นักเรียนเตรียมอุดมศึกษา ไม่ต้องปักชื่อบนเสื้อนักเรียน เพราะอะไร? มาดูที่มากัน
โดยทั่วไปแล้วเสื้อนักเรียนนอกจากจะปักอักษรย่อของชื่อโรงเรียนแล้ว สิ่งที่ต้องมีด้วยก็คือชื่อนักเรียน เป็นสัญลักษณ์ของนักเรียนไทย แต่สำหรับนักเรียนเตรียมอุดมศึกษานั้นไม่มีการปักชื่อนักเรียนลงไป เป็นเพราะอะไร วันนี้ Sanook! Campus เราจะพามาหาคำตอบกัน
ช่วง ปี 2516 กรมสามัญศึกษา ได้ออกระเบียบบังคับ ให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติให้นักเรียน ทุกคนต้อง ปักชื่อตนเอง บนเสื้อ เหมือนกันทุกโรงเรียน เพื่อจะทราบได้ว่า ชื่ออะไร และเมื่อทำผิด แล้ว จะได้เรียกชื่อได้ ถูกคนถูกตัว
แต่นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ไม่ต้อง เพราะคุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในขณะนั้น เข้าชี้แจงกับทางกระทรวงว่า "นักเรียนของโรงเรียนเตรียมฯ ดี และเรียบร้อยอยู่ในระเบียบทุกคน ไม่จำเป็นต้อง มีชื่อติดที่อกเสื้อ"
ซึ่งคุณหญิงบุญเลื่อน ให้หลักประกันกับทางกรมสามัญศึกษา ด้วยคำว่า "โต๊ะ กับเก้าอี้ ตัวหนึ่ง" ซึ่งหมายความว่า โต๊ะ และ เก้าอี้ของผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษานั่นเอง จึงเป็นที่มาของการเป็นโรงเรียนแห่งเดียวแห่งประเทศไทย ที่นักเรียนไม่ต้องปักชื่อของตัวเองไว้ที่อกเสื้อ แต่จะให้ติดเข็มกลัดพระเกี้ยวแทน
- นักเรียนชาย ประดับเครื่องหมายพระเกี้ยวโลหะสีทอง ทางด้านขวาของอกเสื้อ สูงจากแนวกระเป๋าซ้ายประมาณ 4-5 ซม.
- นักเรียนหญิง ประดับเครื่องหมายพระเกี้ยวโลหะสีเงิน ทางด้านซ้ายของอกเสื้อ ต่ำจากไหล่ประมาณ 12-13 ซม.
และนอกจากนั้นอมตะวาจาของคุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู ที่เรียกว่าเป็นที่กล่าวถึงมาจนถึงปัจจุบันนี้นั่นก็คือ "นักเรียนเตรียมฯ แค่เห็นข้างหลังก็รู้ว่าเป็นนักเรียนเตรียมฯ"