ดอกผลจามจุรี หกนารี สามเจเนอเรชัน ใต้รั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดอกผลจามจุรี หกนารี สามเจเนอเรชัน ใต้รั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดอกผลจามจุรี หกนารี สามเจเนอเรชัน ใต้รั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ต้นจามจุรีที่แผ่กิ่งก้านออกไปให้เมล็ดฝักจามจุรีที่หล่นอยู่ใต้ต้นได้อาศัยร่มเงา จนกว่าจะงอกงาม เติบโต และแข็งแรงเป็นต้นพันธุ์ที่ดี เปรียบเหมือนความรักของแม่ที่อุ้มชูดูแลลูกๆ ตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ที่สง่างาม ส่งต่ออนาคตที่สวยสดให้กับสมาชิกรุ่นใหม่ต่อไป

คุณสุพรรณรัศมิ์ ศิริหงษ์ บัญชี รุ่น 15 คุณสุพรรณรัศมิ์ ศิริหงษ์ บัญชี รุ่น 15

คุณสุพรรณรัศมิ์ ศิริหงษ์ เป็นแบบอย่างของดอกผลจามจุรีดังกล่าว ท่านถ่ายทอดทัศนคติที่ดีทั้งเรื่องการเรียน การทำงานและการใช้ชีวิตให้แก่ ลูกสาว 4 คนซึ่งเป็นศิษย์เก่าจุฬา และหลานสาวที่กำลังจะรับปริญญาจากจุฬาฯ

คุณสุพรรณรัศมิ์ เล่าให้ฟังถึงการสร้างคุณูปการสู่สังคมหลังจากที่เรียนจบคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่จุฬาฯ เมื่อปี พ.ศ. 2500 ท่านเริ่มงานที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ก่อตั้ง ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าสภาพัฒน์ฯ และเจริญก้าวหน้าตลอดเวลา 30 ปีกับงานวางแผน พัฒนาชาติ ก่อนที่จะลาออกมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

“ตอนที่ทำงานอยู่สภาพัฒน์ ดิฉันสอบชิงทุน AID ไปเรียนปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนนั้นแต่งงานแล้วแต่ไม่รู้ว่าตนเองท้อง มารู้อีกทีตอนที่เรียนไปสักพักหนึ่ง ก็เลยต้องเรียนไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วยเพราะสามีต้องทำงาน จนลูกสาวคนโตอายุ 11 เดือน ก็เรียนจบ จึงกลับมาทำงานที่สภาพัฒน์”

เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยคุณสุพรรณรัศมิ์ ให้กำเนิดทายาทอีก 3 คน ลูกๆ ทุกคนต่างก็ได้รับการปลูกฝังให้รู้จักการทำงานตั้งแต่เด็ก “ดิฉันให้พวกลูกๆ มาช่วยธุรกิจของที่บ้าน เช่น ประสานงาน ติดต่อราชการ ตั้งแต่สมัยที่พวกเขายังเรียนอยู่ เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือลงมือทำด้วยตนเองนั้นเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ส่วนในเรื่องการเรียนหนังสือไม่ได้บังคับว่าลูกจะต้องเรียนคณะอะไร แต่ขอให้มีจุดมุ่งหมายในการเรียนว่าจะนำความรู้อะไรมาปรับใช้ในชีวิตและการทำงาน”

คุณวันวิสา อุดล สิงห์ดำ รุ่น 41คุณวันวิสา อุดล สิงห์ดำ รุ่น 41

คุณแม่สุพรรณรัศมิ์ส่งเสริมให้ลูกๆ ทำกิจกรรมนอกหลักสูตรเพื่อเพิ่มพูนทักษะการใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับผู้อื่น คุณนิด วันวิสา อุดล บุตรสาวคนที่ 3 ศิษย์เก่าสิงห์ดำจากคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ บริหารงานคลัง รุ่นที่ 41 อดีตผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ประทับใจจากการทำกิจกรรมในจุฬาฯ ว่า

“เหตุการณ์ที่จำได้แม่นคือตอนปี 4 ต้องนั่งรถไฟชั้น 3 ไปซีเนียร์ทริปที่จังหวัดเชียงใหม่ ตอนนั้นแอบรู้สึกทรมานมาก แต่เมื่อผ่านมาได้ก็รู้สึกดีเพราะเราได้ทำความรู้จักกับเพื่อนๆ ที่อาจจะเคยเห็นหน้ากันแต่ไม่เคยได้คุยกัน ทำให้รู้ว่าถึงแม้จะมาจากต่างที่มาแต่เมื่อมาอยู่รวมกัน ผ่านความลำบากด้วยกัน เพื่อนๆทุกคนก็รักใคร่และช่วยเหลือกันไม่มีใครแบ่งแยก ซึ่งความมีน้ำใจและการเกื้อกูลผู้อื่นเป็นสิ่งที่นิดและทุกคนในบ้านได้มาจากการเรียนที่จุฬาฯ และนำมาปรับใช้กับการทำงานและการใช้ชีวิตจนถึงทุกวันนี้”

คุณบุษบา มัยลาภ บัญชี SHI 53 คุณบุษบา มัยลาภ บัญชี SHI 53

นอกจากความอบอุ่นใจจากเพื่อน สายสัมพันธ์แห่งรุ่นพี่-รุ่นน้องเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับจุฬาฯ เสมอมา คุณนุช บุษบา มัยลาภ บัณฑิตจากคณะพาณิชยศาสตร์ฯ รุ่นที่ 53 บุตรสาวคนสุดท้องของคุณแม่สุพรรณรัศมิ์ กล่าวว่า “เมื่อนึกถึงจุฬาฯ ก็จะเห็นภาพงานรับน้อง งานเลี้ยงส่งรุ่นพี่ ขึ้นมาตลอด เพราะคณะบัญชีเราอยู่กันเป็นกลุ่มโดยมีนิสิตชั้นปี 1 ถึงปี 4 อยู่ด้วยกัน ทุกคนก็ต้องเตรียมการแสดงเพื่อให้รุ่นพี่ดูทุกชั้นปี เป็นกิจกรรมที่ทำแล้วตลกสนุกสนาน วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ทุกปี”

การเรียนรู้ศิลปะการทำงานกับคนหลากหลายประเภทก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ได้จากรั้วจุฬา ฯ คุณนุช อดีต Management Trainee ของ HSBC และมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ประเทศอังกฤษ เล่าว่า “ในโลกของการทำงานจริงๆ แต่ละแผนกก็จะมีคนทำงานหลากหลายวัย ที่คณะบัญชีแต่ละกลุ่มจะทำให้เรามีรุ่นพี่ขึ้นไป 4 ชั้นปีและรุ่นน้องลงมาอีก 4 ชั้นปี ทำให้เราคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตกับคนหลายเจนเนอเรชันตั้งแต่สมัยเรียน”

คุณนิดเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า การรับผิดชอบตัวเองคือสิ่งที่ทุกคนในบ้านได้รับการหล่อหลอม ขณะเรียนในรั้วจุฬาฯ และนำมาต่อยอดในการใช้ชีวิตการทำงานจนถึงปัจจุบัน “สมัยนั้นไม่มีการเช็คชื่อเข้าห้องเรียนแต่ทุกคนก็รู้จักหน้าที่ของตนเองได้ดี ไม่คิดแข่งขันกับผู้อื่น แต่ตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด และยังเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนๆ แบ่งเลกเชอร์กันอ่าน จับกลุ่มกันติวจนเรียนจบไปพร้อมๆ กัน”

นอกจากการรู้หน้าที่ของตนเองแล้ว สิ่งที่ทำให้สมาชิกครอบครัวบ้านศิริหงษ์ ประสบความสำเร็จคือการการวางรากฐานด้านการเรียนที่ดีให้กับลูกๆ คุณนุชเล่าว่า “เรื่องการทำงานคุณแม่จะพาไปลูกๆ ไปดูการทำงานตลอดเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกๆ ทุกคนเลือกเรียนในสิ่งที่จะมาช่วยคุณแม่ทำงานได้อนาคต”

“แม่เป็นนักสู้และนักแก้ปัญหามาตลอด และมักจะบอกให้ลูกตลอดว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ เช่นในการทำธุรกิจที่มักจะมีปัญหามาให้ท้าทายตลอดคุณแม่ก็ยิ้มสู้” คุณเล็กกล่าว

คุณเล็ก ทิพย์สุดา ศิริกุล สิงห์ดำ รุ่น 38คุณเล็ก ทิพย์สุดา ศิริกุล สิงห์ดำ รุ่น 38

จากการสั่งสอนผ่านการทำงานของคุณแม่สุพรรณรัศมิ์ ทำให้เรื่อง “ความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค” กลายเป็นคุณค่าประจำครอบครัวนี้ คุณเล็ก ทิพย์สุดา ศิริกุล ลูกสาวคนรอง ศิษย์เก่าสิงห์ดำ คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รุ่น 38 จากนั้นจึงเรียนปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน กลับมาทำงานด้านการตลาด ให้กับบริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ก่อนที่มาช่วยธุรกิจของคุณแม่

“พี่ต้องย้ายเพื่อติดตามสามีซึ่งรับราชการกระทรวงการต่างประเทศอยู่บ่อยๆ ทั้งประเทศเม็กซิโก นอร์เวย์ และ สิงคโปร์ ซึ่งการย้ายไป-มา ระหว่างเมืองไทยและต่างประเทศที่ใช้ภาษาไม่เหมือนกันนั้นถือเป็นอุปสรรคด้านการเรียนของลูกๆ ไม่น้อย … แรกๆ ก็เหนื่อยเหมือนกัน อย่างตอนน้องกลับมาเรียนที่เมืองไทยตอน ป.4 ต้องเรียนประวัติศาสตร์ เรื่องพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จตุสดมภ์ ในขณะที่ลูกเรายังสะกดคำเหล่านั้นไม่ได้เลย ต้องเรียนรู้สู้กันเป็นคำๆ ไป” คุณเล็กเล่า

พรศิริ ศิริกุล นิเทศ รุ่น 51 (อินเตอร์) พรศิริ ศิริกุล นิเทศ รุ่น 51 (อินเตอร์)

ถึงแม้จะต้องปรับตัวกับการเรียนที่ต่างกันในหลายประเทศ น้องเอริน พรศิริ ศิริกุล ลูกสาวคนโตของคุณเล็ก ก็สามารถผ่านด่านทดสอบจนได้เข้ามาเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ รุ่นที่ 51 ภาคอินเตอร์ฯ และคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาได้ ทั้งยังเป็นนักกิจกรรมตัวยง ผ่านทั้งการเป็นผู้นำบ้านรับน้องหรือที่เด็กๆ เรียกกันว่าติดปากแม่บ้าน ประธานฝ่ายประสานงานฟุตบอลประเพณีฯ นางเอกละครเวทีของรุ่นพี่ที่คณะ ฯลฯ

เคล็ดลับทำในการทำหลายสิ่งในเวลาเดียวกันให้ประสบความสำเร็จของน้องเอริน คือการรู้จักแบ่งเวลา รับผิดชอบหน้าที่ของตนเองซึ่งได้รับการปลูกฝังจากคุณแม่และคุณยายเสมอมา “คุณยายเป็นคนฉลาดสอนโดยเฉพาะเรื่องการมีเป้าหมายในชีวิต ในขณะที่คุณแม่ก็เปิดโอกาสให้เอรินได้เรียนในสิ่งที่สนใจ เช่น ด้านศิลปะ ถึงแม้คุณแม่จะไม่ถนัดแต่ก็ให้การสนับสนุน ขออย่างเดียวคือเมื่อเลือกแล้ว ไม่ว่าเจอปัญหาอะไรก็ต้องสู้กับมันให้ได้ เอาชนะอย่ายอมแพ้และล้มเลิกกลางคัน” น้องเอรินกล่าว

zgg8gglq.jpeg

บรรยากาศความรักความผูกพันของครอบครัวขณะที่เรียนที่จุฬาฯ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พี่น้องบ้านศิริหงษ์ ยังจำได้ไม่ลืมเลือน “พวกเรารู้จักสถานที่และร้องเพลงจุฬาฯ ได้ ก่อนที่จะได้เข้ามาเรียนที่นี่เสียอีก เพราะพี่จอย (คุณจิตรลดา ศิริหงษ์) พี่สาวคนโต เข้าเรียนที่คณะบัญชีเหมือนกัน เมื่อปี พ.ศ. 2526 พี่จอยจะชี้ชวนและเล่าเรื่องราวในจุฬาฯ ให้น้องๆ ฟัง บนรถของคุณพ่อที่จะมารับมาส่งพวกเราทุกวัน ตอนพี่จอยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเชียร์ลีดเดอร์ของคณะ ก็จะเปิดเพลงต่างๆ ของจุฬาฯ ตลอด ในสมัยนั้นยังเป็น เทปคาสเซทอยู่ก็เปิดวนไปเรื่อยๆ จนเทปยืด ทำให้น้องๆ ทุกคน สามารถร้องตามได้อัตโนมัติ” คุณนุชฉายภาพอดีตอย่างแจ่มจัด

และนี่คืออีกหนึ่งความทรงจำที่น่าประทับใจ จากสมาชิกทุกคนในบ้านศิริหงษ์เห็นตรงกัน คือ ความอบอุ่นและเอาใจใส่ลูกๆ ของคุณแม่สุพรรณรัศมิ์ ที่เป็นทั้ง “ผู้หญิงทำงาน”ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ “แม่” ที่คอยสนับสนุนและอยู่เคียงข้างลูกๆ ในทุกเหตุการณ์สำคัญของชีวิต และส่งมอบแนวคิดการใช้ชีวิตที่ดีงามให้กับลูกและหลานตลอดมา

780023

“รู้สึกภูมิใจและอิ่มใจทุกครั้งที่เห็นลูกๆ รับปริญญาที่จุฬาฯ เพราะเป็นสถาบันที่เราให้ความเคารพและรักเหมือนเป็นอีกหนึ่งครอบครัว” คุณแม่สุพรรณรัศมิ์ กล่าวทิ้งท้าย

เรื่อง : อภิชัย ไทยเกื้อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook