ราษฎร์จุฬาร่วมใจขจัดภัยพิษสุนัขบ้า เพื่อชุมชนต้นแบบแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างยั่งยืน
ตั้งแต่ปี 2556 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินการโครงการสัตวแพทย์ติดปีก ออกให้บริการฉีควัคซีน ทำหมันสุนัขและแมวเป็นประจำทุกปี ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ อุดรธานี ชลบุรี และระยอง โดยให้บริการสุนัขและแมวไปแล้วกว่า 1,000 ตัว แม้อย่างนั้น ก็ยังตามปัญหาไม่ทัน เนื่องจากสุนัขและแมวทั่วประเทศมีจำนวนมาก และการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าก็เกิดขึ้นทุกปี ทั้งที่เป็นเรื่องที่ป้องกันและจัดการได้
“การแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกันหลายฝ่าย เพื่อที่จะเข้าถึงพื้นที่ในการดูแล ให้ความรู้ และช่วยบริการจัดการปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง” ผศ.น.สพ.ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
ด้วยแนวคิดนี้ คณะสัตวแพทย์จึงได้ริเริ่มโครงการราษฎร์จุฬาร่วมใจขจัดภัยพิษสุนัขบ้า เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบที่เข้าใจและร่วมกันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และลดอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสุนัขและแมว โดยออกแบบให้โครงการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี คือ ตั้งแต่ 2561-2563 และเลือกพื้นที่ปฏิบัติการชัดเจน คือ ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
“ในปีแรกที่เริ่มโครงการ (2561) ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ได้ให้บริการฉีดวัคซีนแก่สุนัข และแมวในชุมชนถึง 100 % จากการสำรวจจำนวนสุนัขและแมวก่อนลงพื้นที่” ผศ.น.สพ.ดร.ทิลดิสร์ หัวหน้าโครงการราษฎร์จุฬาร่วมใจขจัดภัยพิษสุนัขบ้า กล่าว
ความสำเร็จของโครงการมาจากการสร้างการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย ทั้งจุฬาฯ และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ อาทิ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ จ.อุดรธานี ชมรมนิสิตเก่าชาวค่ายอาสาสมัครจุฬาฯ ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี เทศบาลตำบลคำบง และโรงเรียนราษฎร์จุฬาสามัคคี ซึ่งถูกเลือกให้เป็นพื้นที่ให้บริการของโครงการ เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยนิสิตเก่าจุฬาฯ ตั้งแต่ปี 2510 และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน
ผศ.น.สพ.ดร.ทิลดิสร์ เล่าถึงการดำเนินกิจกรรมโครงการว่า คณาจารย์และนิสิตจะใช้เวลา 4 วัน ในการให้บริการฉีดวัคซีนแก่สุนัขและแมวในชุมชน โดยเริ่มจากการประสานงานกับเทศบาล ต.คำบง เพื่อสำรวจจำนวนประชากรสุนัขและแมวทั้งหมดทุกหมู่บ้าน ประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนทราบ นัดหมาย และแนะนำการเตรียมสัตว์ จากนั้นแบ่งการทำงานออกเป็น 5 สาย กระจายไปทั้งตำบลจำนวน 10 หมู่บ้าน โดยมีการตั้งหน่วยให้บริการในช่วงเช้าถึงบ่าย และออกให้บริการตามบ้านในช่วงบ่ายแก่ๆ จนถึง 2 ทุ่ม ซึ่งเทศบาล ต.คำบง ให้ความช่วยเหลือบริการรถรับส่ง
ส่วนปศุสัตว์ จ.อุดรธานี ก็รับเรื่องทำหมันสุนัขและแมว สำหรับสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ จ.อุดรธานี ชมรมนิสิตเก่าชาวค่ายอาสาสมัครจุฬาฯ ก็ช่วยสนับสนุนเรื่องที่พัก อาหารการกิน และอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ ระหว่างการลงพื้นที่
นอกจากการฉีดวัคซีนและทำหมันแล้ว โครงการฯ ยังมีกิจกรรมเสริมความรู้อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับชุมชนด้วย อย่างเช่น การจัดอบรมและมอบอุปกรณ์การผลิตปุ๋ยชีวภาพให้แก่เกษตรกร การสัมมนาและเวิร์คชอปเกี่ยวกับสุขอนามัยเด็ก การดูแลสุขภาพของคนและสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ซึ่งคนในชุมชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี
“การดำเนินโครงการของเรากำหนดขอบเขตการให้บริการในพื้นที่ของชุมชนไว้อย่างชัดเจน มีการอบรมให้ความรู้เรื่องปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า วิธีการป้องกัน เพื่อให้คนในชุมชนเกิดการตระหนักรู้ ส่งผลให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันป้องกันและแก้ไขปัญหากันเองในชุมชน” ผศ.น.สพ.ดร.ทิลดิสร์ กล่าว
สำหรับโครงการราษฎร์จุฬาร่วมใจขจัดภัยพิษสุนัขบ้า ปี 2 ที่จะเริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2562 ผศ.น.สพ.ดร.ทิลดิสร์ คาดว่า จะประสบความสำเร็จมากกว่าปีแรก เนื่องจากมีนิสิตและอาจารย์ที่สนใจจะลงพื้นให้บริการมากกว่าปีแรก ซึ่งจะทำให้สามารถให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และทำหมันให้กับสุนัขและแมวได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
“ผมมั่นใจว่า เมื่อครบกำหนด 3 ปีของการดำเนินโครงการฯ เราจะสามารถลดอัตราการเพิ่มจำนวนหมาแมว และทำให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากชุมชน เพื่อให้ ต.คำบง เป็นต้นแบบในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดอุดรธานีได้” ผศ.น.สพ.ดร.ทิลดิสร์ กล่าวและเสริมด้วยว่า คณะทำงานได้มีการทำสรุปและประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำเป็นรูปแบบของโครงการที่สมบูรณ์ เพื่อส่งต่อให้กับชุมชนอื่นได้เรียนรู้ในการร่วมกันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืน