ข้อมูลส่วนตัวกับความปลอดภัย ความเสี่ยงใหม่ในยุคดิจิทัล

ข้อมูลส่วนตัวกับความปลอดภัย ความเสี่ยงใหม่ในยุคดิจิทัล

ข้อมูลส่วนตัวกับความปลอดภัย ความเสี่ยงใหม่ในยุคดิจิทัล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างถูกจัดเป็นระบบการใช้งานแบบดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าด้วยกิจกรรมอะไรก็ตามเรามีความสะดวกสบายกว่าในอดีตอยู่หลายขุมทั้งการติดต่อสื่อสาร ตามกระแสสังคม รวมถึงธุรกรรมสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะกับการเงิน และแน่นอน ว่าโลกในยุคดิจิทัลถึงแม้ผู้คนจะได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นตามมาก็คือความเสี่ยงเช่นกัน

โดยสิ่งที่ควรเป็นไปในเวลานี้คือการตระหนักรู้เท่าทันความเสี่ยงใหม่ที่สามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่ออยู่ที่ว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น ทั้งการโจรกรรม การรังแกกลั่นแกล้ง หรือยุ่มย่ามกับข้อมูลส่วนบุคคลที่เราฝากฝังไว้กับออนไลน์

รู้ไว้ใช่ว่า

พื้นฐานอย่างหนึ่งที่เราจำเป็นต้องรู้และทำความเข้าใจก็คือ บนโลกออนไลน์ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว เพราะจริงอยู่ที่คุณบันทึกข้อความหรือข้อมูลต่าง ๆ ลงไปบนแอคเคาท์ส่วนบุคคลที่ถือรหัสโดยตัวคุณเอง แต่โปรดพึงระลึกไว้ว่าทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ตคือพื้นที่ที่ไม่ว่าใครก็มีโอกาส(ไม่ใช่สิทธิ์)เข้าถึงได้ทั้งนั้น แม้ไม่ได้ยินยอมให้สิทธิ์ก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีการเคลื่อนไหวผ่านระบบดิจิทัล สามารถมีโอกาสถูกล้วงลับได้เสมอ ไม่มีอะไรที่จะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์

รอบคอบในการป้องกัน

คุณไม่มีทางรู้ล่วงหน้าหรอกว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับคุณและข้อมูลส่วนตัวของคุณบ้าง ประการแรกสิ่งที่ผู้คนมักไม่คิดคำนึงถึงก็คือ การใช้รหัสผ่านส่วนตัว โดยหลายคนอาจไม่คิดว่าเรื่องร้าย ๆ จะเกิดกับตนเองจึงตั้งรหัสผ่านแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น 123456, password, qwerty เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้คือรหัสผ่านที่ติดอันดับคนใช้มากที่สุดในโลก

หรือแม้กระทั่งการตั้งรหัสผ่านตาม ชื่อ-นามสกุล หรือวันเดือนปีเกิด ที่แค่เพียงรู้ข้อมูลส่วนตัวของคุณแค่เล็กน้อยก็สามารถเดาได้ไม่ยาก เรื่องเหล่านี้ควรระวังตัวกันให้ดีขึ้น ใส่ใจกับการตั้งรหัสของคุณเองเพราะถึงแม้จะใช้ไม่บ่อยครั้งแต่หากมีคนล่วงรู้ก็อาจถึงคราวซวยได้เช่นกัน

อีกหนึ่งความปลอดภัยเกี่ยวกับรหัสผ่านที่เริ่มใช้กันมากขึ้นในตอนนี้คือ การตั้งแบบ 2 ขั้น ซึ่งนอกจากจะเพียงใส่รหัสแล้วยังมีข้อความหรือ E-mail มายืนยันคุณอีกด้วยว่าใช่คุณจริง ๆ หรือไม่

รูปแบบกลโกงที่แนบเนียน

phishing-3390518_960_720

มิจฉาชีพดิจิทัล เป็นอีกหนึ่งความน่ากังวลที่ควรระวังมากในปัจจุบัน ซึ่งมีการคิดและวางแผนเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวคุณและทรัพย์สินได้อย่างแยบยลและแนบเนียนอย่างไม่น่าเชื่อ

การโกงนั้นมีหลายระดับ เช่น

  • การหลอกขายของ อาจโกงโดยการไม่ส่งของให้หลังชำระเงิน หรือของที่ได้ก็ไม่มีคุณภาพเหมือนที่เห็นตอนสั่ง
  • การปลอมแปลงเป็นบุคคลที่เรารู้จัก แล้วทักมาขอยืมเงินโดยอ้างเรื่องเร่งด่วน ซึ่งรูปแบบนี้อาจป้องกันได้ด้วยการลองสอบถามสิ่งที่มีแค่คุณกับเจ้าของตัวจริงรู้กันแค่สองคน โทรถามเจ้าตัวเป็นการยืนยัน หรือตัดปัญหาโดยการไม่ให้ใครยืมเงินเลยก็ย่อมได้
  • การหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว โดยการส่งลิงก์เว็บไซต์ปลอมที่คอยคัดลอกข้อมูลทุกอย่างที่เราใส่ไป เช่น ชื่อ-นามสกุล หรือข้อมูลทางการเงินอย่างรหัสบัตรเครดิต
  • การปล่อยมัลแวร์ดึงข้อมูล คล้ายกับข้อก่อนหน้านี้ คือการปรากฏของป๊อปอัพต่าง ๆ ให้เราเผลอกด รวมถึงลิงก์แปลกปลอมที่สร้างขึ้น เพื่อแพร่มัลแวร์สู่อุปกรณ์ของเรา โดยอาจนำไปถึงการดึงข้อมูลที่เรามีในอุปกรณ์ส่วนตัวของเราได้อีกด้วย

เราสามารถป้องกันกลโกงเหล่านี้ได้ด้วยการสังเกตความแปลกปลอม หรือไม่กดรับอะไรก็ตามที่ดูแปลกหูแปลกตาไม่น่าไว้ใจ รวมถึงคอยตักเตือนผู้ใช้งานคนอื่น ๆ เพื่อหยุดการหลอกลวงได้อีกทาง

รอยเท้าดิจิทัล

map-525349_960_720

หรือ Digital Footprint คือร่องรอยหรือข้อมูลที่เราทิ้งไว้เมื่อท่องอินเทอร์เน็ต ทั้งประวัติการเข้าชมไซต์ต่าง ๆ ข้อมูลความเห็น การโพสต์บนสังคมออนไลน์ กล่าวคือการกระทำทุกอย่างของเราบนโลกอินเทอร์เน็ตล้วนทิ้งร่องรอยไว้ได้หมด ซึ่งในความหมายของรอยเท้าดิจิทัลนี้ สามารถแบ่งได้สองประเภท คือ

  • รอยเท้าดิจิทัลที่เกิดโดยไม่เจตนา (Passive Digital Footprint) คือการบันทึกข้อมูลการใช้งานแบบไม่ตั้งใจ เช่น ข้อมูลประวัติการเข้าเว็บไซต์ และ ประวัติการค้นหาผ่านทางออนไลน์
  • รอยเท้าดิจิทัลที่เกิดโดยเจตนา (Active Digital Footprint) คือข้อมูลที่ผู้ใช้อย่างเราจงใจบันทึกลงไปในโลกออนไลน์ เช่น โซเชียลมีเดีย การโพสต์แสดงความคิดเห็น การโพสต์รูป เช็กอินสถานที่ ข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำลงไปบนระบบออนไลน์

โดยในปัจจุบันสามารถบอกได้เต็มคำเลยว่าความเป็นส่วนตัวนั้นเบาบางลงมากเพราะการใช้สื่อออนไลน์เป็นหลัก ทำให้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เราใช้ หรือแม้กระทั่งคนในโลกออนไลน์ยังสามารถรู้จักตัวเราได้มากกว่าคนใกล้ชิดของเราเสียอีก

อีกทั้งรอยเท้าที่เราทิ้งไว้เกลื่อนกลาดเหล่านั้นยังสามารถกลับมาทำร้ายเราในภายหลังได้อีกด้วย มีตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนอย่างเรื่องประเด็นทางการเมืองกับนักร้อง ดารา บุคคลมีชื่อเสียงในสังคม ที่ถูกขุดคุ้ยคำพูดที่เคยโพสต์ไว้ในอดีตขึ้นมาโจมตีกันในตอนนี้ เกิดเป็นอีกหนึ่งปัญหาของสังคมที่ไม่ใช่เพียงแต่เดือดร้อนแค่ผู้ถูกโจมตีเท่านั้น แต่ดูเหมือนเป็นการเติมเชื้อเพลิงความระอุให้กับความเกลียดชังของผู้คนในสังคมอีกด้วย

อย่างที่กล่าวในข้างต้นคือ ตอนนี้ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเชื่อมถึงกันได้ไวกว่าพริบตา และไม่มีอะไรที่เป็นส่วนตัวอย่างแท้จริงบนโลกออนไลน์ เพราะฉะนั้นการไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อนจะบันทึกอะไรลงไปในโลกออนไลน์ เพราะหากเกิดเป็นประเด็นขึ้นมารับรองว่าสิ่งนั้นไม่มีทางหายไปแน่นอนแม้ตัวเราเองจะลบมันไปแล้วก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook