LGBTQ เปิดกว้างแค่ไหนในเอเชีย

LGBTQ เปิดกว้างแค่ไหนในเอเชีย

LGBTQ เปิดกว้างแค่ไหนในเอเชีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากรัฐสภาไต้หวันผ่านร่างกฎหมายอนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ต่างก็สร้างความหวังให้กับทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มความหลากหลายทางเพศ จากการนำร่องโดยไต้หวันเป็นชาติแรกในเอเชีย ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกว่าคู่สมรสที่ไม่ใช่ ชาย-หญิง สามารถทำเรื่องรับบุตรบุญธรรมไปเลี้ยงได้อีกด้วย แต่ถึงอย่างไรก็มีคนไม่น้อยที่ออกมาคัดค้าน

ในความจริงความหลากหลายทางเพศและประเด็นเรื่องรักร่วมเพศนั้นมีมานมนานตั้งแต่สมัยแรก ๆ แล้ว เพียงแต่สังคมโดยรวมยังไม่เปิดรับและต่อต้านเสียมากกว่าด้วยซ้ำ ไม่เท่านั้นผู้ที่มีลักษณะเพศไม่ตรงกับกายภาพมักจะถูกสังคมรังเกียจและรังแก กลายเป็นชนชั้นผู้ไม่มีสิทธิ์เท่าเทียมผู้อื่น

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของเพศทางเลือกมีให้เห็นอยู่เสมอมา ซึ่งขึ้นอยู่กับความแตกต่างของแต่ละสังคม โดยในปัจจุบันสังคมเปิดใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศกันมากขึ้นโดยมีสื่อต่าง ๆ เป็นตัวช่วยที่มีความสำคัญไม่น้อย ดังจะเห็นได้ว่าภาพยนตร์หรือซีรีส์หลายเรื่องได้เล่าประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละคร LGBTQ ได้รับบทเป็นตัวหลักแบบเด่นชัด ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ตัวละครเพศทางเลือกนั้นจะถูกจับให้เล่นในบทที่เป็นตัวตลกเสียมากกว่า

กลับมาสู่ประเด็นการเปิดรับ LGBTQ ของสังคมในเอเชียกันต่อ หลังจากไต้หวันได้ผ่านร่างกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกันแล้ว ทำให้ผู้คนอื่น ๆ ในประเทศเอเชียต่างมีหวังมากยิ่งขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้นักเคลื่อนไหวมากมายต่างกำลังต่อสู้อย่างแข็งขันและเป็นเรื่องดีที่ผู้คนสนับสนุนเรื่องนี้กันมากขึ้น สิ่งสำคัญคือความคิดของทุกคน ซึ่งลองมาดูกันดีกว่าว่า แต่ละประเทศในเอเชียเปิดกว้างมากแค่ไหนกับเรื่องนี้

มาเลเซีย

การเห็นด้วยและเปิดรับความหลากหลายทางเพศในประเทศมาเลเซียยังถือว่าถูกปิดกั้นอยู่มากและมีบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรง ทั้งการสั่งลบเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศบนสื่อทุกชนิด และการเฆี่ยนตีผู้ที่มีรักร่วมเพศ ในขณะที่นักเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิมนุษยชนต่างพยายามต่อต้านมาโดยตลอด

บรูไน

อคติและการต่อต้านความหลากหลายทางเพศในประเทศบรูไนค่อนข้างรุนแรง มากกว่ามาเลเซียเสียด้วยซ้ำ โดยมีการประกาศกฎหมายอิสลามหรือกฎหมายชะรีอะฮ์ ซึ่งมีผลลงโทษผู้มีความผิดฐานรักร่วมเพศ โดยต้องโทษประหารด้วยการปาหิน แต่ภายหลังได้ยกเลิกไปแล้วเนื่องจากกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าการกำหนดโทษที่รุนแรงถึงเพียงนี้บ่งบอกถึงการปิดกั้นและอคติต่อสังคมรักร่วมเพศในประเทศ

เวียดนาม

ในเวียดนามการยอมรับความหลากหลายทางเพศมีมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน สังเกตได้จากการเดินขบวนของผู้สนับสนุน LGBTQ ในปี 2012 ที่มีผู้เข้าร่วมเพียงน้อยราย แต่ในกิจกรรมการเคลื่อนไหวในฮานอย ปี 2018 ที่ผ่านมามีผู้ร่วมสนับสนุนมากขึ้นล้นหลาม และกระแสผู้ชมต่อสื่อที่นำเสนอในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับคู่รักร่วมเพศนั้นเห็นด้วยมากขึ้น

กัมพูชา

สถานการณ์ความหลากหลายทางเพศของประเทศกัมพูชา หลายคมอาจมองว่าไม่เปิดกว้างเสียเท่าไหร่ซึ่งไม่เป็นดังนั้น สังคมของกัมพูชามองเห็นความสำคัญของความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ถึงแม้ว่าการอคติจะมีอยู่บ้างในกรณีบุคคล แต่ LGBTQ ได้ถูกนำมาบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนแล้ว เมื่อปี 2017

เมียนมา

ในความจริงความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกันในเมียนมานั้นยังถูกมองเป็นเรื่องผิดจารีตและกฎหมายอาญาของประเทศอยู่ แต่ในศักราชนี้การเปิดรับความหลากหลายทางเพศมีมากขึ้น ด้วยการจัดงานเทศกาลขับเคลื่อนการเปิดรับ LGBTQ อย่างเปิดเผยในกรุงย่างกุ้ง

สิงคโปร์

ประเทศท่องเที่ยวที่ทันสมัย แต่ทว่าสังคมโดยรวมยังมีความเป็นอนุรักษนิยมอยู่สูง ซึ่งการรักร่วมเพศนั้นผิดกฎหมายในทางเทคนิค โดยกฎหมายนี้มีการบังคับใช้มาอย่างยาวนานแล้ว และดูเหมือนการเปิดรับภายในประเทศจะไม่เปิดเผยมากเท่าที่ควร

ไทย

ประเทศไทยนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนในสังคมเปิดใจรับความหลากหลายทางเพศอยู่มาก และการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตที่รองรับบุคคล LGBTQ มากขึ้น แต่ในสังคมบางส่วนยังมีการกีดกันทางเพศสภาพอยู่บ้าง จากข่าวการกีดกันในการทำงานราชการจากคนใหญ่คนโต ต่อบุคลากรข้ามเพศ

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ถือกำเนิดขึ้นและงอกเงยไปในทางที่ดีแม้จะช้าแต่มีความก้าวหน้า รวมถึงทัศนคติของผู้คนที่มีต่อ LGBTQ เป็นไปในเชิงบวกมากขึ้น มีการลดการหยามเหยียดให้น้อยลง และปรามผู้ที่คอยเหยียดผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นเรื่องดีที่สังคมมองเรื่องสิทธิมนุษยชนสำคัญมากยิ่งขึ้นและมองข้ามความต่างของเพศที่หลากหลายแต่โฟกัสที่ความเป็นมนุษย์เทียบเท่ากันมากขึ้น

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook