บรรยากาศที่เปลี่ยนไปของร้านหนังสือ ในวันที่นิยายวายบุกตลาด
ทำไมเราเห็นนิยายวายในร้านหนังสือเยอะขึ้น ? มันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดมาก ๆ จนน่าสนใจ
ก่อนอื่นต้องเกริ่นก่อนว่านิยายวาย คือนิยายที่มีเนื้อหาความรักของเพศเดียวกัน (ทั้งชายรักชาย และหญิงรักหญิง) ซึ่งเดิมทีเป็นนิยายที่มีกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างแคบ ตั้งแต่ยุคแรกที่เริ่มแต่งนิยายวายจากตัวละครในการ์ตูนญี่ปุ่น หรือแต่งจากดารานักร้องเกาหลี ญี่ปุ่น นำตัวละครจากภาพยนตร์ดัง ๆ ที่ตัวเองชอบมาแต่งลงเว็ปออนไลน์ มีทั้งเว็ปเปิดที่ใคร ๆ ก็เข้าไปอ่านได้ จนถึงเว็ปบอร์ดที่ต้องตอบคำถามเพื่อสมัครเป็นสมาชิก แต่ก็อยู่กันแบบสงบเสงี่ยมเจียมตัว นักเขียนส่วนใหญ่ก็รวมเล่มขายกันเอง ไม่ได้มีสำนักพิมพ์มาซัพพอร์ทเยอะขนาดนี้ ไม่ได้แมสเหมือนทุกวันนี้
มาจนถึงยุคที่นิยายวายสามารถวางขายบนร้านหนังสือและกินพื้นที่ไปได้หลายชั้น จนถึงกับมีคนถ่ายรูปส่งมาให้ดูว่าเดี๋ยวนี้นิยายวายกินพื้นที่ไป 3 คูหาแล้วนะ! จนหลายคนที่เคยผ่านยุคที่ต้องแอบ ๆ ไปถามไปซื้อเอากับร้านหนังสือถึงกับไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง
เราเลยรู้สึกว่าไหน ๆ มันก็กำลังจะแมสแล้ว เลยหาเรื่องเกี่ยวกับนิยายวายมาเล่าแบบสนุก ๆ เผื่อหลายคนอยากจะไปหาอ่านกันบ้าง
นิยายวายไม่ใช่นิยายขายเรื่องอย่างว่า
ไม่แปลกนะที่คนจะคิดแบบนี้ เพราะบางทีลองเดินเข้าไปในร้านหนังสือ โซนนิยายวาย เจอชื่อหนังสือพร้อมรูปหน้าปกเข้าไปยังรู้สึกขัด ๆ เขิน ๆ บางเรื่องก็ดูสื่อออกไปในเชิงเรื่องเพศ แต่ความจริงแล้วนิยายวายกว้างกว่าที่เราคิด จนเรียกได้ว่าไร้ขอบเขต ไม่ว่าจะพล็อตรักทั่วไป มัธยม มหาวิทยาลัย จนวัยทำงาน ผี สยองขวัญ สืบสวน ตลก การเมือง จีนโบราณ จีนกำลังภายใน แฟนตาซี กลับชาติมาเกิด จนถึงดิสโทเปีย ซึ่งบางเรื่องทำให้เรื่องรักกลายเป็นจุดรองไปเลย เพราะให้อะไรเรามากกว่านั้น
เหมือนเป็นพื้นที่เปิดจินตนาการของนักเขียน มีอะไรก็ใส่ลงไป มีนิยายวายบางเรื่องที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเวลามีอาหารติดในหลอดลม แถมยังเล่าบรรยากาศของหมอห้องฉุกเฉินแบบเรียลซะจนสงสารหมอ [ทริอาช : Sammon_scene] หรือบางเรื่องเอาประวัติศาสตร์เหตุบ้านการเมืองในอดีตมาปรับให้เป็นดิสโทเปียและเล่าเรื่องการปฏิวัติจนคนอ่านต้องซี๊ดปากไปด้วยเพราะกลัวโดนอุ้ม (ฮา)
นิยายวายเป็นอะไรที่พล็อตฮิตเป็นช่วง ๆ
จะว่าเรียกกระแสก็ไม่ใช่ แต่มันคือสิ่งใหม่ ๆ ที่มาเป็นช่วง ๆ พอเริ่มมีคนเปิดพล็อตแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครแต่งก็เหมือนเป็นการเปิดโลกใหม่ นักเขียนที่มีไอเดียคิดพล็อตออกก็แต่งไปตามสิ่งนั้น
อย่างมีช่วงหนึ่งที่นิยมแต่งนิยายเกี่ยวกับมาเฟีย เราก็จะเห็นเรื่องมาเฟียเยอะมาก ถัดมาเป็นยุคหมอ-วิศวะ ยุคตายแล้วไปเข้าร่างคนอื่น ยุคแฟนตาซี ยุคดิสโทเปีย นักอ่านก็จะฮิตเป็นช่วง ๆ ด้วยเหมือนกัน เพราะการได้อ่านอะไรใหม่ ๆ ก็เป็นเรื่องน่าสนุก เหมือนได้ค้นพบโลกจินตนาการใหม่ไม่สิ้นสุด งานนี้ขึ้นอยู่กับกึ๋นและวิธีเล่าเรื่องของนักเขียนแล้วว่าจะทำให้แตกต่างได้ยังไง
นิยายวายเป็นคอนเท้นท์ที่ World Wide ไร้ขอบเขต และการช่วยดึงกันของซีรีส์-นิยาย
ถ้าช่วงไหนเป็นช่วงที่กำลังมีซีรีส์วายที่ทำมาจากนิยายวายกำลังฉายอยู่ นิยายวายเรื่องนั้นก็จะขึ้นเป็นสินค้าขายดีและสินค้าแนะนำของร้านหนังสือแทบทุกสาขา แถมไม่ใช่เฉพาะซีรีส์จากไทย ไม่ว่าจะเป็น Call Me By Your Name หนังรางวัลเมื่อปี 2017 / Love, Simon หนังจากค่ายยักษ์เมื่อปี 2018 / Heroin – Are You Addicted? หนังสือต้นฉบับซีรีส์วายจากจีนที่เป็นกระแสมาก ๆ ในช่วงหนึ่งเมื่อปี 2016 ก็ถูกร้านหนังสือซื้อลิขสิทธิ์มาแปลไทย / Guardian เว็ปซีรีส์จากจีนที่ดัดแปลงมาจากนิยายวายในปลายปี 2018 หรือตอนนี้ที่กำลังตามหากันทั่วบ้านทั่วเมือง / The Untamed ปรมาจารย์ลัทธิมาร ซีรีส์กำลังภายในจากจีนที่ดัดแปลงจากนิยายวายที่กำลังออนแอร์ ล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าขายดีในร้านหนังสือตลอด
แถมเรื่องอื่นที่ไม่ได้ถูกนำมาเป็นซีรีส์ก็ยังคงมีให้เห็นทั่วไปตามร้านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่งตะวันตกหรือเอเชีย
เราเลยรวบรวมเหตุผลที่พอจะนึกออกเกี่ยวกับประเด็นว่า ทำไมนิยายวายถึงถูกวางขายเยอะขึ้นมาก ๆ ในร้านหนังสือชั้นนำ จนแทบจะเยอะที่สุดในร้านไปแล้ว? เวลาเข้าร้านหนังสือลองไปเดินสังเกตกันดูนะ
เป็นการช่วยกันฉุดช่วยกันพยุงของร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ นักเขียน
ในยุคที่หนังสือกำลังจะหายไป ร้านหนังสือมีรายได้น้อยลง หลายสำนักพิมพ์ต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์มไปแข่งขันกันในออนไลน์มากขึ้น นิยายวายเป็นเหมือนสิ่งหนึ่งที่กำลังวิ่งสวนทาง นั่นคือการตีตลาดในออนไลน์มาก่อนแล้วค่อยตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ แถมคนซื้อรวมเล่มเยอะซะด้วย ถึงแม้จะมีหลายเว็ปที่เปิดมาเพื่อให้นักเขียนลงนิยายโดยเฉพาะ แต่การรวมเล่มหนังสือก็ยังคงขายได้ดี คนที่อ่านนิยายวายก็มีหลายประเภท ทั้งเป็นแฟนคลับนักเขียนไปแล้ว เขียนเรื่องอะไรออกมาก็อ่าน พิมพ์เล่มไหนขายก็ซื้อ กับอีกพวกหนึ่งที่ชอบเป็นเรื่อง ๆ ไป ซึ่งคนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างมาก และยอมที่จะจ่ายเงินให้กับสิ่งที่ตัวเองสนใจถึงแม้ว่าจะอ่านในเว็ปจบไปแล้วก็ตาม เพราะบางทีก็ซื้อมาเก็บแทบไม่ได้แกะมาอ่านด้วยซ้ำไป
การที่ร้านหนังสือนำนิยายวายไปวางขายมากขึ้นก็เหมือนเป็นการช่วยพยุงกันไประหว่างสามกลุ่ม ร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ นักเขียน ร้านหนังสือก็จะได้มียอดขายมากขึ้น สำนักพิมพ์มียอดขายมากขึ้น นักเขียนเป็นที่รู้จักมากขึ้นและมีโอกาสขายนิยายได้มากขึ้น เพราะเข้าถึงคนมุมกว้างกว่าในเว็ป
ได้รับการยอมรับทางสังคมมากขึ้น
ช่วงหนึ่งที่นิยายวาย ชายรักชาย หญิงรักหญิงยังต้องแอบขายกันตามร้านหนังสือเล็ก ๆ ก็เป็นช่วงเดียวกับที่สังคมยังไม่ได้เปิดกว้างเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสื่อมากเท่านี้ แต่ปัจจุบันมีกระแสขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น แถมตั้งแต่เริ่มมีซีรีส์วายบนฟรีทีวีเรื่องแรกในไทย (Love Sick The Series เมื่อปี 2557) ก็ทำให้สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ แทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของทุกคนจนเกือบเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นการนำนิยายวายมาวางขายบนร้านหนังสือเยอะขึ้นส่วนหนึ่งก็อาจเป็นผลพวงที่เกี่ยวโยงกันมา
ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้คอนเท้นท์อะไร ๆ ก็เปลี่ยน บางทีเราก็ลองไปค้นหารีวิวหนังเก่า ๆ ที่อยากจะดูว่าคนเค้าคิดเห็นยังไงกันบ้าง หนังบางเรื่องที่มีเนื้อหาชายรักชายกลับถูกแสดงความคิดเห็นไปในเชิงลบเกี่ยวกับเรื่องเพศก่อนความสมเหตุสมผลของเรื่องซะอีก จนทุกวันนี้กระแสความเท่าเทียมทางเพศถูกผลักดันมากขึ้น สื่อต่าง ๆ ที่นำเสนอก็สร้างสรรค์มากขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่บางคนอาจจะไม่สังเกตเห็น แต่เราอยากหยิบมาเล่า เผื่อว่าจะเปิดโลกใหม่ ได้นิยายแนวใหม่ไปอ่านกันเพิ่ม