งานวิจัยระบุเด็กทั่วโลกเป็น "โรคหอบหืด" มากขึ้นเพราะมลพิษทางอากาศ
รายงานขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า อาการหอบหืดในเด็กถือเป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดอย่างหนึ่งในเด็กเล็ก โดยเชื่อว่ามลพิษทางอากาศคือสาเหตุหลักของโรคนี้
รายงานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ว่า มลพิษทางอากาศนั้นคือสาเหตุสำคัญของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหอบหืดในเด็ก
คุณซูซาน แอนเนนเบิร์ก แห่งสถาบันด้านสาธารณสุขมิลเคน ของมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ในกรุงวอชิงตัน ระบุว่า งานวิจัยชิ้นล่าสุดแสดงให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศคือปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งด้านสิ่งแวดล้อม ที่อาจก่อให้เกิดโรคร้ายได้
องค์การอนามัยโลก ประเมินว่า แต่ละปีมีเด็กเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยสาเหตุที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศราย 3 ล้าน 7 แสนคนทั่วโลก
แต่รายงานชิ้นใหม่ของสถาบันด้านสาธารณสุขมิลเคน ชี้ชัดลงไปว่า สารไนโตรเจนไดออกไซด์ หรือ NO2 ที่มาจากท่อไอเสียรถยนต์ คือตัวการสำคัญที่เป็นต้นเหตุของโรคหอบหืดในเด็กทั่วโลก
คุณซูซาน แอนเนนเบิร์ก กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของเมืองใหญ่หลายเมืองทั่วโลก พบว่าราวครึ่งหนึ่งของเด็กที่เป็นโรคหอบหืดรายใหม่นั้น มีความเกี่ยวข้องกับระดับสารไนโตรเจนไดออกไซด์ในเมืองนั้นๆ
รายงานยังพบด้วยว่า เมืองที่พบเด็กป่วยเป็นโรคหอบหืดจำนวนมากนั้น มีปริมาณสาร NO2 อยู่ในระดับที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นระดับปลอดภัย
คุณพลอย พัทธนันท์ อัชชะกุลวิสุทธิ์ แห่งสถาบันด้านสาธารณสุขมิลเคน มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ชี้ว่า 90% ของโรคหอบหืดในเด็กที่เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากสารไนโตรเจนไดออกไซด์ อยู่ในพื้นที่ที่มีระดับสารดังกล่าวไม่เกิน 21 ส่วนต่อ 1,000 ล้านส่วน ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เป็นอันตรายตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก
รายงานวิจัยชิ้นนี้ยังพบด้วยว่า เมืองที่มีระดับ NO2 สูงที่สุดนั้น ส่วนใหญ่อยู่ใน 3 ประเทศ คือ จีน อินเดีย และสหรัฐฯ
นักวิจัยแนะนำว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการรับมือกับการเพิ่มขึ้นของโรคหอบหืดในเด็ก คือการใส่อุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องไปในบริเวณที่การจราจรติดขัด และช่วยกันรณรงค์ต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เช่น การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น