สานพลังชาวจุฬาฯ บูรณาการข้ามศาสตร์ รองรับสังคมสูงวัย

สานพลังชาวจุฬาฯ บูรณาการข้ามศาสตร์ รองรับสังคมสูงวัย

สานพลังชาวจุฬาฯ บูรณาการข้ามศาสตร์ รองรับสังคมสูงวัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เด็กเกิดน้อย ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น วัยแรงงานลดลง” เป็นปัญหาทางประชากรซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยที่ก้าวสู่ “สังคมสูงวัย” อยู่ในขณะนี้ การเผชิญความเสี่ยงสูงทั้งในเรื่องความมั่นคงทางรายได้ การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ฯลฯ นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นหากขาดการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหานี้ ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในหลายภาคส่วน

dsc_8840

โครงการจุฬาอารี (Chula Ari : Chulalongkorn University Platform for Aging Research Innovation) โครงการบูรณาการสหศาสตร์เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาวิชาการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ช่วงที่ 2 โครงการนี้เป็นความร่วมมือของ 12 หน่วยงานในจุฬาฯ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะจิตวิทยา คณะสหเวชศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยประสานงาน มีคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิตที่เข้าร่วมโครงการกว่า 70 คน “โครงการจุฬาอารี มุ่งทำงานเชิงรุกเพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย สร้างงานวิจัยที่มีผลต่อนโยบายของประเทศในรูปของการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3 และการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่เพื่อพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้ที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต” ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการจุฬาอารี กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้

dsc_8944

คณาจารย์ นักวิจัย และนิสิต ภายใต้โครงการ จุฬาอารีได้ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีในการดำเนินงานที่ผ่านมาผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญได้ร่วมผลักดันเรื่องสังคมสูงวัยให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ประเด็นนี้ได้รับความสนใจและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยทุกรัฐบาล มีการจัดประชุมระดมความคิดจากกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้สูงอายุ เยาวชนและวัยแรงงานที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ผู้นำชุมชน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันมองอนาคตของประเทศไทยและให้ข้อคิดเพื่อใช้เป็นแนวทางจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งจะเป็นแผนระยะยาวที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

ในการวิจัยเชิงพื้นที่ มุ่งพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยในกรุงเทพมหานคร โดยการทำงานอย่างสอดประสานกันของ 5 กลุ่มพันธกิจ

  • กลุ่มพันธกิจด้านสังคมและระชากร มี ผศ.ดร.รักชนก คชานุบาล เป็นหัวหน้ากลุ่มพันธกิจ ทำหน้าที่หลักในการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลของผู้สูงอายุ ครอบครัว ประชากรวัยแรงงาน ตลอดจนชุมชน ทั้งในมิติประชากร เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงสภาพปัญหา ความต้องการ และบริบทของชุมชนที่เป็นพื้นที่ตัวอย่าง ได้แก่ ชุมชนวังทองหลาง ชุมชนสามแพร่ง (แพร่งภูธร แพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์) ชุมชนภาษีเจริญ และชุมชนแฟลตดินแดง มีการพัฒนาแอปพลิเคชันเก็บข้อมูลผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ ทดแทนการสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถาม ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลทำได้สะดวก รวดเร็ว มีระบบฐานข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบ GIS สามารถใช้ระบุปัญหาของแต่ละพื้นที่ได้อย่างชัดเจน โดยมีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสังคมสูงวัยเพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะผ่านเว็บไซต์โครงการจุฬาอารี
  • กลุ่มพันธกิจด้านสุขภาพ เป็นการรวมพลังทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งสุขภาพกาย สุขภาพฟัน สุขภาพจิต นำโดย รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาระบบส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพ เน้นตั้งแต่การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้แก่ประชากรวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน และวัยสูงอายุ การดูแล บำบัดรักษาและฟื้นฟูสุขภาพ เน้นการพัฒนาพลังชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุผ่านชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ การพัฒนาศักยภาพผู้ดูแล ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขในพื้นที่ ผู้ดูแลที่เป็นอาสาสมัคร และผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกในครอบครัว ด้วยวิธีการดูแลที่ใช้ทักษะขั้นสูงเพื่อให้สามารถรองรับภาวะเจ็บป่วยที่ซับซ้อนขึ้น เช่น โรคอัลไซเมอร์ หรือกลุ่มที่มีความผิดปกติในการเคลื่อนไหว รวมทั้งนำวิธี ที่เน้นการดูแลผู้สูงอายุด้วยหัวใจ ด้วยความเคารพและคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หรือ Humanitudeเข้ามาใช้
  • กลุ่มพันธกิจด้านเศรษฐกิจ เน้นการส่งเสริมการออมและเพิ่มพูนทักษะทางด้านการเงินให้แก่ประชากรวัยทำงานและผู้สูงอายุ มี ผศ.ดร.ปัทพร สุคนธมาน เป็นหัวหน้ากลุ่มพันธกิจ ปัจจุบันกำลังพัฒนารูปแบบการให้ความรู้แก่คนในวัยทำงานที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ พัฒนา Social Media เพื่อให้ความรู้ในวงกว้างแก่สาธารณชนในเรื่องของการออมและการจัดการการเงิน นอกจากนี้ยังสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลส่งเสริมอาชีพและสร้างหลักประกันทางรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชน
  • กลุ่มพันธกิจด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ มี รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ เป็นหัวหน้ากลุ่มพันธกิจ มุ่งพัฒนาระบบกายภาพตามแนวทาง “เมืองที่เป็นมิตรกับคนทุกวัย” (Age-friendly City) ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งไม่ได้เน้นเพียงแค่พัฒนาระบบรองรับทางกายภาพเท่านั้น แต่เน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนและการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ดีที่จะรองรับความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ โดยมีการออกแบบเพื่อพัฒนาต้นแบบบ้านพักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ สถานที่สาธารณะ และบริการสาธารณะเพื่อรองรับการทำกิจวัตรผู้สูงอายุ การออกแบบ ปรับปรุงสภาพบ้านที่คำนึงถึงความต้องการของผู้สูงอายุ เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดเลือกบ้านที่จะให้การช่วยเหลือและการสร้างทีมช่างชุมชนซึ่งจะเป็นกลไกที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืนในการดำเนินการต่อไป
  • กลุ่มพันธกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำทีมโดย รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ และ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูโรจน์ เป็นการนำนวัตกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพมาใช้ในผู้สูงอายุ ได้แก่ ชุดความรู้ด้านการดูแลสุขภาพช่องปากผ่าน Social Media คอมพิวเตอร์เกมเพิ่มสมรรถนะสมอง ป้องกันภาวะสมองเสื่อม นวัตกรรมด้านการฟื้นฟูสุขภาพ เช่น หุ่นยนต์ฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อแขนขา หุ่นยนต์ช่วยดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งทำหน้าที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้สูงอายุ ในลักษณะ Telemedicine สามารถตรวจเช็คความดันคลื่นหัวใจ สามารถติดต่อผู้ป่วยและปรึกษากับแพทย์โดยมีหุ่นยนต์เป็นสื่อกลาง ในยามฉุกเฉินสามารถส่งสัญญาณผ่านมือถือต่อตรงถึงญาติหรือทีมแพทย์ และยังมีฟังก์ชันอื่นๆ เช่น การเตือนให้ผู้ป่วยทานยา โปรแกรมให้ ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ รวมทั้งเกมต่างๆ ให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการนำหุ่นยนต์เหล่านี้ไปใช้ในศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาล และตามบ้านผู้ป่วยในชุมชน

dsc_8936

“โครงการจุฬาอารีได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครในการนำระบบที่ได้พัฒนาขึ้นไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯสอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุและสมาชิกในชุมชน เพื่อให้เกิดระบบที่ชุมชนมีส่วนร่วมและสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน” ศ.ดร.วิพรรณ กล่าว

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและกิจกรรมของโครงการจุฬาอารีได้ทางเว็บไซต์ www.chulaari.chula.ac.th หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ โทร. 0-2218-7342

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook