ยอดไอเทมแห่งยุค ที่วิวัฒนาการมาจนทุกวันนี้
ความสะดวกสบายของทุกชีวิตในปัจจุบันนี้ ทั้งการใช้ชีวิต ความบันเทิงเริงรมย์ต่าง ๆ ล้วนมีที่มาดั้งเดิมแต่ต้นทั้งนั้น เทคโนโลยีทุกอย่างที่ผ่านไม้ผ่านมือเราอยู่ในทุกวันนี้ล้วนมีที่มาที่ไปและจุดกำเนิดหรือแนวคิดขึ้นมานานแล้ว และแน่นอนว่าในอดีตความเป็นไปได้ของเทคโนโลยียังไม่สามารถรังสรรค์ได้ดีเยี่ยมเท่าตอนนี้ จากช่วงต้น ๆ ของยุค 2000 ที่ในตอนนั้นหลายคนคิดว่าเทคโนโลยีตอนนั้นสมบูรณ์แบบแล้ว แต่เมื่อมาในวันนี้วิทยาการใหม่ ๆ กลับยิ่งทำได้ดีกว่าเดิมยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ไปดูพร้อมกับเราเลยดีกว่าว่ามีไอเทมหรือเทคโนโลยีใดบ้างที่มีบรรพบุรุษถือกำเนิดมายาวนานจากอดีต และวิวัฒนาการผ่านช่วงเวลาจนออกมาดีอย่างที่เราใช้กันอยู่ได้เท่าทุกวันนี้
อินเทอร์เน็ต
ในยุคของการใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงแรกเริ่มของไทย ตอนนั้นจะเป็นการต่อโมเด็มโดยการแปลงสัญญาณอนาล็อกเป็นดิจิทัลผ่านสายโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ การใช้งานส่วนใหญ่เป็นการซื้อบัตรอินเทอร์เน็ตรายชั่วโมงมาขูดเอาพาสเวิร์ดไปกรอกเพื่อเชื่อมต่อ และทุกการเชื่อมต่อจะมีเสียงที่คุ้นหูกันดีของคนในยุคนั้น ความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตตอนนั้นสูงสุดที่ 56 Kbps ที่สำคัญขณะใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์ หากมีการใช้โทรศัพท์บ้านหรือมีคนโทรเข้ามาอินเทอร์เน็ตจะหลุดทันที
ในยุคถัดมาเป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโมเด็มแบบ ADSL ซึ่งใช้สายโทรศัพท์เหมือนเดิมต่างเพียงแค่ไม่จำเป็นต้องงดใช้โทรศัพท์ระหว่างเชื่อมต่อแล้ว ในส่วนของความเร็วขึ้นมาจากยุคแรกมากพอสมควรคือมีความเร็วดาวน์โหลดที่ประมาณ 8 Mbps อีกทั้งยังเป็นยุคของการใช้อินเทอร์เน็ตแบบจ่ายรายเดือน และหลังจากนั้นได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นแบบ VDSL สำหรับใช้กับอาคารซึ่งมีความเร็วเฉลี่ยที่ 100 Mbps แต่ราคาแพงจึงเหมาะกับสำนักงานมากกว่า
จนมาสู่ยุคของ Cable ซึ่งมีความแข็งแรงทนทานและถูกรบกวนสัญญาณได้น้อยกว่า ADSL ซึ่งในช่วงนี้การแข่งขันของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีค่อนข้างสูงราคาจึงถูก
และในยุคปัจจุบันที่มีการใช้ใยแก้วหรือไฟเบอร์ออปติกช่วยเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วแบบความเร็วแสง ซึ่งสามารถติดตั้งได้ทุกที่(ที่เดินสายไปถึง) ให้เราได้สัมผัสกับยุคอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบเต็มอิ่ม โดยในปัจจุบันมีแพคเกจความเร็วมากสุดถึง 1 Gbps แล้ว
Music Player
ในยุคนี้ หากใครอยากฟังเพลงที่ต้องการก็เพียงแค่เปิดแอปพลิเคชันมิวสิคสตรีมมิ่งหรือยูทูบแล้วเสิร์ชหาเพลงนั้นเป็นอันจบ แต่ในอดีตนั้นการฟังเพลงนับว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่าตอนนี้มาก และแม้จะมีความยุ่งยากแต่หากนึกย้อนไปก็เป็นความทรงจำที่หอมหวานอยู่ไม่น้อย
ในช่วงของการฟังเพลงที่มีเครื่องเล่นแบบพกพา ในสมัยนั้นการฟังเพลงที่นอกจากการรับฟังจากเครื่องวิทยุ AM/FM แล้ว การฟังเพลงของศิลปินที่ชื่นชอบคือการซื้อ เทปคาสเซ็ท ซึ่งเป็นเพลงลิขสิทธิ์แท้มีจำหน่ายตามร้านที่มีอยู่ทั่วไป เพื่อนำไปใส่เครื่องเล่นเพลงแบบพกพาหรือ ซาวน์เบาท์ ซึ่งสมัยนั้นใครพก ซาวน์เบาท์ เดินฟังเพลงจะถือว่าเท่มาก และยิ่งไปกว่านั้น ซาวน์เบาท์ วอล์คแมน จากยี่ห้อโซนี่ ถือว่าเป็นที่นิยมอย่างมาก
เมื่อยุคของเทปคาสเซ็ทเริ่มซาลงด้วยการมาถึงของ CD ที่มีมากขึ้น ผู้คนจึงให้ความสนใจกับ เทปคาสเซ็ท น้อยลงและหันไปซื้อเพลงในรูปแบบ CD กันมากขึ้นรวมถึงเครื่องเล่น CD ที่เป็นเครื่องเล่นให้ความบันเทิงที่มีอยู่ทุกที่ทั้งที่บ้านและบนรถ
ถัดจากช่วงของ CD คือการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของความเป็นดิจิทัล อย่างไฟล์เพลงแบบ mp3 ซึ่งแพร่หลายอย่างมาก โดยมีการละเมิดลิขสิทธิ์กันมากมายในยุคนั้น ส่วนเครื่องเล่นเพลงก็คือเครื่อง mp3 พกพาขนาดเล็กที่แค่อยากจะฟังเพลงอะไรก็ทำการโอนไฟล์เข้าไปได้เลย ความจุของจำนวนเพลงก็ขึ้นอยู่กับตัวหน่วยความจำของเครื่องนั้น และในยุคนี้ Sony Walkman ก็ยังเป็นเครื่องเล่นที่ครองตลาดคนส่วนมากอยู่
ตลอดจนการเข้ามามีบทบาทของ Apple ที่ส่ง iPod เข้ามาตีตลาดเครื่องเล่นเพลงพกพาและได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เนื่องจากดีไซน์ที่โดนใจ รวมถึงการใช้งานที่เสริมภาพลักษณ์ให้กับผู้ใช้งาน
แต่ปัจจุบัน iPod ได้ถูกลดทอนความสำคัญไปจนแทบจะสิ้นแล้ว เนื่องจากเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนที่สามารถเป็นทุกอย่างได้ในโทรศัพท์เครื่องเดียว จึงไม่มีความจำเป็นในการพกเครื่องเล่นเพลงอีกต่อไป
การเก็บข้อมูลของผู้ใช้ทั่วไป
เด็ก ๆ หรือวัยรุ่นในสมัยนี้ คงไม่คุ้นชื่อกับแผ่น Floppy Disk ซึ่งเป็นอุปกรณ์บันทึกข้อมูลคอมพิวเตอร์แบบพกพาในช่วงแรก ๆ ซึ่งมีความจุมากที่สุดเพียง 1.4 MB ต่อแผ่นเท่านั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่เด็กนักเรียนจะใช้บันทึกไฟล์งานเอกสารเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ฟลอปปี้ดิสก์ นั้นเหมาะสำหรับการย้ายข้อมูลมากกว่า ไม่เหมาะสำหรับบันทึกข้อมูลในระยะยาวเพราะพังง่าย
และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันไม่นานอีกสิ่งหนึ่งที่ใช้บันทึกข้อมูลก็คือ แผ่น CD ซึ่งมีความจุที่มากกว่าฟลอปปี้ดิสก์และทนทานกว่า ซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายในหลากวงการทั้งเกม หนัง การเก็บข้อมูล
ในยุคที่ทุกอย่างเล็กลง การเก็บข้อมูลยอมรับการเข้ามาของ Flash Drive หรือ Thumb Drive เป็นอุปกรณ์ชิ้นเล็กเท่าหัวแม่โป้งมือ แต่กักเก็บข้อมูลได้เยอะ ตั้งแต่ระดับ 128 MB เติบโตไปจนถึงระดับ กิ๊กกะไบท์ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีการใช้ External Harddisk ซึ่งเก็บข้อมูลได้มากถึงระดับ เทเลไบท์ แต่ขนาดก็ต้องใหญ่ขึ้นมา เหมาะสำหรับการเก็บไฟล์ข้อมูลขนาดใหญ่
จนเข้ามาสู่ยุครุ่งเรืองของอินเทอร์เน็ต การเก็บข้อมูลและความนิยมของ Flash Drive และ External Harddisk ก็ยังคงมีอยู่ แต่ในยุคนี้ได้มีการเข้ามามีบทบาทของการเก็บข้อมูลแบบระบบ Cloud Storage ซึ่งไม่ใช่การส่งข้อมูลขึ้นไปเก็บไว้บนก้อนเมฆ อย่าเข้าใจผิด
การเก็บข้อมูลแบบ คลาวด์ คือการส่งข้อมูลโดยใช้อินเทอร์เน็ตโดยเว็บไซต์ผู้ให้บริการซึ่งมีอยู่หลายเจ้า โดยส่วนใหญ่เปิดให้ใช้บริการฟรีในขนาดจำกัด หากต้องการเก็บข้อมูลเป็นจำนวนมากก็ต้องมีการชำระเงินแบบรายเดือน
โทรศัพท์มือถือ
ไม่ใช่เรื่องแปลกตาที่ตอนนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็มักจะเห็นคนเดินถือสมาร์ทโฟนอยู่ในมือ ซึ่งในโทรศัพท์เครื่องเดียวสามารถทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่าแค่การโทรออกหรือรับสายเพียงอย่างเดียว
ก่อนกาลที่จะมีโทรศัพท์มือถือให้ใช้กันอย่างสะดวกสบายเท่าทุกวันนี้ หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ เพจเจอร์ อุปกรณ์รับข้อความขนาดกะทัดรัดที่พกพาสะดวก ซึ่งการใช้งานเบื้องต้นคือการโทรศัพท์ต่อสายถึงผู้ให้บริการเพื่อฝากข้อความถึงเครื่องของผู้รับ
จนช่วงต้นของยุค 90’s ความสำคัญของเพจเจอร์ได้หายไป เด็ก ๆ ส่วนใหญ่นิยมใช้บริการตู้โทรศัพท์สาธารณะแบบหยอดเหรียญ ซึ่งในยุคนั้นใครจะโทรต้องต่อแถวเพื่อใช้งานและหากคุยนานอาจถูกคนที่ต่อแถวอยู่มองค้อนเอาได้ และผู้ใหญ่ในยุคนั้นจะมีโทรศัพท์มือถือเครื่องใหญ่เท่าสากกะเบือ หน้าจอเล็กเพียงไม่กี่นิ้วไว้สำหรับมองเห็นเบอร์โทรที่กดเท่านั้น อีกทั้งยังราคาสูงต้องคนที่มีฐานะดีเท่านั้นถึงนิยมใช้
และต่อมาก็เข้าสู่ยุคโทรศัพท์มือถือที่แข่งกันเรื่องขนาดที่เล็กลง โดยในยุคนี้รุ่นยอดฮิตต้องยกให้ Nokia 3310 ที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างมาก ด้วยขนาดพอดีมือพกพาสะดวก จุดเด่นของโทรศัพท์มือถือยุคนั้นคือ การส่งข้อความได้ด้วยการพิมพ์ด้วยแป้นตัวเลข มีเกมให้เล่น
จนเริ่มเข้าสู่ยุคของโทรศัพท์จอสี ที่ถึงแม้จะมีรายละเอียดเพียงน้อยนิดถ้าเทียบกับตอนนี้ แต่นับว่าเป็นการมาที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างมาก หลากหลายยี่ห้อต่างแข่งขันกันออกแบบรูปทรงให้เข้ากับยุคสมัยเพราะการพกโทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยหนึ่งของการส่งเสริมภาพลักษณ์บุคคลที่มีอิทธิพลสูงมาก ซึ่งมี Nokia, Motorola ที่แข่งขันคู่คี่กันมาเต็มที่
และในยุคหนึ่ง โทรศัพท์มือถือเริ่มมีฟังก์ชั่นการฟังเพลง ถ่ายรูป เข้ามา เจ้าตลาดในช่วงนี้ยังตกเป็นของ Nokia, Sony เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรุ่นไหนถ่ายวิดีโอได้จะยิ่งได้รับความนิยมอย่างสูง
จนมาถึงช่วงหนึ่งของยุคที่โทรศัพท์มือถือมีแผงคีย์บอร์ดและส่งอีเมลได้อย่างรวดเร็ว และมีฟังก์ชั่นการแชตที่ได้รับความนิยมอย่างมากถึงมากที่สุด โดยยี่ห้อ BlackBerry ซึ่งโดยแรกเริ่มโทรศัพท์ยี่ห้อนี้เป็นที่นิยมของนักธุรกิจ แต่ด้วยข้อดีของการแชตและส่งข้อความอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ความนิยมแพร่กระจายสู่สังคมวัยรุ่นอย่างรวดเร็ว
จวบจนช่วงปี 2007 Apple ทำการเปิดตัว iPhone รุ่นแรก โดยป่าวประกาศออกวงกว้างว่าเป็น Mobile Application คือมีการใช้ซอฟต์แวร์บนมือถือและความโดดเด่นของจอสัมผัสที่ไม่เหมือนใคร คล้ายกับการใช้คอมพิวเตอร์ขนาดย่อมในมือเลยก็ว่าได้ และจากนั้นเทรนด์ของมือถือก็เข้าสู่กระแสของการมีหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น สามารถใช้ซอฟต์แวร์ได้มากขึ้น ดูหนัง ฟังเพลง และที่สำคัญสามารถท่องโลกอินเทอร์เน็ตและยิ่งมาพร้อมกับการเติบโตของโซเชียลมีเดียอย่างในทุกวันนี้ หล่อหลอมออกมาเป็นสมาร์ทโฟนอย่างในทุกวันนี้