การปฏิบัติตัวรับมือเมื่อประสบเหตุอุทกภัย

การปฏิบัติตัวรับมือเมื่อประสบเหตุอุทกภัย

การปฏิบัติตัวรับมือเมื่อประสบเหตุอุทกภัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์น้ำท่วมในตอนนี้กำลังส่งผลอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้หลายจังหวัดยังประสบปัญหาแล้งจัด แต่เมื่อได้พบกับพายุฝนฟ้ากระหน่ำล่าสุดทำให้น้ำท่วมขังหนัก โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่นที่ประสบกับน้ำท่วมฉับพลันหนักสุดในรอบ 40 ปี จากพายุ โพดุล ที่พัดถล่มทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

หลากหลายครัวเรียนประสบกับปัญหาน้ำไหลหลากฉับพลัน เก็บข้าวเก็บของกันแทบไม่ทัน เป็นเหตุให้ชาวบ้านจำนวนมากต้องอพยพชั่วคราวอย่างเร่งด่วน จากเหตุน้ำท่วมฉับพลันครั้งนี้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินและชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก

ไม่ว่าจะด้วยความโกลาหลหรือความไม่รู้ ทำให้ผู้ประสบเหตุอาจไม่คำนึงถึงความปลอดภัยมากนัก เป็นผลให้เกิดเหตุร้ายอื่น ๆ ตามมาได้ ซึ่ง Tonkit360 มีวิธีเบื้องต้นมาบอกกล่าวหากตัวของคุณเองประสบกับเหตุน้ำท่วมฉับพลัน เพื่อความปลอดภัยและการเอาตัวรอดเบื้อต้น และไม่เสี่ยงกับอันตรายอื่น ๆ

ติดตามข่าวสาร

หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลากและประสบกับฝนตกตลอดวัน ควรติดตามรับฟังเหตุแจ้งเตือนระดับน้ำจากอย่างใกล้ชิด และฟังการแนะนำข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ไม่ควรนิ่งนอนใจ และหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติตามธรรมชาติ หากระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้นหรือมีสีขุ่น ควรเตรียมความพร้อม

จัดเตรียมสิ่งของ

หากอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เช่น พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ ควรเตรียมกระสอบทรายเพื่อกั้นมวลน้ำเพื่อกันความเสียหายของทรัพย์สินเบื้องต้น จัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็นเพื่อยังชีพในกรณีฉุกเฉินได้โดยเฉพาะเครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรคประจำตัว ยาสามัญ ไม้ขีดไฟ เทียนไข นกหวีด(จำเป็นมากในกรณีพลัดหลง) อีกทั้งตระเตรียมเอกสารสำคัญระบุตัวตนใส่ห่อพลาสติกเพื่อพกติดตัวไว้ด้วย เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน

นอกจากนี้ ควรเตรียมอุปกรณ์ที่สามารถใช้ลอยน้ำได้ เช่น ยางรถยนต์ แกลลอนพลาสติก ลูกมะพร้าว เพื่อใช้พยุงตัวเหนือน้ำกรณีฉุกเฉินได้

อันตรายที่มองไม่เห็น

นอกจากการเตรียมข้าวของเครื่องใช้ขึ้นบนที่สูงแล้ว สิ่งที่สำคัญมากอีกหนึ่งอย่างคือการตัดกระแสไฟฟ้า ไม่ใช้หรือสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าในขณะที่ร่างกายเปียกน้ำ ไม่ควรเข้าใกล้แนวสายไฟเนื่องจากอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่วอยู่ อีกทั้งไม่ควรเสี่ยงชีวิตโดยการลุยน้ำ เพราะถึงจะคุ้นเคยกับพื้นที่ดรอยู่แล้ว แต่ในขณะที่น้ำท่วมอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลอยู่ใต้น้ำ หรือกระแสน้ำอาจแรงจนพัดได้ ทางที่ดีคือการอยู่บนที่สูงและรอการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่เท่านั้น

การต่อรองกับญาติผู้ใหญ่

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจอย่างหนึ่งคือ ผู้สูงอายุอาจมีความผูกพันแน่นแฟ้นหรือเป็นห่วงทรัพย์สินส่วนตัวต่าง ๆ หรือพื้นที่ของตนเอง ซึ่งมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ว่า ปู่ ย่า ตา ยาย ไม่ยอมหนีออกจากบ้านพร้อมกับครอบครัวเพราะเป็นห่วงของ ซึ่งกรณีนี้อาจสร้างความยุ่งยากในการจัดการให้ลุล่วง หากมีโอกาสและเวลาให้เกลี้ยกล่อมด้วยคำพูดดี ๆ บอกเหตุผลที่ดีว่าทำไมเขาจึงควรย้ายออกไปก่อนในตอนนี้ หรือหากท่านยังดื้อดึงใช้ไม้อ่อนแล้วไม่งอข้อก็ควรใช้ไม้แข็ง(เพราะความจำเป็น) อุ้มท่านขึ้นรถหรือเรือไปเลย ณ นาทีนั้นการเอาชีวิตรอดหลีกเลี่ยงทุกความเสี่ยงคือทางออกที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตามแม้พายุโพดุลจะอ่อนกำลังและพัดผ่านในไม่ช้านี้ แต่ประเทศไทยกำลังจะพบกับพายุระดับ2 หรือ พายุดีเปรสชั่น ซึ่งจะพัดเข้าสู่ไทยในประมาณวันที่ 3 ก.ย. นี้ สิ่งที่ควรทำคือการเฝ้าติดตามข่าวสารจากกรมอุตุฯอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมหากเสี่ยงกับน้ำท่วม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook