กลุ่มผู้สร้าง SPACETH ทำเรื่องอวกาศให้เข้าใจง่าย และใกล้ (ตัว) ยิ่งขึ้น

กลุ่มผู้สร้าง SPACETH ทำเรื่องอวกาศให้เข้าใจง่าย และใกล้ (ตัว) ยิ่งขึ้น

กลุ่มผู้สร้าง SPACETH ทำเรื่องอวกาศให้เข้าใจง่าย และใกล้ (ตัว) ยิ่งขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คำว่าวิทยาศาสตร์ เมื่อหลายคนได้ยินคำนี้คงจะคิดว่ามันเป็นอะไรที่วิชาการ และเข้าใจยากกันอย่างแน่นอน แต่ในความเป็นจริงแล้ววิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่มีความสนุกและน่าค้นหาไม่แพ้กับเรื่องอื่นๆ เลยด้วยซ้ำไป ซึ่งทาง SPACETH ก็เป็นหนึ่งช่องทางที่นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องอวกาศได้อย่างเข้าใจง่าย และให้ความรู้พร้อมความสนุกไปด้วย

แต่สิ่งที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้กันนั่นก็คือ เหล่าผู้ก่อตั้งและทีมงานของ SPACETH นั้นเป็นเยาวชนอายุไม่ถึง 20 ปีกันทั้งนั้น ซึ่ง Sanook! Campus เราก็มีโอกาสได้พูดคุยและทำความรู้จักกับเหล่าเยาวชนมากความสามารถที่นำเรื่องวิทยาศาสตร์มาทำให้กลายเป็นเรื่องสนุกสนาน ให้คนทั่วไปเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น 

หลังจาก Sanook! Campus ได้พูดคุยกับตัวแทนเยาวชนจาก SPACETH ถึงที่มาและความฝันของพวกเขา แล้วเราต้องยอมรับเลยว่า ถึงจะเป็นเด็ก แต่ความคิดของพวกเขาเทียบเท่าผู้ใหญ่เลยจริงๆ

อิงค์-จิรสิน อัศวกุล

อิงค์-จิรสิน อัศวกุล นักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังขึ้นปีที่ 2


คือเราเป็นบรรณาธิการใช่ไหม

ใช่ครับ ดูแลคอนเทนต์ของนิตยสารครับว่าภาพรวมเป็นอย่างไร เหมือนบรรณาธิการทั่วไป แล้วก็ทำและดูแล Podcast ด้วย ช่วงนี้จะดู Podcast เยอะกว่า สรุปแล้วคือ ทำเองด้วย เขียนคอนเทนต์ด้วยแต่ก็จะมีเพื่อนๆ ช่วยดู วันไหนว่างก็จะชวนเพื่อนมาพูดคุยกันเล่นๆ ในรายการ ให้มีการรับส่งกันไม่งั้นจะเงียบเหงาเกินไป

เราแบ่งเวลายังไง ทั้งเรียน ทั้งทำเว็บไซต์

ถ้าตอบตามตรงส่วนมากก็แบ่งเวลาไม่ค่อยถูก มันเป็นเรื่องค่อนข้างยาก อย่างแรกคุณต้องมีวินัยในตัวเอง เรียนเสร็จมาก็อยากนอนแล้ว หรือทำคอนเทนต์เสร็จมาก็ไม่อยากอ่านหนังสือแล้ว ส่วนสำหรับผมเรื่องที่ยากคือการแบ่งเวลา แต่หลังจากได้ไปวิ่งมินิมาราธอนเสร็จ ก็ได้ไอดอลเป็นนักวิ่งมาราธอนที่ดีที่สุดในโลก คือ คุณ คิปโชเก เพราะเขามีวินัยในตัวเองมากเขาได้พูดว่า "การมีวินัยในตัวเองเป็นสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขมากที่สุด ทำให้คุณมีความอิสระจากความอยากและ Passion ได้ทำในสิ่งที่อยากทำจริงๆ ทำให้เราอยากมีวินัยมากขึ้น" ถ้าเขาทำได้เราก็ต้องทำได้ เขาเป็นคนที่มีวินัยแบบสุดยอดมาก ผมเลยคิดว่าเราควรเอาอย่างเขา

ปัญหาที่พบเจอในการเป็นบรรณาธิการในเรื่องของคอนเทนต์คืออะไร

ปัญหาของตัวเราอย่างแรกคือเวลา วันหนึ่งอยากให้มี 72 ชั่วโมง เพราะ 24 ชั่วโมงมันน้อยไป ในเมื่อเวลามันมีจำกัด เราต้องแบ่งเวลามาทำนู่นนี่ด้วย ดังนั้นเราควรจะต้องเริ่มแบ่งเวลา ว่าวันนี้ต้องทำสิ่งนี้นะ ต้องเป็นคน Productive ปัญหาส่วนมากของผมก็เป็นเรื่องเวลานี่แหละ เวลาเป็นสิ่งสำคัญ

ในส่วนของคอนเทนต์ในฐานะบรรณาธิการจะพัฒนาอะไรต่อ

อยากพัฒนาเรื่องการพูดครับ เพราะเรื่องการพูดเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องทำ Podcast ด้วย มันต้องสื่อสารกับคนอื่นให้รู้เรื่องด้วย เราควรจะฝึกตรงนี้ครับ

คือเราคิดว่าการสื่อสารผ่านตัวหนังสือทำได้ดีกว่าการสื่อสารแบบพูดคุยใช่ไหม

การสื่อสารแบบเห็นหน้ามันเป็นการถามและต้องตอบทันที แต่การสื่อสารผ่านตัวหนังสือเรามีเวลาคิดและไตร่ตรองก่อน และอีกเรื่องหนึ่งคือการพูดให้ชัด ร เรือ ล ลิง และที่สำคัญคือเรื่องภาษาอังกฤษ เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญและเราก็ควรวางแผนเริ่มต้นจริงๆ จังๆ หลักๆ แล้วคือ อยากพัฒนาเรื่อง การแบ่งเวลา การพูด และเรื่องภาษา

ในมุมของอิงค์คือ ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยเรารู้สึกเราโตขึ้นไหม

ด้วยวัยวุฒิ และคุณวุฒิ มันทำให้เรารู้สึกโตขึ้นหลักๆ เราถูกบริบทสังคมตีกรอบให้เราโตขึ้นทั้งๆ ที่ในใจเรายังเด็กน้อยอยู่ ยังอยากเล่นเกม นอนทั้งวัน ผมมั่นใจว่าทุกคนต้องเป็นแบบนี้

อิงค์มีความฝันแยกอีกไหม

ทำนาครับ พอคิดไปคิดมาเราเบื่อกับชีวิตที่รถมันติด เดินทางสองชั่วโมง นั่งเครื่องบินไปเชียงใหม่ยังเร็วกว่าเลย การเดินทางเป็นสิ่งที่เราเบื่อ ผมเป็นคนที่ชอบอยู่กับต้นไม้ เป็นสายชิล การทำนาคุยเล่นๆ กับเพื่อนมาตั้งแต่ ม.5 ทำสวนมะพร้าว และก็เริ่มคิดจริงๆ ต่อไปอาจจะมาเจออิงค์เป็นชาวนาอยู่ในอนาคตก็ได้ครับ

มิก-ณฐกร จันทราธิกุล

มิก-ณฐกร จันทราธิกุล อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะนวัตกรรมสื่อสารสังคม เอกการจัดการธุรกิจไซเบอร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ทำหน้าที่อะไรใน SPACETH

เป็น Marketing ใน SPACETH ครับ โดยผมเป็นบรรณาธิการบริหาร ทั้งเขียน ทั้งขาย จริงๆ ผมก็ทำสื่อเกี่ยวกับเว็บไซต์กล้อง เลยได้รู้จักกับพี่เติ้ล และก็พี่ๆ ในทีมเลยชวนมาช่วยดู SPACETH เพราะจริงๆ แล้วเว็บไซต์ของผมเป็นเว็บสื่อที่รีวิวข่าวเกี่ยวกับกล้อง เว็บที่ทำเอง เป็นเจ้าของเว็บไซต์ สนใจเรื่องนี้ตั้งแต่เด็กๆ ครับ

การทำงานใน SPACETH อะไรคืออุปสรรคของการขายของ

อุปสรรคก็คือตัวคอนเทนต์ของ SPACETH ที่มันเป็นคอนเทนต์ความรู้ การที่จะดัดแปลงอะไรมันก็จะยากกว่าการทำคอนเทนต์ไปตรงๆ เลย หน้าที่ของผมก็ต้องคุยกับทีมคอนเทนต์บรรณาธิการ ว่าแบบถ้าเรารับงานแบรนด์นี้มาเราจะทำยังไง แต่จริงๆ SPACETH เป็นแนว Creative Content อยู่แล้ว ก็จะเห็นในเว็บมีการแซะที่มีการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยครับ

เราอายุแค่ 19 แล้วทักษะพวกการขาย Marketing มาจากไหน

มันอาจจะเป็นนิสัยส่วนตัวมั้งครับ เพราะชอบคุย ชอบทำ ชอบขาย ก็เลยอาจจะติดเป็นนิสัยเลยชอบ ชอบธุรกิจมาตั้งแต่เด็กด้วย ก็จะได้เจอพวกองค์กรใหญ่ๆ ที่เคยได้ร่วมงานกัน ถ้าถามว่าการที่เราเป็นเด็กมีอุปสรรคไหม มันก็มีนิดเดียว จริงๆ พวกตัวผลงานเป็นตัวพิสูจน์ครับ ทุกคนเห็นผลงานที่เราเคยทำ ก็เลยทำให้มีความน่าเชื่อถือ ส่วนอายุไม่ได้ส่งผลอะไรมาก เพราะเราทำได้ เวลารับงานมาแล้วเราทำได้ จริงๆ การเป็นเด็กมันก็เป็นข้อดีด้วยซ้ำ คุยง่าย ทำอะไรง่ายกว่า มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบันในภาคทั้งธุรกิจและหน่วยงานรัฐเนี่ยเขาต้องการตรงนี้ จริงๆ ผมไม่ชอบความคิดแต่ก่อนที่ว่าเด็กต้องเรียนจบ แต่ยุคนี้กลายเป็นว่าบริษัทมักจะรับเด็กจบใหม่ไฟแรง แม้แต่หน่วยงานรัฐที่เขาพยายามนำเด็กใหม่เข้ามาร่วมทีมมากขึ้น

แล้วแบ่งเวลายังไง เรียนไปด้วยทำงาน ขายงาน

บางทีก็เกิดจากการไม่แบ่งครับ การไม่แบ่งมันเกิดจากการทำตารางไว้กว้างๆ แล้วอันไหนเห็นสำคัญเราทำก่อน ผมยอมรับตามตรงว่าผมไม่ได้เป็นคนที่แบ่งงานดีมากอะไร แต่ก็พยายามที่จะทำให้จบเป็นเรื่องๆ ผมเรียนในเมืองไลฟ์สไตล์ผมก็อยู่ในเมือง เลยเป็นคนชิลๆ ได้เรื่อยๆ ครับ

เรามีโดดเรียนไปหาลูกค้าไหม

มีบ้างครับ แต่อาจารย์เข้าใจ ผลการเรียนก็กลางๆ ครับ ก็ยอมรับตรงๆ ว่าผมไม่ได้อินกับการเรียนขนาดนั้น ก็มีเรียน มีหาย จริงๆ เว็บกล้องผมก็ค่อนข้างมีลูกค้า มีรายได้ค่อนข้างเยอะ เพราะเว็บกล้องมันรับงานง่ายค่อนข้างลงตัว แต่ตัวงานของ SPACETH เป็นสิ่งที่ผมฝันอยากทำเพราะมันสร้างความตระหนักกับคน ซึ่งถ้าเห็นเพจ SPACETH ก็จะเห็นการแซะและ Creative Content ในหลายๆ เรื่องความหวังลึกๆ ของทีมที่ทำก็อยากให้คนเห็น เช่น การไปดวงจันทร์ให้คนได้รู้ว่ามันไม่ได้ง่ายเลย และเร็วๆ นี้จะมีโปรเจกต์ตัว Moon Landing ที่จัดวันวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราร่วมออกแบบทำให้คนทราบว่าการไปดวงจันทร์มันไม่ง่ายเลย ในความเป็นจริงมันมีอุปสรรคเล็กๆ ที่จริงๆ แล้วเราอยากสื่อว่าทำอะไรก็ตามมันไม่ได้ง่าย

เรามีเป้าของ SPACETH ปีนี้คือเท่าไหร่

ด้วยการบริหารงานแบบนี้ เราเน้นให้คนทำงานสนุกกับการทำงาน แต่ในแง่การเพิ่มเป้า เราอยากให้ผู้ติดตามเพิ่มเป็น 200,000-300,000 Followers จริงๆ เป้าตัวเลข Followers ยังไม่ถึงที่เราตั้งใจไว้ เพราะเราตั้งใจทำคอนเทนต์ ให้อะไรกับคนที่เข้ามาอ่าน

ตัวมิกเองมีความฝันอย่างอื่นอีกไหม

ถ้าความฝันจริงๆ ก็คืออยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น นี่เป็นความฝัน ผมรู้สึกว่าถ้าผมเสียชีวิตไปโดยที่ยังไม่ได้ช่วยเหลือคนอื่นเนี่ยมันรู้สึกไม่สนุกเลย ความตั้งใจของผมคือสร้างอะไรให้กับคนให้ชีวิตดีขึ้นไม่ว่าจะรูปแบบไหน การทำเว็บนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ว่ารูปแบบไหนผมก็อยากทำ ด้วยความรู้ความเชื่อของผม

เคยคิดไหมว่าต่อไป Facebook จะล่ม เราต้องหาช่องทางอื่น

เราบอกไม่ได้ว่ามันจะไปทางไหนแต่ว่าสิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือเราก็ทำ ดีกว่าไม่ได้ทำ จริงๆ คอนเทนต์ก็เป็นความท้าทายของทุกบริษัท คอนเทนต์มันจะเจาะลึกมากขึ้น มันจะแคบมันจะเฉพาะคน ต่อไปจะมีกิจกรรมเสวนาของ SPACETH มีทั้งเข้าใจง่ายเจาะลึกบ้าง พยายามที่จะสร้างแรงบันดาลใจ ก็จะมีทีมนี้และอาจจะเชิญนักวิชาการ เช่น ตอนหลุมดำ อย่างสถานทูตอเมริกาก็เชิญเราไปดูอาวุธ เรือรบของอเมริกาถ้าเห็นจากในคลิปพวกเรา แต่จริงๆ แล้วเราอยากจะสื่อสารว่ากว่าจะมาถึงทุกวันนี้ถ้าเราไม่มีการรบกันมันก็ไม่มีถึงทุกวันนี้ ที่สำคัญประวัติศาสตร์มีทั้งดีและไม่ดี เราเรียนรู้กับมันว่าที่ผ่านมาเรามายืนถึงจุดนี้ได้เนี่ยเพราะใครทำอะไร ประวัติศาสตร์มีไว้ให้เรียนรู้ ไม่ได้มีไว้ให้ทำตาม

วิว-พิชญ์สินี พงศ์ขจร

วิว-พิชญ์สินี พงศ์ขจร นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ไปยังไงมายังไงถึงได้ทำตำแหน่ง AE ของ SPACETH

วิวรู้จักกับพี่เติ้ลประมาณตอนวิวอยู่ ม.5 จริงๆ พี่เติ้ลเป็นคนค่อนข้างดังของโรงเรียน ผ่านตากันมาบ่อย พอรู้จักกันพี่เติ้ลก็เห็นว่าเป็นคนชอบจัดการกับเวลา ชอบวางแผน พี่เขาก็เลยชวนมาทำงานด้วยกัน การทำงานส่วนมากก็จะเป็นการคุยติดต่อกับลูกค้า สมมติอย่างงานล่าสุดมีคนมาขอเป็นพาร์ทเนอร์ หน้าที่หนูก็คือ ดูข้อตกลงว่าต้องทำอะไรบ้าง มีข้อแลกเปลี่ยนยังไง หรือไม่ก็นัดสัมภาษณ์กับทางพาร์ทเนอร์

แล้วเราเอาทักษะการเป็น AE มาจากไหน

ได้พี่เติ้ลช่วยแนะนำค่ะ ส่วนมากก็มีถามคนอื่นบ้าง จนสามารถลุยงานด้วยตัวเองได้ค่ะ แต่ปัญหาหลักๆ ที่มีก็คือ จริงๆ วิวแล้วเป็นคนโลกส่วนตัวสูงค่ะ หนูเลยเกลียดการคุยโทรศัพท์มาก แต่ในตอนนี้ก็ถือว่าดีขึ้นค่ะ

แล้วเรามาเป็น AE นานรึยัง

น่าจะประมาณปลายปีที่แล้วค่ะ ซึ่งถึงจะทำงานมาปีหนึ่งแล้ว แต่วิวก็ยังเป็นคนโลกส่วนตัวสูงอยู่แต่ก็มีอะไรที่ทำให้ตัวเองออกจากห้องของตัวเองมากขึ้น ก็อยากจะทำค่ะ

ตัวของวิวมีความฝันเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ ไหมที่แบบไม่ใช่การทำ SPACETH

จริงๆ ก็ยังไม่มีเป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่ค่ะ แต่ตอนนี้มีความฝันอยากเลี้ยงหมาค่ะ

กิ๊ก-นิศาชล คำลือ

กิ๊ก-นิศาชล คำลือ เป็นนักเขียน ค่ะ อายุ 17 ตอนนี้ไม่ได้เรียนค่ะ ตอนนี้เป็นช่วงรอเข้ามหาวิทยาลัยปีหน้า กิ๊กสนใจด้าน วิศวะอากาศยาน และอวกาศยานค่ะ


แล้วทำไมถึงได้มาร่วมงานกับ SPACETH

เราเจอกับทีม SPACETH ครั้งแรกก็ตอนที่ไปสัมภาษณ์ในงานที่เกี่ยวกับการเสนอผลงานวิจัยทางดาราศาสตร์ของเด็กทั่วประเทศ ก็เลยได้รู้จักกับพี่เติ้ล หลังจากที่ตัดสินใจจะลาออก เราเลยคิดว่าช่วงเวลานี้ระหว่างรอเราจะทำอะไร เราเลยขอมาทำเพราะอยากได้ประสบการณ์ค่ะ

ทำงานเป็นนักเขียนต้องทำงานทุกวันไหม

จริงๆ ก็ต้องเขียนทุกวัน แต่หนูเป็นคนที่ต้องเขียนสิ่งที่หนูสนใจ อยากจะทำ อยากจะเขียน อยากจะเล่า ไม่งั้นหนูจะทำออกมาได้ไม่ดี ในแต่ละวันหนูก็จะหาว่าหนูอยากเล่าอะไร วิทยาศาสตร์ที่คนยังเข้าใจผิด เช่น Area ที่ 51 เอาไว้เก็บเอเลี่ยน ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ค่ะ หนูก็จะเล่าข้อเท็จจริงอะไรประมาณนี้ค่ะ

งานเขียนที่ตัวเองถนัดคืออะไร

ก็จะเป็นแนวเกี่ยวกับบอกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ค่ะ ซึ่งตอนนี้กิ๊กอยากพัฒนาตัวเองด้านการมีข้อมูลอ้างอิงที่ชัดเจน เราจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน เพราะถ้าไม่มีมันจะกลายเป็นข่าวลือ เพราะ ความเป็นจริง กับ ข่าวลือมันแตกต่างกัน

ปัญหาอุปสรรคในการมาเขียนคอนเทนต์มีบ้างไหม

มีค่ะ เราไม่ค่อยอยากจะทำงานเท่าไหร่ ก็คือหนูป่วยด้วยค่ะจะทำงานยากในแต่ละวัน แถมหลายๆ ในทีมคนจะเป็นพวกโลกส่วนตัวสูง เราก็จะเข้าหากันยากหน่อย พอได้ออกไปข้างนอกด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ก็สนิทกันมากขึ้น ก็รู้สึกว่าไม่มีปัญหานะคะ เหมือนเขาเป็นเหยือก เราเป็นแก้วคอยรับและดูแลกัน

นี่เราต้องเข้า ออฟฟิศไหม มีออฟฟิศไหม

ยังไม่มีเลยค่ะ ต่างคนต่างทำอยู่บ้าน เวลาประชุมก็สตาร์บัค แต่ก็มีแผนอยู่นะคะแต่การมีออฟฟิศมันก็มีค่าใช้จ่ายแสดงว่าเราต้องมีรายได้ที่ต้องค่อนข้างคงที่ก่อนค่ะ

 

น้องกิ๊ก เรามีความฝันอย่างอื่นอีกไหม

หนูอยากเป็นนักวิจัยที่นาซ่าค่ะ หนูไม่ได้รู้สึกว่าฝันมันไกล หนูคิดว่าสักวันถ้าเราพยายามหนูคิดว่าหนูทำได้

เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศ เอกวารสาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เราเป็นบรรณาธิการบริหารของ SPACETH หน้าที่เราต้องทำอะไรบ้าง

หลักๆ ก็คือเราเป็นคนที่ดูภาพรวมทั้งหมด คือแต่ละคนเขาจะมีงานของตัวเอง อย่างเช่น อิงค์เนี่ยเขาก็จะทำ Podcast แล้วก็จะมีทีมที่ทำคอนเทนต์ บนเว็บ แล้วก็ทีมที่ดูเรื่องธุรกิจ อย่างวิวกับมิกซ์ ผมก็จะคอยดูรวมๆ ภาพรวมทั้งหมดว่าเป็นยังไง ที่จริงก็มีเขียนเองด้วยเป็นเนื้อหาคอนเทนต์

ในฐานะเยาวชนที่เข้ามาทำเว็บไซต์อย่างจริง เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

สองอย่างครับ อย่างแรกก็คือเรื่องของอวกาศนี่นะครับมันมาจากความต้องการของเราตอนแรกอยู่แล้วว่า ตอนแรกที่เราอยากจะทำ SPACETH ขึ้นมาก็คือ ตอนเด็กเนี่ยเขาชอบเรื่องของอวกาศชอบเรื่องไดโนเสาร์ เรื่องรถยนต์ แต่พอโตมามันกลับกลายเป็นเรื่องวิชาการ สิ่งที่เขาเคยชอบตอนเด็กๆ มันกลายมาเป็นสิ่งที่เขาต้องมาเรียนในตำราและด้วยวิธีการสอน ที่มันไม่ได้ให้เด็กอยากจะรู้เรื่องนั้นเยอะขึ้นมันก็ทำให้เขารู้สึกว่าเสียความหลงใหลความชอบนั้นไปจนในที่สุดแล้ว ถ้าเขามาเจอกับ SPACETH คนทักเข้ามาบอกกับเราว่า "ตอนเด็กชอบเรื่องนี้มากเลย ขอบคุณนะที่ทำให้มันมีพื้นที่ในการกลับมาดูความชอบแต่ไม่ถูกตัดสิน" ส่วนใหญ่ถ้าชอบอวกาศ คนจะไล่ไปเรียนฟิสิกส์ เรียนดาราศาสตร์ แต่ไม่เคยมีใครถามเราเลยว่าเราชอบวิทยาศาสตร์แล้วมันน่าสนใจตรงไหน ทุกคนตัดสินหมดว่า คุณเป็นนักวิทยาศาสตร์ พอมันมี SPACETH มันทำให้เห็นว่าเราสามารถสร้างพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมาได้ไม่ใช่แค่เด็กแต่กับทุกคนที่ชอบเรื่องนี้

ในแง่ที่สองเลยคือเรื่องของ เยาวชน เพราะเรามีทีมขึ้นมาได้ทุกคนอายุไม่ถึง 20 หมดเลย ผมว่ามันเป็นความเชื่ออะไรบางอย่างที่บอกว่า เด็กเนี่ยต้องเรียนให้จบก่อนแล้วค่อยทำนู่นนี่ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ มันได้ข้อคิดเยอะการมาทำ SPACETH ทำให้เห็นว่าโรงเรียนไม่ใช่ทั้งหมดการศึกษามันไม่ใช่ทั้งหมด แล้วการศึกษาพยายามจะบอกว่ามันเป็นทั้งหมดแล้วมันไม่จริง เนี่ยเราได้พิสูจน์แล้ว ก็เป็นสองสิ่งที่ได้เรียนรู้ที่ชัดมาก

มีอุปสรรคปัญหาอะไรไหม เพราะในทีมก็ดูอายุจะเท่าๆ กันมันจะเหมือนการทำงานกลุ่มในโรงเรียนไหม

ในโรงเรียนมันไม่เคยเป็นงานกลุ่มจริงๆ มันจะมีคนหนึ่งที่ถูกตั้งให้เป็นหัวหน้าแล้วก็ทำทุกอย่าง แล้วก็จะโดนบอกว่า ไม่ได้บอกให้ทำนี่ก็เลยไม่ได้ทำ ไม่พูดนี่ ภาระมันตกไปอยู่กับคนทำงาน ซึ่งพอทำงานจริงๆ มันเป็นแบบนั้นไม่ได้ เราเอาวัตถุประสงค์เป็นหลัก เด็กไทยทุกคน แม้กระทั่งตัวเติ้ลเองชอบการทำงานแบบที่มันเป็น Direction Base มันสะดวกสบายไม่ต้องคิดอะไรเยอะ แต่พอมันต้องมาทำ Objective base จริงมันก็เกิดคำถามขึ้นมากมาย เด็กไทยก็ไม่ได้ถูกสอนให้มาคิดตรงนี้หรือแม้กระทั่งตัวผมเอง

พอมาทำเป็น บรรณาธิการบริหาร รู้สึกว่าตัวเองโตขึ้นไหม

โตขึ้นนะครับ แต่ผมก็จะเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่การจัดการกับคนอื่นมันจะดีขึ้นเยอะเลย คือตอนแรกถ้าถามว่าเก่งไหม ทำได้เก่งไหม เขียน บล็อก อะไรแบบนี้ ก็ระดับหนึ่งแหละ แต่ว่าพอมาทำอย่างนี้มันก็เหมือนกับว่าเรารู้จักคนเยอะขึ้น รู้ว่าจะจัดการอะไรหลายๆ อย่าง เพราะเราทำทุกอย่างได้จริง แต่เราทำทุกอย่างคนเดียวไม่ได้

อะไรคือเป้าหมายต่อไปของ SPACETH

ก็พอพูดถึงอวกาศในไทยก็อยากให้นึกถึง SPACETH สมมติว่าไปอเมริกาพูดว่ามาจากประเทศไทยแล้วสิ่งที่เขานึกถึงอวกาศที่ไทย ถ้าเป็น Publisher คือ SPACETH ครับ

spaceth(26)

 

อัลบั้มภาพ 30 ภาพ

อัลบั้มภาพ 30 ภาพ ของ กลุ่มผู้สร้าง SPACETH ทำเรื่องอวกาศให้เข้าใจง่าย และใกล้ (ตัว) ยิ่งขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook