เส้นทางนักเขียน "เนียรปาตี" อาจารย์พิสิทธิ์ ศรีประเสริฐ เจ้าของบทประพันธ์ กลิ่นกาสะลอง
ในตอนนี้คงไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินชื่อนวนิยายน่าติดตามที่ถูกนำมาสร้างเป็นละครอย่าง "กลิ่นกาสะลอง" โดย เนียรปาตี หรือ อาจารย์พิสิทธิ์ ศรีประเสริฐ กันอย่างแน่นอน ด้วยความที่ตัวนวนิยายมีความน่าติดตามและยังสอดแทรกความน่าสนใจของศิลปะและวัฒนธรรมของทางภาคเหนือได้อย่างลงตัว จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่นวนิยายเรื่องนี้จะได้รับความสนใจจนถูกนำมาดัดแปลงจนกลายเป็นละครน้ำดีที่โด่งดังและเป็นที่พูดถึงในตอนนี้
ซึ่งในครั้งนี้ Sanook! Campus เราก็ได้มีโอกาสที่ได้พูดคุยกับอาจารย์พิสิทธิ์ เจ้าของนามปากกา เนียรปาตี ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง "กลิ่นกาสะลอง" ที่กำลังโด่งดังจนถูกนำไปทำเป็นละครในตอนนี้ เราจึงใช้โอกาสนี้พูดคุยกับอาจารย์เรื่องแรงบันดาลใจของการเขียนและตัวตนของอาจารย์พิสิทธิ์ ผู้อยู่เบื้องหลัง เนียรปาตี เจ้าของนวนิยายกลิ่นกาสะลอง มาให้เพื่อนๆ รู้จักกับอีกมุมมองของอาจารย์ให้มากขึ้น
เนียรปาตี หรือ อาจารย์พิสิทธิ์ ศรีประเสริฐ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะการสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา และยังเป็นหัวหน้าแขนงวิชาการหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนทางด้านประวัติการศึกษา จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จากคณะการสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นั่นเอง
เส้นทางนักเขียน "เนียรปาตี" อาจารย์ พิสิทธิ์ ศรีประเสริฐ เจ้าของบทประพันธ์ กลิ่นกาสะลอง
จุดเริ่มต้นการเป็นนักเขียน ?
จุดเริ่มต้นในการเขียนนวนิยายก็คือ เราเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย วรรณคดี หรือหนังสือที่มีเนื้อหาความรู้ต่างๆ ที่น่าสนใจเราก็อ่าน แต่อยู่มาวันหนึ่งเราก็มีความรู้สึกว่าอยากจะลองเริ่มเขียนดูบ้าง แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มหัดเขียนมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2544 จนกระทั่งถึงประมาณปี 2548-2549 ตอนนั้นจำได้ว่ามีการประกวดรางวัลทมยันตี อวอร์ดส์ ครั้งที่ 1 ตอนนั้นเราก็ได้เขียนนวนิยาย 1 เรื่อง เพื่อส่งประกวดชิงรางว้ลนี้ และเราก็ ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 5 ของรางวัลทมยันตี อวอร์ดส์ ในปีนั้นครับ
ที่มาที่ไปของ กลิ่นกาสะลอง เห็นว่าตอนนั้นก็เขียนตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ?
กลิ่นกาสะลองเป็นเรื่องแรกที่เราเริ่มต้นเขียนก็จริง แต่ว่าไม่ใช่เรื่องแรกที่เขียนจบ เพราะเรื่องแรกที่เขียนจบคือ เรื่องแป้งร่ำสารภี อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นเพื่อส่งเข้าประกวดรางวัลทมยันตี อวอร์ดส์ด้วย ส่วนเรื่องกลิ่นกาสะลองก็คือหลังจากที่ประกวดรางวัลทมยันตี อวอร์ดส์แล้ว มันก็ทำให้เรามีกำลังใจและคิดว่า ถ้าหากเราสามารถเขียนนวนิยายจบเรื่องได้แบบนี้มันก็น่าจะมีเรื่องอื่นๆ ตามมาอีก ก็เลยไปนึกถึงเรื่องกลิ่นกาสะลองที่เราเขียนค้างไว้ จากนั้นก็เริ่มเขียนอีกครั้งจนจบเรื่องครับ ดังนั้นถ้าจะว่าไปแล้วกลิ่นกาสะลองก็คือนวนิยายเรื่องแรกที่เริ่มเขียน แต่เป็นนวนิยายรวมเล่ม เล่มที่ 3 ครับ
สำหรับเรื่องการแบ่งเวลาจริงๆ ตอนนั้นมันก็ 10 กว่าปีแล้วนะครับ ด้วยความที่เราเริ่มต้นเขียนสมัยยังเป็นนักศึกษา แต่พอเรียนจบแล้วและมาทำงานประจำด้านอื่นมันก็เลยจะมีเวลาว่างหลังเลิกงาน วันหยุด หรือช่วงไหนที่นึกอยากจะเขียนเราก็เขียน คือถ้าอารมณ์มันมาความรู้สึกมันได้เราก็เขียนครับ แต่ว่าด้วยความที่ในปัจจุบันเราได้งานประจำเป็นอาจารย์ก็เลยทำให้เวลาที่มีอยู่มันน้อยลง แต่ก็พยายามจัดสรรเวลาของตัวเองให้ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ หรือหนึ่งวันในสัปดาห์ให้เราได้เขียนนวนิยายสักตอนก็ยังดี
ความหมายของนามปากกา "เนียรปาตี" ?
จริงๆ นามปากกา เนียรปาตี นี้มาจากชื่อเพลงเก่าสมัยอยุธยา ซึ่งจัดอยู่ในชุดไหว้ครูโหมโรง แต่สำหรับความหมายเราเองก็ไม่แน่ใจหรอกว่าหมายความว่าอย่างไร เพราะนามปากกานี้เราได้มาจากการที่เราเขียนนวนิยายเรื่องแรกแป้งร่ำสารภี และด้วยความที่โครงเรื่องของแป้งร่ำสารภีเป็นเรื่องเกี่ยวกับวงดนตรีไทย รวมถึงจากการสืบค้นข้อมูลเรื่องวงดนตรีและเพลงเก่าเราก็บังเอิญไปเจอกับชื่อเพลงนี้เข้า จนรู้สึกว่ามันเป็นชื่อที่สะดุดใจและเป็นชื่อที่สวยไพเราะ จากนั้นจึงตัดสินใจหยิบชื่อนี้มาตั้งเป็นนามปากกาของตนเองครับ
พูดถึงคณะการสื่อสารมวลชน ?
คณะนี้ก็จะเหมือนกับทั้งวารสารศาสตร์และคณะนิเทศศาสตร์ คือเราจะสอนแบบครบรอบด้านทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับงานวารสารและนิเทศศาสตร์เลยครับ แต่ถามว่าคณะนี้เอื้อต่อการเขียนงานของเราไหม ก็มีส่วนครับเพราะการจะแต่งนิยายสักเรื่อง มันมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะในการสื่อสารด้วยตัวอักษร อีกทั้งเรายังสามารถใช้ความรู้ด้านการสื่อสารนี้มายกตัวอย่างให้กับนักศึกษาในคณะได้ด้วยเหมือนกัน
อะไรคือแรงบันดาลใจให้รักกันเขียน ?
อย่างที่บอกครับมันเริ่มจากการที่เราเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ ยิ่งถ้าเป็นคนอ่านนวนิยายด้วยแล้วจะสัมผัสได้เลยว่านักเขียนแต่ละท่านจะมีวิธีการเล่าเรื่องไม่เหมือนกัน ซึ่งพอเราได้มีโอกาสเริ่มเขียนงานเขียนของตัวเอง เราก็จะได้รู้ตัวเองด้วยว่าสิ่งที่เราเขียนไปแล้ว เมื่อเรามาอ่านทวนเราจะยังรู้เรื่องกับเนื้อหาที่เขียนหรือเปล่า มันเหมือนเป็นการฝึกตัวเองอย่างหนึ่งเพื่อตรวจสอบดูว่าวิธีการเรียบเรียงของเรานั้นเป็นไปได้อย่างที่ใจเราคิดไหม
ทั้งงานสอนและงานนวนิยายคือศาสตร์ในการถ่ายทอดทั้งคู่ นั่นใช่เหตุผลไหมที่เราตัดสินใจเป็นอาจารย์ ?
ใช่ครับ ด้วยความที่เราเป็นคนชอบเล่าอยู่แล้ว เวลามีเรื่องอะไรที่น่าสนใจเราก็จะเล่าให้เพื่อนฟัง หรือเล่าเพื่อยกตัวอย่างให้นักศึกษาฟัง จริงๆ มันอาจจะเป็นนิสัยโดยธรรมชาติของเราตั้งแต่แรกด้วยมั้ง เพราะตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมเพื่อนก็ชอบให้เราทำหน้าที่เป็นติวเตอร์ เราต้องบอกก่อนว่าเราไม่ใช่คนเรียนเก่งเพียงแต่เราเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์สอน เพื่อนจึงอยากให้เราช่วยอธิบาย ซึ่งช่วงแรกมันก็เป็นอะไรที่ยากนะครับสำหรับการเล่าหรือการถ่ายทอดเรื่องนั้นๆ แต่พอวันเวลาผ่านไปเราก็ได้เรียนรู้กับตัวเองว่าเราควรจะถ่ายทอดเรื่องราวนั้นอย่างไรให้คนฟังเข้าใจได้ง่ายที่สุด ทุกอย่างมันคือการฝึกฝนครับ
อย่างเช่นตอนที่เราเริ่มต้นเป็นอาจารย์ใหม่ๆ เรารู้สึกว่า เราใช้เวลาเยอะมากเลยในการอธิบายเนื้อหาให้นักศึกษาเข้าใจ แต่พอได้สอนไปสักระยะ รวมถึงได้เห็นตัวอย่างจากอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่เขามีประสบการณ์มากกว่า ก็ทำให้เราใช้เวลาในการสอนในการอธิบายน้อยลงครับ
นอกจากการสอนด้วยทฤษฎีแล้ว เรามีเทคนิคอื่นอีกไหมในการสอนนักศึกษา ?
อันดับแรกเลยก็คือเราต้องสร้างกำลังใจให้กับนักศึกษา สนับสนุนให้เขาเขียน เพราะนักศึกษาบางคนเขาอาจจะกลัวว่าสิ่งที่เขาเขียนนั้นมันอาจจะไม่ตรงตามหลักการ หรือบางคนก็กลัวว่าเขาจะเขียนออกมาไม่รู้เรื่อง ดังนั้นเราจึงค่อนข้างที่จะเน้นไปที่การให้กำลังใจนักศึกษา และพยายามบอกให้เขาเขียนสิ่งที่อยากจะเขียนออกมา เพราะถ้าเขาเขียนออกมาแล้วเราก็จะได้รู้ว่าจุดเด่นของคืออะไรและจุดด้อยคืออะไร
อีกเรื่องที่เรามักจะสอดแทรกให้กับนักศึกษาก็คือ เรื่องของคุณธรรมและจริยธรรม เพราะในปัจจุบันนี้มันอาจจะมีการละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น ตรงนี้เราก็จะบอกกับนักศึกษาค่อนข้างจริงจังว่า เราควรที่จะสร้างสรรค์งานของตัวเองดีกว่า เพราะสิ่งนั้นจะทำให้ตัวเรามีคุณค่ามากกว่าการนำเอาผลงานของผู้อื่นมาดัดแปลงและบอกว่าเป็นผลงานของเราเอง
ย้อนกลับมาที่กลิ่นกาสะลอง อะไรคือแรงบันดาลใจในงานเขียนชิ้นนี้ ?
ก็คือเราอยากจะบอกเล่าวัฒนธรรมทางภาคเหนือ เพราะวัฒนธรรมคือสิ่งที่มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เราก็เลยอยากที่จะบอกว่าวัฒนธรรมในอดีต รวมถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ผ่านนวนิยาย อันนี้ก็คือความตั้งใจอย่างแรก ส่วนอันดับต่อมาก็คือความประทับใจในการอ่านนวนิยายที่มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้ามภพข้ามชาติหรือรักข้ามภพ จากนั้นจึงนำทั้งสองอย่างมาผูกเค้าด้วยกัน และขอแถมอีกนิดหนึ่งก็คือ เราอยากที่จะสร้างตำนานรักของสาวเชียงใหม่กับหนุ่มต่างแดนด้วย
ด้วยความที่นวนิยายเรื่องกลิ่นกาสะลองมีความเกี่ยวข้องกับยุคล้านนา มันทำให้เราต้องใส่เนื้อหาหรืออะไรเข้าไปเป็นพิเศษไหม ?
อย่างที่บอกครับด้วยความที่เราอยากจะบอกเล่าประวัติศาสตร์ล้านนาในอดีต และเราก็เลือกช่วงเวลาของเรื่องให้เกิดขึ้นในปี 2467 ซึ่งตอนนั้นภูมิหลังของเชียงใหม่จะเป็นยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ คือมีชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่เยอะขึ้น มีทั้ง ฝรั่ง จีน แขก ฮินดู เข้ามาอยู่ร่วมกับคนพื้นเมือง เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น มันก็คือความขัดแย้งของคนที่อาจจะรู้สึกว่าแตกต่างกัน เรื่องของการช่วงชิงอำนาจและการสูญเสียอำนาจ รวมถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน ซึ่งตรงนี้คือข้อความหลักที่ผมอยากจะถ่ายทอด
อะไรคือหมัดเด็ดของกลิ่นกาสะลองที่ทำให้คนอ่านอยากติดตามเนื้อหาไปจนจบ ?
ถ้าหากเป็นในตัวนวนิยายผู้อ่านคงจะอยากติดตามว่าความรักของหมอและกาสะลองจะเป็นอย่างไร ซึ่งเสน่ห์ของการอ่านนวนิยายคือ เราจะค่อยๆ รู้ไปทีละเล็กทีละน้อยเกี่ยวกับตัวละครนั้นตัวละครนี้ และปมแต่ละปมมันจะคลี่คลายไปในทางไหน แต่พอเป็นเวอร์ชั่นละครเราก็อาจจะได้รู้จุดที่เป็นความลับอยู่บ้าง ซึ่งความน่าติดตามในเวอร์ชั่นละครนั้นก็คือการที่เขาดัดแปลงนวนิยายให้เป็นภาพ ฉะนั้นเราจึงต้องบอกก่อนว่าทั้งในเวอร์ชั่นนวนิยายและเวอร์ชั่นละคร มันก็จะมีความแตกต่างกันประมาณหนึ่ง
งานสอนกับงานเขียนเอื้อประโยชน์ให้กันอย่างไรบ้าง ?
ก็เอื้อได้เยอะเลยนะครับ เพราะการสอนหนังสือทุกวันนี้มันก็ทำให้เราได้เห็นธรรมชาติของนักศึกษา ได้เห็นพฤติกรรมของเยาวชนในยุคปัจจุบันทั้งในแง่ของการอ่านการรับสื่อ ทีนี้เวลาที่เราจะนำมันไปเอื้อกับงานเขียนได้ก็คือ พอเรารู้แล้วว่าผู้อ่านปัจจุบันเขามีธรรมชาติแบบนั้นแบบนี้ การที่เราจะเขียนเรื่องราวแบบที่ใส่รายละเอียดมากเกินไปคนอ่านก็อาจจะไม่ชอบ สรุปก็คือการสอนหนังสือทำให้เราได้มองเห็นกลุ่มผู้อ่านของเราว่าเขาเป็นคนลักษณะแบบไหน และเราก็นำมาใช้กับการเล่าเรื่องของเราว่าเราจะดำเนินเรื่องไปช้าเร็วแค่ไหนครับ
คำแนะนำสำหรับคนที่อยากจะเป็นนักเขียน ?
คำแนะนำก็อาจจะเหมือนกับนักเขียนหลายๆ ท่านก็คือต้องลงมือเขียน เพราะถ้าเราเขียนแล้วเราก็จะได้รู้ว่าเราสามารถไปต่อได้ไหม ไม่อยากให้กลัวจนไม่กล้าเขียน ซึ่งนี่คือสิ่งที่อันตรายมากสำหรับการเริ่มต้น เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้สึกว่าเราอยากเป็นนักเขียนและเราจะเป็นนักเขียนได้หรือไม่ ก็ต้องเริ่มเขียนลงมือเขียนโดยทันที เพื่อที่เราจะได้รู้ตัวเองว่าเราเหมาะสมกับเส้นทางสายนี้หรือเปล่า
อีกเรื่องหนึ่งที่เราได้มีโอกาสได้สังเกตเห็นก็คือ ปัจจุบันมันจะมีเว็บไซต์ที่ให้นักเขียนหน้าใหม่ได้นำเรื่องราวของตัวเองมาโพสต์ลงเป็นตอนๆ เพื่อให้คนอ่านได้ติดตาม แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายมากสำหรับนักเขียนหลายคนที่ไม่ได้เขียนเรื่องของตัวเองจนจบ อย่างบางคนก็เขียนแค่ตอนเปิดเรื่อง หรือบางคนก็มาเขียนแค่ 1-2 ตอนแล้วก็หายไป ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากครับ เพราะหลายๆ คนอาจจะอยากเป็นนักเขียน แต่ว่าไม่ได้มีวินัยในการสร้างผลงานให้มันต่อเนื่อง
ฝากผลงานของอาจารย์หน่อย นอกจากหนังสือทั้ง 6 เรื่องแล้ว ยังมีเล่มอื่นที่กำลังเขียนอยู่รึเปล่า ?
ตอนนี้ผลงานของอาจารย์ที่เคยรวมเล่มมาแล้ว ก็มีทั้งหมดอยู่ 6 เรื่องนะครับ แต่ที่ยังหาอ่านเป็นเล่มได้อยู่ก็คือเรื่องกลิ่นกาสะลอง ของสำนักพิมพ์แสงดาว ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 และจะมีการเพิ่มตอนพิเศษเข้าไปด้วย ส่วนเรื่องอื่นอาจจะตามหาตัวเล่มยากหน่อย แต่ถ้าจะให้ลำดับเรื่องในการเขียนทั้ง 6 เรื่องก็คือ แป้งร่ำสารภี หมอกพรางดาว กลิ่นกาสะลอง เวิ้งราตรี ฝากรักไว้ที่ปลายฝน และ เรือนไม้หอม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าไม่สามารถหาเป็นตัวเล่มได้และอยากจะอ่านก็สามารถโหลดเป็นเวอร์ชั่น Ebook ได้เช่นกัน ส่วนเรื่องที่อาจารย์กำลังเขียนอยู่ตอนนี้ก็มีอยู่ 2 เรื่องครับคือเรื่องฟลอร์เฟื่องฟ้า และเรื่องฉากเวลาครับ ซึ่งทั้งสองเรื่องก็น่าจะได้อ่านกันประมาณปีหน้าครับ
อัลบั้มภาพ 40 ภาพ