“กัญชา” หนทางรักษาที่ยังคงรอบทสรุป

“กัญชา” หนทางรักษาที่ยังคงรอบทสรุป

“กัญชา” หนทางรักษาที่ยังคงรอบทสรุป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คราบรอยยิ้มยังแต้มเติมตามใบหน้า สูบกัญชาหลอกหลอนจิตใจ ชั่วชีวิตคิดสั้นทำไม เส้นทางสุดท้าย นอนตายใต้ต้นกัญชา…

ท่อนจบของบทเพลง “กัญชา” ของวงคาราบาวเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วสะท้อนภาพจำและความรู้สึกของผู้คนได้เป็นอย่างดีว่า กัญชาคือสิ่งเสพติดให้โทษ แต่นั่นเป็นอดีตไปแล้ว หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษเพื่อปลดล็อคกัญชาให้ใช้ทางการแพทย์ได้ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา

ap_12050111686(2)

ข่าวการปลดล็อกกัญชาสร้างรอยยิ้มแห่งความหวังให้ผู้ป่วยและญาติที่เชื่อว่ากัญชาอาจเป็นทางรอดจากโรคร้ายนานา แม้แต่แอ๊ดคาราบาวก็ยังได้แต่งเพลงใหม่ขึ้นมาใน พ.ศ. นี้ ชื่อว่า “มหัศจรรย์กัญชา” อย่างไรก็ดี ประเด็นกัญชาในทางการเพทย์ก็ยังมีข้อถกเถียงมากมายที่ยังต้องหาข้อสรุป ทั้งประเด็นที่กัญชายังไม่ได้รับการยอมรับจากการแพทย์กระแสหลัก ผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้กัญชา รวมถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับการนำกัญชาไปใช้ผิดวิธีและวัตถุประสงค์

ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่า กัญชาสามารถใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ก็จริง แต่ไม่ใช่กระแสหลักในการรักษา โดยมากใช้สำหรับลดอาการในบางครั้งหรือใช้ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบันในบางกรณีเท่านั้น

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงเรื่องคือหลายคนคิดว่ากัญชาเอาไปใช้ได้กับทุกโรค แล้วก็เอาไปใช้กันเองจนทำให้เกิดอันตรายขึ้น“ ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร กล่าวเตือน ในงานจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 19 หัวข้อ “กัญชา เพื่อเยียวยาสุขภาพ?”

 399833

การใช้กัญชาอย่างปลอดภัยและเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ป่วยเป็นข้อห่วงใยที่หลายภาคส่วนในประเทศกำลังร่วมกันหาทางออก จุฬาฯ เองได้ดำเนินการวิจัยที่เป็น Research Roadmap เรื่องกัญชาร่วมกับสถาบันอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อศึกษาว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชานั้น เรื่องอะไรที่รู้ไปบ้างแล้ว และยังมีเรื่องอะไรที่ยังไม่รู้บ้าง รวมไปถึงเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสำหรับผู้ป่วย

นอกจากนั้น ยังมีโมเดลจุฬา-เดชา เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่จุฬาฯ โดยความร่วมมือของหลายคณะ ทั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และ อ.เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เพื่อศึกษาการใช้กัญชาในคน จากมุมมองของแพทย์แผนไทยเป็นหลัก เพื่อที่จะดูว่าทำอย่างไรที่จะให้คนไข้ใช้กัญชาได้อย่างปลอดภัยและถูกต้อง โดยทำงานร่วมกันในการหาหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะบอกว่า โรคอะไรใช้ได้ผลและโรคอะไรที่ใช้ไม่ได้ผล

ไม่เพียงว่ากัญชาใช้ได้ผลกับโรคใด แต่ยังต้องศึกษาลงไปถึงข้อบ่งใช้กัญชาเพื่อได้ผลเชิงการรักษาด้วย “ยกตัวอย่างเรื่องน้ำมันกัญชา สารประกอบที่อยู่ในน้ำมันกัญชาของแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นที่ต้องทำวิจัยเพี่อได้ข้อบ่งใช้กัญชาที่เป็นมาตรฐานด้วย” ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร กล่าว

 8-health-problems-that-cbd-ca

ท้ายที่สุด มิติของงานวิจัยที่จะขาดไม่ได้ในเรื่องเกี่ยวกับกัญชานั้นก็คือ การป้องกันการนำกัญชามาใช้ในทางผิดกฎหมายหรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กำลังทำการวิจัยอยู่โดยเน้นการวิจัยเชิงนโยบายที่จะประเมินผลกระทบของกฎระเบียบต่างๆ

“งานวิจัยนี้จะช่วยชี้นำสังคมได้ว่านโยบายการใช้กัญชาควรเป็นไปในทิศทางไหน และเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมได้ตามจำเป็น โดยตระหนักรู้ว่าเหตุผลและความเหมาะสมอยู่ตรงไหน” ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร กล่าวเน้นย้ำ

ถึงแม้ทุกวันนี้ ยังไม่มีข้อสรุปการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง แต่อีกไม่นานเมื่อการผลการวิจัยที่จุฬาฯ และสถาบันเครือข่ายอื่นๆ สำเร็จเป็นรูปธรรม ก็อาจจะเป็นแสงสว่างปลายทางอุโมงค์ให้กับผู้ป่วยที่หวังจะนำกัญชามาใช้รักษาโรคและบรรเทาความเจ็บป่วยต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook