ความเป็นพลเมืองโลกกับคนรุ่นใหม่

ความเป็นพลเมืองโลกกับคนรุ่นใหม่

ความเป็นพลเมืองโลกกับคนรุ่นใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในวัยเพียง 15 ปี Greta Thunberg หญิงสาวตัวเล็กๆ นั่งชูป้าย “โดดเรียนเพื่อโลก” ที่หน้ารัฐสภาสวีเดน เมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อนอย่างจริงจัง ภายใต้การรณรงค์ #FridaysForFuture ซึ่งจุดประกายให้เด็กนักเรียนกว่า 20,000 คน ใน 270 เมืองทั่วโลก ร่วมหยุดเรียนเพื่อประท้วงในวันศุกร์ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกเพื่ออนาคตของเด็กๆ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมใน ยุคนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกจำกัดไว้ภายใต้พรมแดนแห่งรัฐชาติ ข้อจำกัดด้านวัย เพศหรือระดับการศึกษาอีกต่อไป ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ที่ ไม่นิ่งดูดายกับประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลก และไม่คำนึงว่าปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นที่ส่วนไหนของโลก แต่ให้ความห่วงใยเพื่อนมนุษย์ประดุจผู้อาศัยร่วมหมู่บ้านโลกเดียวกัน
การมีสำนึกในความเป็นพลเมืองโลกร่วมกันจึงเป็นเรื่องสากล กล่าวคือ บุคคลมีความห่วงใยผู้อื่นและโลกอย่างจริงจัง มีความคิดยึดโยงกับประเด็นปัญหาต่างๆในระดับโลก หรือเข้าใจค่านิยมสากลต่างๆ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

“ในขณะที่พลเมืองของชาติหมายถึงการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ แต่การเป็นพลเมืองโลกนั้นหมายถึงจิตสำนึกร่วม ไม่ใช่เพียงการทำหน้าที่” ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาการที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

ผศ.อรรถพล ขยายความว่า เรื่องความลำบากของเพื่อนมนุษย์ เหมือนกันแต่เรามีความเมตตาสงสารแตกต่างกัน เช่น เวลาเราเห็นวิกฤติ ผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นในยุโรป คนไทยอาจจะรู้สึกว่าเราเห็นคุณค่าของชีวิตของผู้อพยพที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ในขณะกรณีโรฮิงญาซึ่งเป็นผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านเรา บางคนรู้สึกว่าเป็นภาระ ทำไมต้องช่วย เพราะอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต เป็นต้น

อคติเช่นนี้ไม่ใช่แนวทางการพัฒนาความเป็นพลเมืองโลกในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการศึกษาในศตวรรษที่ 21 มองคุณค่าการศึกษาว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างคุณค่าในชีวิต “การศึกษาควรกระตุ้นให้ทุกคนห่วงใยโลกของเรา รวมถึงเอาใจใส่เพื่อนร่วมโลกเช่นเดียวกัน การศึกษา จึงเป็นเครื่องมือในการเตรียมพร้อมเหล่าเยาวชนให้เติบโตอย่างมีสำนึกในความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นตั้งแต่ในระดับสังคม ประเทศชาติ ตลอดจนถึงค่านิยมในระดับสากล” ผศ.อรรถพล กล่าว

ผศ.อรรถพล เสนอว่าบัณฑิตจุฬาฯยุคใหม่ ไม่ควรจะมีเพียงความเชี่ยวชาญในวิชาชีพอย่างเดียวเท่านั้น แต่ควรจะเป็นผู้นำทางความคิดในเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ มีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับความแตกต่างหลากหลายจากความเป็นพหุสังคมในประเทศไทย ในจุฬาฯ เองก็อนุญาตให้นิสิตมีพื้นที่ในการแสดงออกด้านอัตลักษณ์ตามความเหมาะสม เช่น การแต่งกายตามเพศสภาพในวันรับพระราชทานปริญญาบัตร

“การที่จะปลูกจิตสำนีกความเป็นพลเมืองโลกสำหรับบัณฑิตจุฬาฯ ต้องอาศัยการเรียนรู้จากการอภิปรายพูดคุยและถกเถียงที่เชื่อมโยงองค์ความรู้ในชั้นเรียนกับเหตุการณ์ในสังคมโลก ผนวกกับการเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ในการใช้ชีวิตการทำงานร่วมกับผู้อื่น ต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในลักษณะนี้ให้เกิดขึ้น” ผศ.อรรถพล กล่าว
การเตรียมความพร้อมเด็กๆให้มีสำนึกในเรื่องการเป็นพลเมืองโลก อาจไม่ได้หมายถึงการเตรียมเด็กให้ท่องจำประวัติศาสตร์โลกได้อย่างแม่นยำ หรือมีความรู้รอบตัวกว้างขวางเสมอไป แต่อาจหมายถึงการสอนให้เยาวชนเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล ขยายผลไปยังการแสดงออกซึ่งความเป็นห่วงเป็นใยเพื่อนมนุษย์ตั้งแต่ในระดับสังคมเล็กๆ ใกล้ตัว ไปจนถึงระดับโลก และพร้อมที่จะปฏิบัติหรือริเริ่มสิ่งต่างๆ เพื่อสนับสนุนสิ่งที่ตนเองเชื่อมั่นว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาคมโลก

“ความได้เปรียบของจุฬาฯ คือเรามีนิสิตที่มาความหลากหลายจากจังหวัดต่างๆ จากคณะต่างๆ อีกทั้งยังมีหลักสูตรนานาชาติ มีนิสิตชาวต่างชาติมากมายในจุฬาฯ เป็นโอกาสอันดีที่นิสิตไทยจะได้เรียนร่วมกับนิสิตหลากหลายประเทศ ถือเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในการเรียนรู้ความแตกต่างของผู้คนที่มาจากต่างวัฒนธรรมได้เช่นกัน” ผศ.อรรถพล กล่าว

ผศ.อรรถพล เสริมว่า นิสิตที่มีต้นทุนต่างกันจะได้เรียนร่วมกัน รู้จักการเกื้อกูล แบ่งปันและเอื้ออาทรต่อกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้นเป็นแนวทางง่ายๆ ในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์การเป็นพลเมืองโลกที่ดีในจิตใจของนิสิต จุฬาฯ รุ่นใหม่ และสักวันหนึ่งหากเราปลูกฝังจิตสำนึกอย่างถูกวิธี อาจจะเห็นเด็กไทยลุกขึ้นมาเป็นผู้นำประเด็นการรณรงค์เพื่อสังคมในระดับโลกเช่นเดียวกับ Greta Thunberg ก็เป็นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook