการวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 07.00 – 21.00 น. เสาร์ – อาทิตย์ เวลา 09.00 – 18.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0-2218-2874-77 หรือ www.cusc.chula.ac.th
บริการกายภาพบำบัด
สำหรับผู้ที่มีปัญหาปวดคอ ปวดหลังเรื้อรัง ศ.ดร.ประวิตร แนะนำให้ปรึกษานักกายภาพบำบัด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด จากนั้นค่อยดูแล ตัวเองด้วยการออกกำลังกาย
คลินิกกายภาพบำบัด ที่ชั้น 3 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ เปิดให้บริการบุคลากรจุฬาฯ และบุคคลทั่วไป ทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. และคลินิก นอกเวลา 16.00 – 19.30 น. วันเสาร์ 08.30 – 19.30 น. และวันอาทิตย์ 08.30 – 16.00 น. สอบถามรายละเอียดและนัดหมายได้ที่โทร. 0-2218-1100
ศ.ดร.ประวิตร เจนวรรธนะกุล
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ
“การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการป้องกัน เริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขยับ ยืด เดิน ให้มากขึ้น ปรับอิริยาบถในการทำงานให้ถูกต้อง เสริมสร้างสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอลดความเครียด และออกกำลังกายสม่ำเสมอ”