เคล็ดลับการเรียนกับ 2 นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยที่ ม.เพนซิลเวเนีย

เคล็ดลับการเรียนกับ 2 นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยที่ ม.เพนซิลเวเนีย

เคล็ดลับการเรียนกับ 2 นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยที่ ม.เพนซิลเวเนีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วีโอเอ ไทย พาไปคุยกับ 2 นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย หรือ University of Pennsylvania ในนครฟิลาเดลเฟียหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาเก่าแก่และเป็นสมาชิกมหาวิทยาลัย ไอวีลีค ของสหรัฐฯ

มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ลำดับที่ 4 ของสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยในกลุ่มมหาวิทยาลัยไอวีลีก ที่มีชื่อเสียงและคุณภาพอันดับต้นๆของโลก

e181d229-81eb-4e85-8596-18fa7

'วีโอเอ ไทย' มีโอกาสพูดคุยกับ 2 นักศึกษาไทย ที่กำลังเรียนอยู่ในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย คนแรกคือ 'วิชินพงศ์ สินชัยศรี' นักศึกษาปริญญาเอกด้านการบริหาร ที่ วอร์ตัน สคูล หรือคณะพาณิชยศาสตร์ (Wharton School)

“ผมเรียนจบปริญญาตรีจาก มหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University)ด้านวิศวะ คอมพิวเตอร์ หลังจากบราวน์ ก็ได้ไปทำงานที่แคลิฟอร์เนียปีนึง เกี่ยวกับงานด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ เสร็จแล้วก็คิดถึงโรงเรียนมากเลย อยากเรียนอีก เลยกลับมาเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซทส์ หรือ MIT เกี่ยวกับด้าน Optimization หรือ การหาค่าเหมาะที่สุด” วิชินพงศ์ นั่งสนทนากับวีโอเอ ไทย ใต้ต้นไม้ บริเวณลานกว้างด้านหน้าอาคารคอลเลจ ฮอลล์ ใจกลางมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

94f89679-92f6-47ea-b939-efbfc

ต่อยอดมุมมองใหม่ๆกับปริญญาเอก ที่ Wharton School

แม้จะมีประสบการณ์เรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับ IVY Leagueมาแล้ว ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี แต่ วิชินพงศ์ ยังอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในระดับ ที่ได้ชื่อว่ามีหลักสูตรด้านการบริหารที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

“จริงๆสำหรับผม ประสบการณ์ที่เรียนมาจะเป็นทางด้านวิศวกรรมนะครับ แล้วก็พบว่าเราก็ยังชอบแก้ปัญหาแบบวิศวะ จึงเริ่มรู้สึกว่าเราอยากจะลองแก้ปัญหาที่อาจจะกว้างขึ้นไปหน่อยครับ เพราะผมรู้สึกว่าการทำวิจัย หรือการเรียนในโรงเรียนด้านบิสซิเนส Business School เราได้โปรเจคที่ค่อนข้างจับต้องได้มากกว่าตอนอยู่วิศวกรรมครับ” วิชินพงศ์ กล่าว

พันธุวิศวกรรม ศาสตร์ใหม่ที่ท้าทาย

ขณะที่ น.ส. พิมพ์ขวัญ หาญนันทอนันต์ กำลังเรียนต่อปริญญาเอกด้าน 'พันธุวิศวกรรม' หลังเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) ที่รัฐนิวยอร์ก

“เรียกว่า Biological Engineering ค่ะ หรือแปลเป็นไทยคือการเรียนด้าน' พันธุวิศวกรรม' เป็นด้านที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งที่ไทยอาจจะยังไม่ค่อยแพร่หลาย”

2b8dc094-4f84-4ab5-a7a4-22322

พิมพ์ขวัญ บอกว่าการเรียนระดับสูงในระดับปริญญาเอก ต้องใช้ทักษะและองค์ความรู้ในหลายๆด้านเพื่อสร้างงานวิจัยหรือการค้นคว้าใหม่ๆที่ท้าทายในแวดวงวิชาการ

“ด้วยความที่เป็น Bio-Engineering มันผสมผสานระหว่างชีววิทยา การเขียนโปรแกรม (Computer programming) คือทุกอย่าง เพราะฉะนั้นทำให้เราต้องเรียนรู้ทุกอย่างให้เร็วขึ้น ถ้าเกิดเราจะพิคอัพทักษะอันใหม่ทางชีววิทยานี้ ก็ต้องสามารถเข้าไปแล้วทำได้เลย หรือว่าทางโปรแกรมมิ่ง ทำคอมพิวเตอร์ เราก็ต้องทำได้เลย”

แนะเคล็ดการสมัครเรียนต่อระดับสูง ต้องรู้จักสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง

นักเรียนไทยทั้งสองคนบอกว่า ในการเตรียมเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับสูงนั้นจำเป็นต้องมีแนวคิดหรือเป้าหมายของการศึกษาที่ชัดเจนในตัวเอง เพื่อที่จะอธิบายเหตุและผลของความสนใจในการเรียนที่มหาวิทยาลัยจะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน

“ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาคิดว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้มีกฏเกณฑ์ตายตัวว่าคุณต้องได้คะแนนเท่านี้ คุณต้องเก่งด้านนี้เป็นพิเศษ แต่เหมือนเขาอยากจะหา 'ความเข้ากัน เหมาะสม' หรือ 'fit' มากกว่าว่า เราเหมาะกับเขาหรือเขาเหมาะกับเราหรือไม่ด้วยครับ

..จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นปริญญาตรี โท หรือ เอก เขาก็จะมีให้เขียนเรียงความสั้นๆ ( Essay) ตลอดเลยว่า ทำไมคุณอยากมาเรียนที่นี่ ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเขาให้ความสำคัญสูงมาก ถ้าเราสามารถลองกลับไปนั่งคิดว่า โปรแกรมนี้ เราจะได้เรียนรู้อะไรจากมัน และเราสามารถแจกจ่าย (contribute) อะไรให้กับโปรแกรม ได้ด้วยมันเหมือนสองฝ่ายต่างได้ซึ่งกันและกัน เพื่อนร่วมชั้นเรียนก็ได้เรียนจากเราด้วย อาจารย์ก็จะได้เรียนจากเราด้วย นอกจากว่าเราจะได้เรียนจากเพื่อนและอาจารย์ ผมว่าเรื่องของความเหมาะสม (fit) ระหว่างโปรแกรมกับผู้สมัคร นั้นมีผลพอสมควรเลยครับ” ​วิชินพงศ์ ถ่ายทอดประสบการณ์และเคล็ดลับการสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่อยากเรียน

cd4962cb-c99f-4c55-9b98-e829c

เป้าหมายชัดเจน ใช้ความรู้ช่วยพัฒนาประเทศ

​ขณะที่ พิมพ์ขวัญ บอกว่าเป้าหมายที่เธอตั้งใจไว้แต่ต้นคือการนำความรู้กลับไปพัฒนาประเทศในสาขาวิชาที่เธอรับผิดชอบ

“ภาควิชาที่ทำคือ ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร ซึ่งถ้าไปพูดกับคนโดยทั่วไป ก็อาจจะไม่ได้ยินมาก่อน เป็นภาควิชาที่เพิ่งเปิดขึ้นมา ตอนนั้นก็เห็นว่า มันน่าสนใจดีเพราะว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเกษตรกรรมเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าเกิดว่าเราเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เป็นวัตถุดิบออกมาขาย คุณค่าของมันที่ได้ก็จะไม่เยอะเท่าไหร่ ก็คือได้แค่เท่านั้น แต่หากว่าเราสามารถนำวัตถุดิบมา ผ่านกระบวนการ (process) แล้วเพิ่มมูลค่าให้ จะสามารถเพิ่มคุณค่าของผลผลิตได้มาก รู้สึกว่าส่วนนั้นที่ประเทศไทยยังขาดอยู่ สมมุติว่ายางพาราเราส่งให้ญี่ปุ่น แล้วญี่ปุ่นก็เอาความรู้คุณภาพใส่ลงไปแล้วนำกลับมาขายเรา ก็รู้สึกว่าคนไทยก็ทำได้ ทำไมเราถึงจะไม่ทำ”

08135c56-6748-471f-9d28-00d02

น.ส.พิมพ์ขวัญ หาญนันทอนันต์ และ นายวิชินพงศ์ สินชัยศรี เป็นนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ ของรัฐบาลจากประเทศไทย และเตรียมนำความรู้กลับไปเป็นประโยชน์ ถ่ายทอดและพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการให้กับประเทศในอนาคตอันใกล้นี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook