15 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "สุนทรภู่" กวี 4 แผ่นดิน ของประเทศไทย
วันสุนทรภู่ หมายถึง วันคล้ายวันเกิดของพระสุนทรโวหาร(สุนทรภู่) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวัง ซึ่งมีผลงานด้านบทกลอนที่มีคุณค่าแก่แผ่นดินเป็นจำนวนมาก โดยวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น วันสุนทรภู่ โดยในโอกาสนี้ Sanook! Campus เลยอยากจะขอนำเสนอ 15 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ สุนทรภู่ ให้เพื่อนๆ ได้ศึกษาเกี่ยวกับ กวี 4 แผ่นดินคนนี้ให้มากขึ้น
15 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ สุนทรภู่
- พระสุนทรโวหาร มีนามเดิมว่า ภู่ เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่
- เกิดวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ที่เขตพระราชวังหลัง กรุงรัตนโกสินทร์
- ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2398 เขตพระราชวังเดิม กรุงรัตนโกสินทร์
- สุนทรภู่ ได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย
- สุนทรภู่เกิดหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี
- ในวัยเด็กสุนทรภู่ได้ร่ำเรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามในรัชกาลที่ 4 ว่า วัดศรีสุดาราม อยู่ริมคลองบางกอกน้อย)
- สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน ได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
- ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และ พระอภัยมณี
- เรื่อง พระอภัยมณี ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด
- ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม
- มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง
- วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น วันสุนทรภู่ ซึ่งเป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย
- สุนทรภู่มีบุตรชายสามคน คือพ่อพัด เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน พ่อตาบ เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และพ่อนิล เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อพ่อกลั่น และพ่อชุบ
- สุนทรภู่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก และตอกย้ำเรื่องการศึกษาในวรรณคดีหลายๆ เรื่อง เช่น ขุนแผนสอนพลายงามว่า "ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน" หรือที่พระฤๅษีสอนสุดสาครว่า "รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี" โดยที่สุนทรภู่เองก็เป็นผู้สนใจใฝ่ศึกษาหาความรู้ และมีความรู้กว้างขวางอย่างยิ่ง
- เมื่อพิจารณาจากผลงานต่างๆ ของสุนทรภู่ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนนิราศหรือกลอนนิยาย สุนทรภู่มักแทรกสุภาษิต คำพังเพย คำเปรียบเทียบต่างๆ ทำให้ทราบว่าสุนทรภู่นี้ได้อ่านหนังสือมามาก จนสามารถนำเรื่องราวต่างๆ ที่ตนทราบมาแทรกเข้าไปในผลงานได้อย่างแนบเนียน