จะรักษ์โลก ต้องรู้จริง ทำความรู้จักกับ ไมโครพลาสติก กันหน่อย
เวลาไปซื้อข้าวของ หลายคนอาจจะรู้สึกสบายใจเมื่อได้รับถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีข้อความเขียนที่ถุงว่า “ถุงรักษ์โลก” หรือ “ถุงย่อยสลายได้ในธรรมชาติ” เพราะเชื่อว่าถุงพลาสติกเหล่านั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งดีกว่าถุงพลาสติกสังเคราะห์รุ่นก่อนๆ ที่ใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย เลยภูมิใจหิ้วถุงรักษ์โลกอย่างนี้กันเต็มสองมือ
แต่รู้ไหมว่า ถุงที่ระบุว่าย่อยสลายได้อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เขียนไว้ บางชนิดจะแตกสลายกลายเป็นพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่เราอาจจะมองไม่เห็นเรียกว่า Microplastic ที่กำลังสร้างปัญหาใหญ่ให้กับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งพลาสติกย่อยสลายได้แท้จริงต้องได้รับมาตรฐานการย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Compostable Plastics) ตามข้อกำหนดพลาสติกสลายตัวได้ เช่น ISO 17088 (สากล) หรือ ASTM D6400 (สหรัฐอเมริกา) หรือ EN 13432 (ยุโรป) หรือ มอก. 17088-2555 (ไทย)
รู้จักไมโครพลาสติก
ไมโครพลาสติก คือ พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรถึงขนาดที่ตามองไม่เห็น โดยมาจากขยะพลาสติกสังเคราะห์รุ่นก่อนที่ค่อยๆ ย่อยสลายเป็นชิ้นเล็กลงๆ หรือจากไมโครบีดที่ใช้เป็นตัวช่วยขัดผิวในผลิตภัณฑ์ความงาม นอกจากนั้น ก็ยังมาจากพลาสติกสังเคราะห์ที่มีการเติมสารที่เร่งให้เกิดการแตกตัว อาทิ
- พลาสติก Photodegradable (UV-degradable) ที่เติมสารที่ทำให้แป้งที่รวมตัวอยู่กับพลาสติกแยกตัวออกเมื่อโดนความร้อนจากแสงกลายเป็นไมโครพลาสติก
- พลาสติก Oxo-degradable หรือ Oxo-biodegradable เป็นการเติมเกลือของโลหะเข้าไปในพลาสติกเพื่อช่วยเร่งปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ซึ่งก็จะแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกในธรรมชาติเช่นกัน
ไมโครพลาสติกเหล่านี้จะแตกตัวเข้าไปปนเปื้อนในดิน อยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ถ่ายทอดมายังผู้บริโภคลําดับสุดท้ายซึ่งก็คือมนุษย์นั่นเอง ในยุโรปมีการพบไมโครพลาสติกมากถึง 90 ชิ้นในหอยแมลงภู่ที่นำมาบริโภค นอกจากนี้ยังพบได้ในอากาศ เบียร์ น้ำผึ้ง และน้ำดื่มบรรจุขวดอีกด้วย
พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) – ทางออกใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม
แม้จะมีต้นทุนสูง แต่จุฬาฯ ก็เลือกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ตัวอย่างที่เราใช้กันอยู่เป็นประจำคือแก้ว Zero-waste Cup ตามโรงอาหารต่างๆ ในจุฬาฯ นั่นเอง
Bioplastic เป็นพลาสติกแบบที่สามารถย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ โดยมีสารตั้งต้นจาก แป้ง น้ำตาล หรือโปรตีนจากพืช เซลลูโลส คอลลาเจน โพลีเอสเตอร์ ไปจนถึงโคพอลิเมอร์ ที่ได้จากวัตถุดิบปิโตรเคมี ซึ่งเมื่อนำไปอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม (ความชื้น อุณหภูมิ เชื้อจุลินทรีย์) จะสามารถย่อยสลายได้โดยสมบูรณ์ กลายเป็นชีวมวลกลับคืนสู่ธรรมชาติ ดังนั้นการใช้งานพลาสติกชีวภาพจึงควรจะมีระบบการจัดการอย่างถูกต้อง
แม้ว่าหน่วยงานหรือองค์กรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจะเริ่มมีการนำผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพมาใช้ทดแทนพลาสติกสังเคราะห์กันบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากมีต้นทุนสูง แต่เชื่อว่าในอนาคตเมื่อมีการผลิตพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพมากขึ้น ราคาจะลดลง และจะมีการใช้งานกันมากขึ้นทดแทนพลาสติกรุ่นก่อนๆ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องไมโครพลาสติก เราจะได้ไม่ต้องกังวลว่า ผัก ผลไม้ หรือสัตว์น้ำที่เราบริโภคอยู่นั้นมีไมโครพลาสติกอยู่หรือไม่ ระหว่างนี้ก็งดรับถุงพลาสติกและ พกถุงผ้าขนาดต่างๆ ติดตัวไว้ให้เป็นนิสัย เป็นดีที่สุด
เรื่อง : ธาริณี ไชยประพาฬ