"ความเท่าเทียมทางเพศ" กับคำถามที่ผู้คนสมัยนี้ยังมีความไม่เข้าใจ
ในยุคปัจจุบันนี้ เรื่องเพศนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ผู้คนให้ความสำคัญเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว เพราะในยุคนี้มนุษย์เราจะให้ความสำคัญที่ความเสมอภาคและเท่าเทียมมากกว่า การที่จะระบุตัวตนของใครสักคนนั้นต้องดูกันที่ความสามารถและการแสดงออกของแต่ละบุคคล
ย้อนกลับไปในอดีต เราอาจจะเห็นว่าผู้ชายนั้นอาจจะเป็นฝ่ายนำ ผู้หญิงเป็นฝ่ายตาม ผู้ชายมักได้สิทธิพิเศษกว่าผู้หญิงเสมอ แต่ในสมัยนี้ ผู้หญิงก็สามารถที่จะทำอะไรที่ผู้ชายทำได้ ผู้ชายก็สามารถทำในสิ่งที่ผู้หญิงทำได้ รวมไปถึงเพศทางเลือกด้วยเช่นกัน เส้นแบ่งกั้นระหว่างเพศมันค่อยๆ หายไปทีละน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมทั่วโลกให้การสนับสนุนกันอยู่
ถึงแม้ว่าโลกเราจะก้าวไปข้างหน้าแล้วก็ตาม แต่เรายังอยู่ในยุคที่กำลังเปลี่ยนแปลง จึงไม่แปลกที่ผู้คนจำนวนมากอาจจะยังไม่เข้าใจว่าความเท่าเทียมทางเพศนั้นหมายความว่าอะไร ดังนั้น Sanook! Campus จึงนำเอาความหมายของคำว่า ความเท่าเทียมทางเพศ ในแง่มุมต่างๆ มานำเสนอให้เพื่อนๆ เข้าใจกันมากยิ่งขึ้น โดยเราได้แรงบันดาลใจมาจากภาพ COSCI NEWGEN 2019 ของทาง วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นั่นเอง
ผู้ชายแต่งหน้า ไม่จำเป็นต้องเป็นเกย์
ยุคนี้การแต่งหน้าเรียกว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ชายและผู้หญิงแล้ว สังเกตง่ายๆ ตรงที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีการออกสินค้าสำหรับผู้ชาย (For Men) ออกมามากขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้ชายในยุคปัจจุบันมีความสนใจในการดูแลตัวเอง (Grooming) ทำให้ตัวเองดูดีขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้นตอนที่ออกไปอยู่ในที่สาธารณะ ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องเป็นเกย์อย่างที่หลายๆ คนคิดกัน
ต้องลุกให้ผู้หญิงนั่งบนรถ?
ในยุคที่มีความเท่าเทียม การลุกให้นั่งบนรถโดยสาร หรือรถไฟ นั้นเรียกว่าเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงอยู่เรื่อยๆ บางเสียงก็อาจจะพูดว่าผู้ชายควรแสดงความเป็นสุภาพบุรุษ บางเสียงก็บอกว่าผู้ชายก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน มีความรู้สึกเหนื่อย เมื่อยเหมือนกับผู้หญิง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การโดยสารทุกชนิดจะมีที่นั่งสำรองสำหรับเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา และพระภิกษุ เอาไว้อยู่แล้ว ทั้งผู้ชายและผู้หญิงควรที่จะยึดตามหลักตรงนี้มากกว่า ถ้าจะลุกให้นั่งก็ควรที่จะเป็น 4 ตัวอย่างที่กล่าวมา
เพศทางเลือก ไม่ได้แปลว่าเป็นโรคทางจิต
ข้อนี้เรียกว่าควรเลิกเชื่อแบบนั้นได้แล้ว เพราะว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เคยได้ออกมาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการจัดกลุ่มการแบ่งแยกโรคต่างๆ ซึ่งมีการประกาศให้ สภาวะความไม่สอดคล้องทางเพศ (Gender Incongruence) ออกจากกลุ่มบัญชีโรคความผิดปกติทางจิต เพราะสภาวะความไม่สอดคล้องทางเพศเป็นเพียงการแสดงถึงความไม่สอดคล้องระหว่างเพศที่เกิดจากประสบการณ์ของบุคคล และเพศที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่แรกคลอด
Feminist ผู้ชายก็เป็นได้
คำว่า Feminist นั้นทางพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด นิยามเฟมินิสต์ว่าเป็น "ผู้สนับสนุนสิทธิและความเสมอภาคของสตรี" ดังนั้นจึงมีความหมายว่า ผู้ที่มีความคิดแบบ Feminist หรือ คตินิยมสิทธิสตรี นั้นเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนิยาม จัดตั้งและปกป้องสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมแก่สตรี ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเพศหญิงเท่านั้น อีกทั้ง ผู้ให้กำเนิดคำว่า Feminist นั้นยังเป็นผู้ชาย ซึ่งเป็นนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสนามว่า Charles Fourier อีกด้วย
ใครรุก ใครรับ คำถามที่ไร้มารยาท
เป็นอีกหนึ่งคำถามที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงแล้ว คำถามนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไร้มารยาทมากๆ ถ้าเราจะวิเคราะห์กันแบบให้เห็นภาพ ถ้าเป็นชายกับหญิงข้อนี้เราก็รู้กันอยู่แล้วตามหลักเพศสภาพซึ่งไม่จำเป็นต้องถาม แต่สำหรับคนที่เป็นเพศเดียวกัน การไปถามว่า ใครรุก ใครรับ มันอาจจะสร้างความอึดอัดให้กับผู้ถูกถามได้ เพราะเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ทุกคนจะอยากเอามาพูดเหมือนเป็นเรื่องทั่วไป อีกทั้งการถามว่า "ใครรุก ใครรับ" ถ้าวิเคราะห์แล้วก็มีความใกล้เคียงกับการถามว่า คุณชอบการร่วมเพศท่าไหน ซึ่งเรียกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ แค่รู้ว่าคนสองคนมีความรักให้กันก็เพียงพอแล้ว
ทำไมต้องเสียดาย ถ้าเป็นเลสเบี้ยน
ประโยคนี้เราอาจจะได้ยินบ่อยๆ เมื่อเห็นผู้หญิงสองคนตัดสินใจคบหากัน ด้วยความรัก "โถ เสียดายจัง ไม่น่าเป็นเลสเบี้ยนเลย น่าจะคบกับผู้ชาย" จงอย่าลืมว่า การที่มนุษย์สองคนเลือกที่จะตกลงคบกันนั้นมีพื้นฐานมาจากความรัก ไม่ใช่เรื่องเพศ การที่ใครสักคนมีความรักให้มนุษย์อีกคน มันควรเป็นเรื่องที่เราควรแสดงความยินดีกับความรักของทั้งคู่ เขาอาจจะมีความสุขกับสิ่งที่เขาเลือกมากกว่าที่เราคิดก็ได้ ของแบบนี้มันอยู่ที่มุมมองและความสุขส่วนตัว ไม่ได้อยู่ที่มุมมองของคนอื่น
ผู้หญิงทำร้ายผู้ชาย ไม่ได้ดูเท่
เราอยู่ในยุคที่มีความเท่าเทียมกันแล้ว ผู้ชายทำร้ายผู้หญิง หรือ ผู้หญิงทำร้ายผู้ชาย ไม่ใช่เรื่องที่ดูเท่เลย เราควรที่จะอยู่ในเส้นของคำว่าเคารพซึ่งกันและกัน การใช้กำลังเพราะอารมณ์ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด สิ่งที่ถูกต้องคือการลดโทสะและใช้เหตุผลแก้ไขปัญหากันมากกว่า
เพราะเรากำลังอยู่ในขั้นตอนที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการมีคำถาม การไม่เข้าใจ จึงเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น แต่มันก็คงไม่ยากไปหรอกถ้าเราจะทำความเข้าใจและเปิดรับมัน แต่จริงๆ หากเราเริ่มจากการ "เปิดใจยอมรับ" ก็แทบไม่จำเป็นที่จะต้องพยายาม "ทำความเข้าใจ" แค่นี้เราก็สามารถอยู่ท่ามกลางความหลากหลายในสังคมได้อย่างมีความสุข
อัลบั้มภาพ 12 ภาพ