เปิดประวัติ "ปลื้ม สุรบถ" ลูกชายคนเดียวของ ชวน หลีกภัย
ต้องบอกเลยว่าเป็นลูกนักการเมืองที่หลายๆ คนรู้จักกันตั้งแต่เขาอายุยังน้อยเลยทีเดียว สำหรับ ปลื้ม สุรบถ หรือ ปลื้ม VRZO ลูกชายคนเดียวของ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ของประเทศไทยนั่นเอง
โดยในครั้งนี้ Sanook! Campus เราก็เลยจะพาเพื่อนๆ มาทำความรู้จักกับหนุ่มคนนี้ให้มากขึ้นกันซักหน่อย บอกได้เลยว่าประวัติหนุ่มหล่อคนนี้น่าสนใจไม่แพ้หน้าตาเลยจริงๆ
ประวัติปลื้ม สุรบถ หลีกภัย
- ปลื้ม มีชื่อจริงว่า สุรบถ หลีกภัย
- เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ที่จังหวัดเชียงใหม่
- เป็นลูกของ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ของไทย และภักดิพร สุจริตกุล โดยชื่อ "สุรบถ" นั้น แปลว่า ท้องฟ้า เป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องจากภักดิพร ผู้เป็นมารดาได้ขอพระราชทานจากพระองค์ท่านในฐานะที่ทรงเป็นสหายร่วมชั้นเรียนมาด้วยกันในโรงเรียนจิตรลดา
ประวัติด้านการศึกษา
ปลื้มจบการศึกษาชั้นอนุบาลจากโรงเรียนจิตรลดา และเรียนจบประถมศึกษาโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน และโรงเรียนพร้าววิทยาคม แถมสมัยเรียนเขายังได้เป็นประธานนักเรียน และตั้งวงดนตรี ชื่อ "วงหมากเหนือ" เป็นมือคีย์บอร์ดของวงอีกด้วย และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
บทบาททางการเมือง
ปลื้ม เป็นที่รู้จักของสังคมมาตั้งแต่ยังเล็ก เนื่องจากเป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยมักนิยมเรียกติดปากว่า "น้องปลื้ม" และเขามักจะถูกพูดถึงจากการที่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ในฐานะที่เป็นบุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับคำวิจารณ์ว่าเสนอความคิดเห็นได้เฉียบแหลม จนได้รับฉายาว่า "มีดโกนน้อย" คู่เคียงกับฉายา "มีดโกนอาบน้ำผึ้ง" ของนายชวน ผู้เป็นบิดานั่นเอง
นายสุรบถ หลีกภัย เคยช่วยบิดาหาเสียงให้แก่พรรคประชาธิปัตย์อย่างสม่ำเสมอ ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 กระทรวงวัฒนธรรม ได้แต่งตั้งให้นายสุรบถเป็นผู้ช่วยโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม
และในปี พ.ศ. 2562 สุรบถได้ถูกวางตัวเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในลำดับที่ 33 ซึ่งเขาไม่ได้รับการเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ สส. บัญชีรายชื่อเพียง 19 ที่นั่ง (ภายหลังเพิ่มเป็น 20 ที่นั่ง หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต 8 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2562) แต่ต่อมาหลังจากนายชวน ผู้เป็นบิดา ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร สุรบถก็ได้รับการวางตัวให้ปฏิบัติงานในทีมงานของประธานรัฐสภา โดยระยะแรกจะให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวก่อน
ในปี พ.ศ. 2566 หลังอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ และศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ยื่นใบลาออกจากการเป็น ส.ส. ส่งผลให้สุรบถได้เลื่อนลำดับบัญชีรายชื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรสมัยแรก และต่อมาในการเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน เขาลงสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรค ในลำดับที่ 20
อัลบั้มภาพ 34 ภาพ