กว่าจะเป็น "พานไหว้ครู" ต้องผ่านกระบวนการคิดอะไรบ้าง ผลงานพานไหว้ครูจากเด็ก มศว
การไหว้ครู เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวไทย เพราะครูเป็นคนที่ศิษย์ให้ความเคารพนับถือ เป็นผู้ถ่ายทอดสรรพวิชาความรู้ให้กับศิษย์ด้วยความรัก ความเมตตา และความปรารถนาดี ครู จึงเป็นบุคคลผู้ทำหน้าที่ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ เมื่อครั้งอดีต หนังสือ หรือสื่อการเรียนการสอนยังไม่มีแพร่หลาย ความรู้ที่ประชาชนจะได้รับ คือความรู้ที่มาจากบุคคลผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ซึ่งเราเรียกกันว่า "ครู"
ถึงแม้ในทุกวันนี้เทคโนโลยีต่างๆ จะมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น สื่อการเรียนการสอนมีอยู่แพร่หลาย แต่คนไทยก็ยังคงให้ความสำคัญกับครูด้วยเหตุผลที่ว่า ความรู้ที่มาจากการทอดโดยบุคคลเป็นความรู้ที่เป็นทักษะเฉพาะ เป็นสิ่งที่เกิดจากการสั่งสมความรู้ ประสบการณ์และการปฏิบัติจนเชี่ยวชาญที่อาจไม่สามารถถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือได้ ครูจึงเปรียบเสมือนพ่อและแม่คนที่ 2 ของศิษย์ ผู้ที่ประสบความสำเร็จได้เป็นเพราะมีแม่เป็นผู้ให้กำเนิด มีครูเป็นผู้ให้ความรู้ ความคิด สติปัญญา และชี้ทางสว่างให้กับชีวิต ประเพณีการไหว้ครูจึงยังสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน
กิจกรรมในวันไหว้ครู
กิจกรรมในวันไหว้ครูนั้นได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมในวันไหว้ครู เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ซึ่งรูปแบบการทำกิจกรรมที่ชัดเจนในปัจจุบัน คือ
- การไหว้ครูในสถานศึกษา ที่มีตั้งแต่ระดับอนุบาล ไปจนกระทั่งถึงระดับอุดมศึกษา
- มีพิธีทางศาสนา พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
- ต่อด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
- และการแข่งขันประกวดพานไหว้ครู โดยให้นักเรียนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และใช้ดอกไม้ที่สัญลักษณ์ของวันไหว้ครูมาประดับตกแต่งให้เกิดความสวยตามสมัยนิยม
ครูแห่งหล้า ราชินีแห่งราษฎร์
พานไหว้ครูคณะศิลปกรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑
ผลงาน ครูแห่งหล้า ราชินีแห่งราษฎร์ จากคำที่ว่าศิลปกรรมศาสตร์ เป็นแหล่งรวมศาสตร์แห่งศิลปะทุกแขนง ได้ใช้เทคนิคของงานช่างไม้ งานช่างฝีมือ งานช่างย้อม งานช่างเขียน งานช่างหล่อ และงานช่างปั้น รังสรรค์ออกมาเป็นผลงานศิลปะ พานไว้ครู สุดสร้างสรรค์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และงานหัตถกรรมของทางภาคเหนือ
โดยตัวพานทำจากไม้ ขึ้นรูปและขัดเกลาโครงไม้ให้เกิดเป็นรูปทรงสุ่มดอกของทางภาคเหนือ ซึ่งสุ่มดอกทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์บูชาครู
ส่วนประกอบภายในพานถูกบรรจงจัดด้วยดอกไม้ชนิดต่างๆ อย่างปราณีตและบรรจง เปรียบเสมือนจิตใจของนิสิตของคณะศิลปกรรมศาสตร์ทุกคน
ส่วนประกอบบางส่วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากผ้าไทยเช่น ผ้ามัดหมี่ พญานาค ที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยและความดี ที่อยากส่งให้ถึงผู้เป็นครู
และดอกไม้ที่ใช้ใจการจัดพาดก็คือสิ่งที่แสดงถึงความเคารพคุณของผู้เป็นครู
ดอกมะเขือ เป็นดอกที่โน้มต่ำลงมาเสมอ ไม่ได้เป็นดอกที่ชูขึ้น เหมือนศิษย์จะได้อ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมที่จะเรียนวิชาความรู้ต่างๆ นอกจากนี้มะเขือยังมีเมล็ดมาก ไปงอกงามได้ง่ายในทุกที่
หญ้าแพรก เป็นหญ้าที่เจริญงอกงาม แพร่กระจายพันธุ์ ไปได้อย่างรวดเร็วมาก หญ้าแพรกและดอกมะเขือในวันไหว้ครูจึงมีความหมายซ่อนเร้นอยู่ คนโบราณจึงถือเอาเป็นเคล็ดว่า ถ้าใช้หญ้าแพรกดอกมะเขือไหว้ครูแล้ว สติปัญญาของเด็กจะเจริญงอกงามเหมือนหญ้าแพรกและ ดอกมะเขือ
ดอกเข็ม เพราะดอกเข็มนั้นมีปลายแหลม สติปัญญาจะได้แหลมคมเหมือนดอกเข็ม และก็อาจเป็นได้ว่า เกสรดอกเข็มมีรสหวาน การใช้ดอกเข็มไหว้ครู วิชาความรู้จะให้ประโยชน์กับชีวิต ทำให้ชีวิตมีความสดชื่นเหมือนรสหวานของดอกเข็ม
ข้าวตอก เป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย แม้ว่าโดยธรรมชาติแล้วคนเรามักจะมีความซุกซน ความเกียจคร้าน เป็นสมบัติมากบ้าง น้อยบ้างก็ตาม เมื่อมีความต้องการศึกษาหาความรู้ เขาก็ต้องรู้จักควบคุมตนเองให้อยู่ในกรอบ ในระเบียบหรือในกฎเกณฑ์ที่สถาบันได้กำหนดไว้ ใครก็ตามหากตามใจตนเอง ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ บุคคลนั้นก็จะเป็นเหมือนข้าวเปลือกที่ถูกคั่ว แต่ไม่มีโอกาสได้เป็นข้าวตอก
พนมหมาก
พานไหว้ครู คณะศิลปกรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐
แรงบันดาลใจจาก พนมหมาก ถูกจัดขึ้นเพื่อบูชาสิ่งที่ควรได้รับการสักการะ เราจึงทำพานไหว้ครูในรูปทรงของพนมหมาก เพื่อบูชาครูที่ซึ่งควรสักการะ ครูที่ดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท
ในส่วนของพาน เราได้จำลองพานสุพรรณราชมาเป็นต้นแบบโดยใช้เกล็ดปลานิลในการสร้างลวดลายประดับตกแต่งด้วย ระย้าดอกไม้สด พู่กลิ่นและอุบะทรงเครื่องเพื่อให้เกิดความวิจิตรตามแบบศิลปะไทย เพื่อเป็นฐานที่เปรียบเสมือนรากฐานที่จะแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย
ส่วนกรวยครอบพาน ถูกปูพื้นด้วยเกล็ดปลานิลประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ประดิษฐ์ที่เราประดิษฐ์มาจาก ข้าวสาร ดอกเข็มดอกไม้บานไม่รู้โรย ซึ่งเราตั้งใจบรรจงรังสรรค์เพื่อสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของ “คณะศิลปกรรมศาสตร์” ที่พร้อมไปด้วยศาสตร์และศิลป์
เมื่อเปิดกรวยพานออกมาสิ่งที่อยู่ด้านในจะประกอบด้วย
ดิน ที่เปรียบเสมือนองค์ความรู้ที่พร้อมทั้งศาสตร์และศิลป์
ดอกบัวที่ผลิบานอยู่บนดิน หมายถึง นิสิตที่นำองค์ความรู้ไปสานต่อให้ได้เกิดประโยชน์
งานดอกไม้สด ธูปเทียน รวมถึงเครื่องสักการบูชาครู คือความตั้งใจ ของนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ที่ร่วมกันรังสรรค์พานไหว้ครู เพื่อที่จะให้พานทำหน้าที่บูชาครูอย่างสมบูรณ์ที่สุด ภายใต้หัวข้อ “ครุราชย์แห่งแผ่นดิน ปิ่นภูมิพล”
อัลบั้มภาพ 52 ภาพ