นิสิตจุฬาฯ ใช้งบจากภาษีประชาชนเรียนหนังสือแล้ว จะหาทางตอบแทนคืนอะไรสู่สังคมบ้าง?
นิสิตจุฬาฯ ใช้งบจากภาษีประชาชนเรียนหนังสือแล้ว จะหาทางตอบแทนคืนอะไรสู่สังคมบ้าง? เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยและพยายามหาคำตอบรูปธรรม แต่ถ้าถามรัตติกาล ตาจา สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร น้องมีคำตอบที่ชวนให้อดยิ้มไม่ได้ “หนูทำฝายที่ จ.น่าน ค่ะ”
รัตติกาล เป็นหนึ่งในนิสิตที่ร่วม “โครงการจุฬาฯ สามัคคี” ก่อสร้างฝาย ที่บ้านพี้เหนือ อ.บ้านหลวง จ.น่าน ก่อสร้างฝายน้ำล้น 15 ฝาย เก็บกักน้ำเพื่อการบริโภคและการเกษตร ตามความต้องการของชุมชนภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “หนูในฐานะคนน่านคนหนึ่ง เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนจากฝายที่พวกเราร่วมกันสร้างทำขึ้น ว่าอย่างน้อยชาวบ้านก็ได้มีฝายกักเก็บน้ำไว้ใช้บริโภค และทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้งอย่างแน่นอน นอกจากนี้ หนูได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ จากต่างคณะ ได้รู้จักการแบ่งปัน มีโอกาสในการฝึกประสบการณ์การทำงานของตนเอง ที่สำคัญได้ฝึกตนเองในการเรียนรู้ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นในนามของชาวจุฬาฯ”
งานจิตอาสาภายใต้ “โครงการจุฬาฯ สามัคคี” ร่วมก่อตั้งเมื่อปีที่ผ่านมา โดยชาวจุฬาฯ และศิษย์เก่าจุฬาฯ ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวความว่า “ความสามัคคี ยังประโยชน์สุขให้แก่หมู่เหล่า” เพื่อสร้างความหมายเชิงสัญลักษณ์ในการระลึกและจดจำ และยืนยันในพันธกิจหลัก “สร้างเสริมสังคมไทย” ที่จุฬาฯ สัญญาไว้กับประเทศไทย
คุณโชติหิรัญ เปี่ยมสมบูรณ์ พี่เก่ารุ่น 2510 คณะวิทยาศาสตร์ ที่ร่วมโครงการปลูกต้นไม้ และปรับปรุงภูมิทัศน์ในพื้นที่วัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี ปลูกป่าและปรับปรุงพื้นที่ สักการะ เยี่ยมชมและเรียนรู้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมทางพุทธศิลป กล่าวว่า เป็นโครงการที่ดีในการสานสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ที่จะใช้พลังความสามัคคีช่วยกันสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดประโยชน์มหาศาลแต่เอาแค่ที่ทำแล้วเกิดประโยชน์กับชุมชน ให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้งจากสังคม
“ในฐานะพี่เก่าที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศก็น่าจะเห็นความขาด ความต้องการของคนในพื้นที่ของตัวเองได้ดี เลยอยากจะเชิญชวนให้มาร่วมกันทำกิจกรรมดีๆ กันเยอะๆ เพื่อช่วยสืบสานและต่อยอดโครงการนี้ให้ครอบคลุมทั่วถึง ถึงแม้ว่าเราจะลงแรงกันไม่ไหว แต่ก็สามารถสนับสนุนทุนทรัพย์ ให้คำแนะนำปรึกษาได้ ก็หวังว่าโครงการนี้จะยั่งยืนด้วยความร่วมมือของเราชาวจุฬาฯ ในการทำความดีตอบแทนประเทศชาติของเรา” คุณโชติหิรัญ กล่าวเชิญชวน
อ.สรายุทธ ทรัพย์สุข ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต และนิสิตเก่าสัมพันธ์ กล่าวถึงจุดเด่นของโครงการว่า “ความพิเศษของโครงการนี้อยู่ตรงที่พี่เก่าหลายรุ่นต้องการที่จะเข้ามาร่วมทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์กับน้องๆ นิสิตปัจจุบัน คณาจารย์ รวมถึงบุคลากรจุฬาฯ ซึ่งทางสำนักบริหารกิจการนิสิตเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ชาวจุฬาฯ ทุกคนจะได้มีโอกาสร่วมแรงใจกันทำสิ่งดีๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวม”
จากความร่วมมือกันระหว่างสำนักบริหารกิจการนิสิต ศูนย์พัฒนกิจและนิสิตเก่าสัมพันธ์ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ “โครงการจุฬาฯ สามัคคี” ได้ระดมสรรพกำลังแห่งจิตอาสาชาวจุฬาฯ กว่าร้อยชีวิตจาก มาพัฒนากิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ในหลายพื้นที่ รวม 10 โครงการ อาทิ
การพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิต อาทิ โครงการก่อสร้างเรือนต้นแบบ และปรับปรุงเรือนพื้นถิ่นประยุกต์ ชุมชนบ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ก่อสร้างเรือนที่พักอาศัยไม้ไผ่ เพื่อรองรับการย้ายชุมชนจากเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชนชาวปกาเกอะญอ โครงการจุฬาฯ - รากแก้ว อาสาพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จ.น่าน (จุฬาฯ ฮักน่าน) วางผังระบบท่อน้ำประปาในชุมชน โครงการสรรค์สร้างศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อมชุมชน ทาสีและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ชุมชนมรดกวัฒนธรรมกุฎีจีน และโครงการจิตอาสาจุฬาฯ ของเรา รณรงค์และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพื้นที่โดยรอบบริเวณ สยามสแควร์ สวนหลวง สามย่าน
การส่งเสริมด้านการศึกษา อาทิ โครงการค่ายอาสาพัฒนาชนบท ครั้งที่ 82 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก่อสร้างอาคารเรียนอเนกประสงค์ โรงเรียนบ้านโบอ่อง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีและ โครงการค่ายแรงเทียน ณ โรงเรียนเชียงกลาง จ.น่าน เผยแพร่ข้อมูลทางการศึกษาต่อให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
การทำนุบำรุงศาสนาและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม อาทิ โครงการสำรวจรังวัด เพื่อนำเสนอแผนฟื้นฟูบูรณะมรดกทางสถาปัตยกรรม ในพื้นที่วัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี โครงการบวชเนกขัมมะบารมี ถวายเป็นพระราชกุศล
ในปี 2562 โครงการจุฬาฯ สามัคคี จะต่อยอดและริเริ่มโครงการใหม่ๆระหว่างสิงหาคมจนถึงธันวาคม มีทั้งโครงการในพื้นที่เดิมเพื่อดำเนินการต่อให้เสร็จ หรือ นำโครงการลักษณะข้างต้นไปขยายผลในชุมชนและสถานที่ใหม่ รวมทั้งกิจกรรมใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น โครงการฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและแมว ปลูกต้นไม้เพิ่มเติมในพื้นที่ จ.สระบุรี และน่าน เป็นต้น
อ.สรายุทธ เสริมว่า โครงการนี้เน้นให้ศิษย์เก่าได้เข้ามามีส่วนร่วมทำและนำกิจกรรมต่างๆในโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน จะนำไปสู่ความผูกพันกับมหาวิทยาลัย การเรียนรู้ระหว่างรุ่นและระหว่างวัย จะนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือมหาวิทยาลัยทั้งในรูปทรัพยากรบุคคล และเงินทุนสนับสนุน และที่สำคัญคือความตื่นตัวที่จะทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ได้เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ เรียนรู้ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การแก้ปัญหาจากการทำงานในพื้นที่จริง
“การเข้าร่วมโครงการเหล่านี้เป็นการปลุกไฟในการทำความดี ช่วยเหลือสังคม ให้เกิดขึ้นในตัวนิสิต ซึ่งผมเชื่อว่าไฟนั้นจะอยู่กับเขาไปตลอดชีวิต มันไม่เห็นเป็นรูปธรรมหรอก แต่ถ้าใครได้ออกไปอยู่ตรงนั้นจะรู้สึกได้ด้วยตัวเอง” อ.สรายุทธ กล่าว