ประเพณีรับน้องที่สร้างสรรค์ได้ แต่ทำไมไม่ทำ

ประเพณีรับน้องที่สร้างสรรค์ได้ แต่ทำไมไม่ทำ

ประเพณีรับน้องที่สร้างสรรค์ได้ แต่ทำไมไม่ทำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กิจกรรมรับน้อง เป็นประเพณีที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน โดยผู้ทำกิจกรรมซึ่งเป็นรุ่นพี่ต่างมีความเชื่อว่าเป็นกิจกรรมสร้างความสามัคคีสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่เพิ่งเข้ามา ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมที่สืบเนื่องขนาบคู่กับการเปิดภาคเรียนใหม่ของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่

รูปแบบของกิจกรรมในแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นค่อนข้างใกล้เคียงกัน แตกต่างกันที่ความสร้างสรรค์และระดับความรุนแรงเท่านั้น ซึ่งทุกคนคงจะนึกภาพออก การร้องเล่นเต้นรำ การเข้าฐานผจญภัย ไปจนถึงการมีพี่ว๊าก พี่ระเบียบ เข้ามาเล่นละครตบตาวัดความสามัคคีของรุ่นน้อง หรือแม้กระทั่งการพาออกไปรับน้องนอกสถานที่

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากกิจกรรมรับน้องทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลที่ว่ากิจกรรมที่ควรสร้างสรรค์และสนุกสนานทำไมมักลงเอยด้วยเหตุการณ์โศกเศร้าสูญเสียได้บ่อยครั้ง เป็นเพราะอะไร?

อีกทั้งดูเหมือนไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ซ้ำยังหนักขึ้นทุกปี มีข่าวร้ายเกิดขึ้นเสมอ

ผลเสีย

ในรูปแบบของประเพณีการรับน้องในทุก ๆ สถาบันส่วนใหญ่มักเป็นการเชิญชวนแกมบังคับ จึงเป็นที่มาของเงื่อนไขบางอย่าง เช่น การไม่เข้าร่วมรับน้องจะไม่ได้รับสิทธิ์บางอย่าง การถูกสังคมส่วนรวมมองว่าแปลกแยก รุนแรงถึงถูกต่อว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ซึ่งเหล่านี้สามารถส่งผลถึงบรรยากาศการเรียนและใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยในระยะยาวได้ ด้วยเหตุผลที่จำเป็นบางประการที่ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ เช่น มหาวิทยาลัยกับที่พักอยู่ไกลต้องใช้เวลาเดินทาง มีธุระสำคัญ ซึ่งโดยส่วนใหญ่รุ่นพี่มักไม่ยอมรับเหตุผลเหล่านี้ด้วยซ้ำ แม้จะไม่ใช่กฎแต่เป็นเพียงประเพณีของกิจกรรมที่สืบต่อมาเท่านั้น

สองขั้วที่ขัดแย้ง

ในกรณีของประเพณีรับน้องแน่นอนว่าต้องมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการรับน้อง ซึ่งแต่ละขั้วต่างก็มีเหตุผลและความคิดที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง โดยมีการโต้เถียงกันบ่อยครั้งผ่านการแสดงความคิดเห็นบนสังคมออนไลน์ในช่วงฤดูรับน้องทุกปี

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรับน้องมีเหตุผลเป็นหลักว่า ด้วยรูปแบบสังคมในสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพไม่ควรมีการบังคับนักศึกษารุ่นน้องต้องเข้ารับการรับน้องทุกคนให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละบุคคล อีกทั้งควรมุ่งเน้นไปในทางสร้างสรรค์และสนุกสนานซึ่งจะเกิดประโยชน์โดยตรง และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงหรือเสี่ยงอันตรายโดยไม่จำเป็น

ฝ่ายที่ส่งเสริมก็ให้เหตุผลว่าในทุก ๆ กิจกรรมที่ทำ ทำขึ้นเพื่อสร้างเสริมความสามัคคีในหมู่คณะของนักศึกษาใหม่ จะทำให้รุ่นน้องรักกันมากขึ้นมีภูมิต้านทานในสังคม คำกล่าวที่ได้ยินกันมากที่สุดคือ “ชีวิตจริงตอนทำงานหนักยิ่งกว่านี้”

ซึ่งไม่สามารถวัดผลจริงจากเหตุผลที่ว่ามาได้อย่างกระจ่างชัดดังเช่น ความสามัคคีในหมู่คณะก็อาจเกิดจากปัจจัยอื่นได้เช่นกัน ไม่ใช่เพียงแค่การรับน้อง

สร้างสรรค์ทำได้

แต่ดูเหมือนยิ่งเวลาผ่านไปความห่ามและแปลกของประเพณีดูเหมือนจะเปลี่ยนไปในทางที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งกิจกรรมแปลก ๆ ที่ดูไม่สร้างสรรค์เท่าที่ควรดูไม่มีเหตุผลและไร้ซึ่งประโยชน์ ทั้งอาจทำร้ายร่างกายหรือจิตใจผู้ร่วมกิจกรรมทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ หลาย ๆ อย่างกลายเป็นประเพณีที่แพร่หลายมากขึ้น เช่น การรับส่งของผ่านปากซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ผ่านน้ำลาย หรือกิจกรรมที่สื่อไปในทางสัปดนหรือคุกคามทางเพศ ไปจนถึงการบังคับให้ทำในสิ่งที่เสี่ยงอันตรายและลงไม้ลงมือจบที่ความรุนแรง ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของผู้ร่วมกิจกรรม

ในความจริงนั้นการสืบทอดประเพณีการรับน้องดูเหมือนเพื่อสนองความสะใจของรุ่นพี่เสียมากกว่า ฉันเคยผ่านอะไรแบบนี้มาพวกเธอก็ต้องเจอบ้าง ประมาณนั้น ซึ่งหากปรับเปลี่ยนไปในทางที่สร้างสรรค์มากกว่าที่เป็นอยู่อาจส่งผลดีมากขึ้นก็เป็นได้ อาจเสริมกิจกรรมที่มีความสนุกทำให้อยากเข้าร่วม มากกว่าการบังคับและการว๊าก ไม่ใช้การบังคับขู่เข็ญหรือว่าร้ายต่อผู้ที่ไม่สนใจเข้าร่วม เพราะทุกคนต่างมีเหตุจำเป็นของตัวเอง เพียงแค่การปรับเปลี่ยนเล็กน้อยสามารถทำให้ภาพลักษณ์ของกิจกรรมดูดีขึ้นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook