ผู้พ้นโทษกับโอกาสจากสังคม กระทำผิดต้องได้รับการแก้ไข แต่การจับคนเข้าคุกไม่ใช่ทางออก

ผู้พ้นโทษกับโอกาสจากสังคม กระทำผิดต้องได้รับการแก้ไข แต่การจับคนเข้าคุกไม่ใช่ทางออก

ผู้พ้นโทษกับโอกาสจากสังคม กระทำผิดต้องได้รับการแก้ไข แต่การจับคนเข้าคุกไม่ใช่ทางออก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“คุก” แค่ได้ยินชื่อก็อยากจะวิ่งหนี ไม่มีใครอยากอยู่ในนั้น แม้แต่ผู้ต้องขังเอง แต่ทำไมผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกไปแล้วถึง 33% จึงกระทำผิดซ้ำจนต้องกลับเข้าเรือนจำอีกภายในช่วงเวลา 3 ปี หลังได้รับอิสรภาพ?

อะไรคือสาเหตุ ทางออกของปัญหามีอะไรบ้าง? เป็นประเด็นที่พูดคุยในการเสวนาวิชาการเรื่อง “ Brighten the Blind Side ให้โอกาสผู้พ้นโทษ กลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง” เมื่อเร็วๆ นี้ ในงาน “So Space: A Place to Forward” จัดโดยความร่วมมือ 4 คณะของจุฬาฯ ได้แก่ คณะรัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะเศรษฐศาสตร์

152844

คุณอัครินทร์ ปูรี อดีตผู้ต้องขัง แบ่งปันความเห็นจากประสบการณ์ในเรือนจำว่า “สภาพในเรือนจำทำให้ผู้ที่ต้องขังนานๆ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป กลายเป็นคนก้าวร้าว เห็นแก่ตัว คิดลบ และที่เจ้าหน้าที่เรือนจำไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมผู้ต้องขังได้ก็เพราะเจ้าหน้าที่ถูกฝึกมาเพื่อควบคุม ไม่ใช่เพื่อพัฒนา อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็มีน้อย การดูแลจึงไม่ทั่วถึง”

คุณยุทธนา นาคเรืองศรี ผู้บังคับบัญชาเรือนจำจังหวัดอยุธยา เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ต้องขังประมาณ 390,000 คน ประมาณ 80% เป็นผู้ต้องขังที่ตัดสินแล้วอีก 18-19% อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ที่เหลือเป็นผู้ต้องกักขัง

“ปัญหาสำคัญคือเรามีผู้ต้องขังในสภาวะที่เกินความสามารถของเรือนจำจำนวน 143 แห่ง ซึ่งดูแลได้จริงไม่เกิน 150,000 คน” คุณยุทธนาชี้

ในจำนวนผู้ต้องขังที่ตัดสินแล้ว มีผู้ต้องโทษระหว่าง 1-5 ปี จำนวน 110,000 คน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่นานแสดงว่าโทษนั้นเกิดจากการกระทำความผิดที่ไม่รุนแรงนัก และกลุ่มหนึ่งเป็นคนเมาแล้วขับรถที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ

การกระทำผิดเกิดขึ้นและต้องได้รับการแก้ไข แต่การจับคนเข้าคุกไม่ใช่ทางออก

534696

ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน ให้ข้อคิดว่า “เราต้องมุ่งลดสถาบันที่กัก อย่าเอาคนไปไว้ในสถาบันที่ปิด เพราะจะทำให้เกิดวัฒนธรรมด้านลบ กระบวนการอาญาในปัจจุบันต้องมองแบบฟื้นฟู บำบัด แก้ไข ซึ่งเป็นการลงทุนที่ดีกว่ามาก เพราะการลงโทษแบบแค้น-กักขังนั้น สร้างเรือนจำเท่าไรก็ไม่พอ”

“ในประเทศไทยส่วนมากจะเป็นเรื่องยาเสพติด ซึ่งหลายกรณี คนติดยาเป็นผู้มีปัญหาด้านจิตใจ หากเรามองเชิงการแพทย์ เราก็ต้องหาวิธีช่วยให้เขามั่นใจในตนเอง และให้ครอบครัว ชุมชนมามีส่วนร่วมดูแล” ศ.กิตติคุณ วิทิต กล่าว “ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่และฝ่ายบริหารของรัฐก็พยายามปฏิรูปกฎหมายยาเสพติด เพื่อชำระคดีออกไปไม่มากก็น้อย”

สำหรับผู้กระทำความผิดและได้รับการตัดสินลงโทษแล้ว เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำก็ต้องได้รับการฟื้นฟูจิตใจเช่นกัน

399977

“สิ่งสำคัญที่เรือนจำพยายามถ่ายทอดให้ผู้ต้องขัง คือ การถูกจองจำไม่ได้ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลดลง ไม่ได้ทำให้ชีวิตที่เหลือล้มเหลวตลอดไป แต่เป็นบทเรียนสำคัญที่จะทำให้เขาแข็งแกร่งขึ้น” คุณยุทธนากล่าวพร้อมยกตัวอย่างเรือนจำจังหวัดอยุธยา ที่เน้นพัฒนาผู้ต้องขังด้านอาชีพ โดยมีการสอนการประกอบอาชีพต่างๆ มีการจัดลานสตรีทฟู้ด ทั้งขายก๋วยเตี๋ยว ซูชิ ขายของที่เกิดจากการฝึกวิชาชีพ และยังมีร้านกาแฟวังจันทร์ Cook&Coff ให้ผู้ต้องขังได้ฝึกอาชีพอีกด้วย นอกจากนี้ เรือนจำหลายแห่งก็ยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานเอกชน เครือข่ายทางสังคม ชุมชน กลุ่มศาสนา ฯลฯ เข้าไปเยี่ยมเยียน และทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาและช่วยเหลือผู้ต้องขังมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญเมื่อเดินออกจากเรือนจำก็คือ สายตาและการยอมรับของคนในสังคม

“ช่วง 3 ปีแรกที่พ้นโทษ รู้สึกอายมากเวลาต้องบอกคนอื่นว่าเป็นอดีตผู้ต้องขัง สัมผัสได้ถึงปฏิกิริยาของคน ผมรู้สึกว่าเริ่มถอยหลัง และคิดว่าถ้าคนในสังคมไม่ต้อนรับ ก็ต้องกลับไปหากลุ่มคนที่เข้าใจ ซึ่งก็คือเพื่อนกลุ่มเดิมๆ” คุณอัครินทร์สะท้อนความรู้สึกสิ้นหวังที่เคยมี กว่า 7 ปีแล้วที่คุณอัครินทร์พ้นโทษ และเริ่มชีวิตใหม่ด้วยการเป็นช่างทำกีตาร์แฮนเมด นอกจากนี้ เขายังอาสาเข้ามาให้กำลังใจผู้ต้องขัง ในฐานะแบบอย่างของผู้ที่กลับตัวได้ ปรับตัวได้ และประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิต

“ผู้พ้นโทษที่ประสบความสำเร็จเป็นผู้ที่เปลี่ยนกระบวนการทางความคิดแล้ว มองโลกในแง่บวก มีพลังในการทนแรงเสียดทาน ดูถูก ถ้ากระบวนความคิดไม่เปลี่ยน แม้จะเรียนรู้อาชีพเก่งแค่ไหน ก็ไม่มีทางเข้าสังคมได้ อีกทั้งต้องปลูกฝังค่านิยมว่า งานสุจริตมีคุณค่าด้วย” คุณอัครินทร์กล่าว

“คนทุกคนต้องการการยอมรับ ถ้าผู้ต้องขังทำอาชีพสุจริตแล้ว คนให้การยอมรับ เขาจะรู้สึกภาคภูมิใจและจะทำดีต่อไป อย่างผม มีวันนี้ได้เพราะมีหลายคนให้โอกาสและช่วยเหลือสนับสนุน ผมไม่ได้เรียกร้องให้คนในสังคมช่วยผู้ต้องขังทุกคน แต่ขอแค่ให้ช่วยคนที่พร้อมจะพิสูจน์ตนเอง”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook