รายพระนาม "สมเด็จพระราชินี" แห่งราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์

รายพระนาม "สมเด็จพระราชินี" แห่งราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์

รายพระนาม "สมเด็จพระราชินี" แห่งราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในครั้งนี้ Sanook! Campus เราได้รวบรวม รายพระนาม ของ สมเด็จพระราชินี แห่งราชวงศ์จักรีไทย แห่งกรุงกรุงรัตนโกสินทร์ ในทุกรัชกาล มาให้ความรู้แก่ผู้อ่านทุกท่านให้ได้รู้ถึงประวัติแห่งราชวงศ์จักรีให้มากขึ้น

รัชกาลที่ 1 : สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (9 มีนาคม พ.ศ. 2280 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2369) พระนามเดิม นาค เป็นอรรคชายาเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นสมเด็จพระพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

รัชกาลที่ 2 : สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (พระยศเดิม:สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอด; พระราชสมภพ: 21 กันยายน พ.ศ. 2310 - สวรรคต: 18 ตุลาคม พ.ศ. 2379) หรือประชาชนเรียกว่า สมเด็จพระพันวษา เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (พระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) กับเจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน ต่อมาได้รับราชการฝ่ายในเป็นพระชายา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 3 : ไม่มีการสถาปนาพระราชินี

รัชกาลที่ 4 : ไม่มีการสถาปนาพระราชินี แต่มีพระอัครมเหสี

สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี (21 ธันวาคม พ.ศ. 2377 - 10 ตุลาคม พ.ศ. 2395) พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับหม่อมงิ้ว และเป็นพระราชนัดดาเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 3 ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า พระองค์ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระอัครมเหสี เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2395 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2395 หลังจากการสวรรคตของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ สร้างวัดโสมนัสราชวรวิหาร เพื่อพระราชอุทิศให้แก่พระองค์

รัชกาลที่ 5 : สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พันเอกหญิง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2407 เป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็ก โดยรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 6 : สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี สมเด็จพระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) กับท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี (สุจริตกุล) ทรงดำรงอิสริยยศสมเด็จพระราชินีอยู่ 2 ปี 8 เดือน รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศเปลี่ยนอิสริยยศ ลดลงเป็น พระวรราชชายา และไม่ได้สถาปนาพระราชินีพระองค์ใหม่

รัชกาลที่ 7 : สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

พันเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี (20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 — 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527) เป็นพระอัครมเหสีเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมเหสีพระองค์แรกตามแบบยุโรปและระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย หลังจากพระราชสวามีสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2477 พระองค์ประทับอยู่ประเทศอังกฤษจวบจนพระราชสวามีเสด็จสวรรคต และเสด็จนิวัตกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2492 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลในขณะนั้น

รัชกาลที่ 8 : ไม่มีการสถาปนาพระราชินี และไม่มีพระมเหสี

รัชกาลที่ 9 : สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

จอมพลหญิง จอมพลเรือหญิง จอมพลอากาศหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (เดิม: หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร; 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475) เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและโดยพระชนมพรรษาจึงนับเป็นพระกุลเชษฐ์พระองค์ปัจจุบันในพระบรมราชจักรีวงศ์

รัชกาลที่ 10 : สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2521 มีพระนามเดิมว่า สุทิดา ติดใจ เป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) ทั้งยังทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชองครักษ์เวรในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ก่อนที่พระองค์จะทรงได้รับพระราชโองการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook