กาแล็กซีทางช้างเผือก อาจไม่ได้แบนราบอย่างที่คิด

กาแล็กซีทางช้างเผือก อาจไม่ได้แบนราบอย่างที่คิด

กาแล็กซีทางช้างเผือก อาจไม่ได้แบนราบอย่างที่คิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักดาราศาสตร์เผยภาพแบบจำลอง 3 มิติ ของกาแล็กซีทางช้างเผือก ที่มีลักษณะขอบจานของกาแล็กซีบิดโค้งไปมา ไม่แบนเรียบเหมือนที่นักดาราศาสตร์เคยเข้าใจในอดีต

 

นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ พัฒนาแบบจำลอง 3 มิติ ของกาแล็กซีทางช้างเผือกขึ้นใหม่ จากข้อมูลการสังเกตการณ์ในโครงการ Optical Gravitational Lensing Experiment โดยการศึกษาการจายตัวของมวลสารภายในกาแล็กซีทางช้างเผือก ด้วยวิธีการวัดตำแหน่งการกระจายตัวของดาวแปรแสงเซเฟอิด (Cepheid variable star) กว่า 2,431 ดวง

แบบจำลองดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ดาวแปรแสงเซเฟอิด ไม่ได้มีการกระจายตัวในแผ่นจานกาแล็กซีสม่ำเสมอกันตลอดทั้งแผ่น แต่ยังมีการกระจายตัวออกแนวแผ่นจานบริเวณขอบของกาแล็กซีอีกด้วย จึงทำให้นักดาราศาสตร์เชื่อว่า กาแล็กซีทางช้างเผือกของเราไม่ได้มีลักษณะเป็นแผ่นจานแบนเรียบสม่ำเสมอเหมือนที่เคยเข้าใจในอดีต แต่กลับมีรูปร่างบิดโค้งงอบริเวณขอบของกาแล็กซี

ดาวแปรแสงเซเฟอิด เป็นดาวฤกษ์ยักษ์ที่มีความสว่างสูงกว่า 100 - 1000 เท่าของดวงอาทิตย์ จึงเป็นวัตถุท้องฟ้าที่นักดาราศาสตร์ให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากง่ายต่อการสังเกตการณ์และสามารถระบุตำแหน่งในกาแล็กซีได้อย่างแม่นยำ ถึงแม้อยู่ในระยะที่ห่างไกลหรือมีกลุ่มฝุ่นแก๊สในอวกาศมาบดบัง

งานวิจัยดังกล่าว นอกจากจะสร้างความประหลาดใจต่อนักดาราศาสตร์เป็นอย่างมากแล้ว ยังทำให้เกิดคำถามที่ตามมาอีกว่า “ลักษณะขอบจานกาแล็กซีที่บิดโค้งเกิดมาจากสาเหตุใด” ซึ่งปัจจุบัน แม้ยังไม่มีคำตอบที่สามารถฟันธงและอธิบายธรรมชาติของมันได้อย่างชัดเจน แต่นักดาราศาสตร์บางคนให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า การบิดโค้งของขอบจานกาแล็กซีอาจเกิดจากแรงโน้มถ่วงภายในกาแล็กซีที่อ่อนแรงลง จนทำให้ดาวฤกษ์หรือมวลสารบริเวณขอบไม่สามารถรักษาสมดุลเอาไว้ได้ หรืออาจเกิดจากแรงกระทำจากปัจจัยอื่นภายนอก เช่น สสารมืด กาแล็กซีข้างเคียง หรือกลุ่มแก๊สโดยรอบกาแล็กซีทางช้างเผือก จึงส่งผลให้ขอบจานกาแล็กซีบิดโค้งไปมาตามที่ปรากฏในแบบจำลอง

เรียบเรียง : เจษฎา กีรติภารัตน์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook