ทุน Erasmus + ทุนฟรีจากสหภาพยุโรป อยากเรียนต่อบอกเลยว่าห้ามพลาด

ทุน Erasmus + ทุนฟรีจากสหภาพยุโรป อยากเรียนต่อบอกเลยว่าห้ามพลาด

ทุน Erasmus + ทุนฟรีจากสหภาพยุโรป อยากเรียนต่อบอกเลยว่าห้ามพลาด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อีราสมุส (Erasmus) เป็นชื่อของนักปราชญ์ชาวดัชต์ ในศตวรรษที่ 15 เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์ที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาเขาเป็นบรรณาธิการคนแรกที่บรรณาธิกรณ์ พระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่และวรรณกรรมคลาสสิกต่างๆ แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคืองานเขียนด้านการศึกษาของเขามีส่วนท้าทายการสอนศาสนาในขณะนั้น ทำให้เขากลายเป็นเป้าหมายของกลุ่มหัวรุนแรงที่สงสัยในคำวิพากษ์วิจารณ์การสอนแบบเก่า แต่สำหรับผู้ที่เห็นคุณค่าเสรีภาพและศักยภาพของมนุษย์ งานเขียนของเขามีส่วนช่วยในการเปลี่ยนหลักสูตรวิชาการแบบเก่าให้หันมาเน้นวิธีคิดมนุษยนิยมใหม่

ปรัชญาและวิธีคิดเชิงวิพากษ์ของเขาจึงเป็นแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อทุนการศึกษาและวิจัยของสหภาพยุโรป Erasmus+ ที่มีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้และค้นคว้าวิจัยที่จะช่วยพัฒนา องค์ความรู้ต่างๆ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป Erasmus+ เป็นโครงการของสหภาพยุโรปที่เปิดตัวเพื่อสนับสนุนการศึกษา การเรียนการสอน และการทำวิจัยในยุโรปสำหรับทั่วโลก และที่สำคัญทุนนี้เป็นทุนให้เปล่า

“สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ คนยุโรปเป็นคนที่ใฝ่รู้ รักการอ่าน และหาข้อมูลตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะจากการเรียนหนังสือ แต่เป็นการใฝ่รู้หาข้อมูลเสมอ ดังนั้นความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปการให้ทุน การศึกษาแก่คนยุโรปในอดีตเพื่อไปศึกษาในประเทศอื่นๆ ภายในเครือข่ายสหภาพยุโรปและกระจายออกมายังประเทศอื่นในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า งบประมาณทางด้านการศึกษาของสหภาพยุโรปโดยเฉพาะการสนับสนุนความร่วมมือทางการศึกษาจึงไม่เคยได้รับการต่อต้านจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเลย เพราะยิ่งกระจายทุนออกนอกยุโรป ก็ทำให้ประเทศในยุโรปได้เรียนรู้จากโลกภายนอก และเสริมสร้างความร่วมมือจากประเทศที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ” คุณฉายดรุณ ทิพวรรณ ประธานศิษย์เก่านักเรียนทุน อีราสมุสแห่งประเทศไทย และศิษย์เก่าสิงห์ดำ จุฬาฯ กล่าว

ในฐานะผู้ได้รับทุนจากโครงการอีราสมุส ไปศึกษาปริญญาสาขายุโรปศึกษา (European Studies) คุณฉายดรุณ กลับมาทำงานในแวดวง การศึกษาต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ได้ร่วมงานกับภาคีระดับนานาชาติ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการ USAC (University Studies Abroad Consortium) ของประเทศไทย โดยตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาคุณฉายดรุณช่วยสหภาพยุโรปประชาสัมพันธ์และดูแลนักเรียนไทยที่ได้ทุนไปศึกษาต่อ รวมทั้งสร้างเครือข่ายนักเรียนทุนและนักวิจัยภายใต้ครอบครัวอีราสมุส โดยจะจัดงาน “Erasmus+ เพิ่มพลังวิจัย เสริมกำลังวิชาการ” ในวันที่ 17 กันยายนนี้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

“สหภาพยุโรปได้จัดเวทีลักษณะนี้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคมาตลอด 10 ปีแล้ว แต่งานนี้เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นที่จุฬาฯ เพราะเห็นว่ามีจำนวนอาจารย์และนิสิตนักศึกษาที่มีศักยภาพและสนใจอยากเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ เราคาดหวังให้นักวิจัยเจ้าหน้าที่และนิสิตที่อยากจะเพิ่มศักยภาพงานวิชาการ และสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นในยุโรปตลอดจนนิสิตนักศึกษาที่อยากขยายโอกาสในการเรียนต่อต่างประเทศในทุกสาขา”

วัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งของทุนนี้ก็คือ การทำให้มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการมีความทันสมัยโดยมีการบูรณาการระดับภูมิภาค การประกันคุณภาพ การทำให้ระบบการบริหารจัดการมีความเป็นสากล ซึ่งการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับยุโรปจะช่วยให้การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอน และการวิจัยให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

รศ.สพ.ญ.ดร.รสมา ภู่สุนทรธรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีโอกาสได้ทุนความร่วมมือด้านวิจัยเมื่อ 2 ปีที่แล้วกับคณะสัตวแพทย์ที่ Ludwig-Maximilian Munich University สหพันธรัฐเยอรมันนี เล่าว่า “เราเริ่มไปดูงาน 2 สัปดาห์กับผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์เล็ก โดยมีเป้าหมายที่จะนำมาพัฒนาหลักสูตรของคณะให้มีมาตรฐานแบบยุโรป เช่น คลินิกรักษาสัตว์ รูปแบบการวิจัยที่และหลักสูตรนานาชาติ แต่ตลอดสองปีที่ผ่านมาเรายังคงมีโครงการที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทั้งผู้วิจัยและนิสิตนักศึกษาจากสองประเทศ ได้เรียนรู้เรื่องของอายุรกรรมสัตว์ เช่น โรคหัวใจ โรคติดเชื้อในกระเพาะอาหารและลำไส้ ศาสตราจารย์ทางนั้นก็นำงานวิจัยมาศึกษาร่วมกับเรา นิสิตปริญญาเอกก็ได้ร่วมกันทำงาน ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย”

สำหรับทุนระยะสั้นที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันยาวนาน ก็เป็นข้อเด่นของทุน Erasmus+ อ.ดร. ภัทร์ สีอัมพรโรจน์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พูดถึงการไปแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยทุน Staff Mobility Mendale University เมืองบรูโน สาธารณรัฐเชค ว่า “ได้มีโอกาสการสร้างความร่วมมือการเรียนการสอนและการวิจัย และเป็นความท้าทายต่อว่าจะคิดหัวข้อวิจัยร่วมกันทั้งสองฝ่ายอย่างไรที่จะได้ประโยชน์ทั้งคู่ จากครั้งแรกที่มีการพบกันจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีความต่อเนื่อง เราไป เขามา รู้จักกันทั้งภาควิชา”

“ทุน Erasmus+ ยังเป็นกลไกช่วยสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยระหว่างยุโรปและเอเชียอีกด้วย” รศ.ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงทุนดังกล่าว สำหรับสร้างเครือข่ายเทคโนโลยีด้านเครืองดื่มหรือ “EU-SEA Academy for Beverage Technology” ภายใต้โครงการ Capacity Building โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรีย อิตาลี เยอรมัน กับเครือข่ายด้านเทคโนโลยีอาหารของไทยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และจุฬาฯ

“ตลอดสามปี มีการศึกษาแนวทางการเรียนและทำวิจัยร่วมกัน เขามา ดูเรา เราไปดูเขา เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรให้มหาวิทยาลัยในเครือข่าย ในปีหน้าจะมีประกาศนียบัตรสำหรับผู้สนใจ เปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร มี Double Degree กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่เป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกอบรมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทางด้านอาหารให้มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น” รศ.ดร.ชาลีดา กล่าว

“ตอนสมัคร อาจมีขั้นตอนซับซ้อน แต่ถ้ามี Partner ทางยุโรปดี เขาจะจัดการเรื่องเอกสารให้โดยเราคอยให้ข้อมูลได้ทั้งประสบการณ์และประโยชน์เชิงวิชาการมากและมีความยั่งยืน แม้โครงการจบแต่ก็ยังมีเครือข่ายต่อกันอยู่”

สำหรับบุคลากรประชาคมจุฬาที่สนใจเข้าร่วมงาน “Erasmus+ เพิ่มพลังวิจัย เสริมกำลังวิชาการ” ในวันที่ 17 กันยายน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถเลือกได้สองช่วง

  • ช่วงเช้า (09.30 - 12.30 น.) ที่ Plearn Space มารู้จัก Erasmus+ และทุนการศึกษา โดย H.E. Pirkka Tapiola เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
  • ช่วงบ่าย (13.30 - 15.30 น.) ที่ห้อง 515 อาคารมหิตลาธิเบศร การเขียนขอทุนวิจัย Erasmus+ Capacity Building in Higher Education โดยทีมอาจารย์จุฬาฯ ผู้ที่เคยได้รับทุน และทุน The Marie
    Sklodowska- Curie Fellowship โดย Simon Grimley ผู้แทนระดับภูมิภาค EURAXESS ASEAN

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ สำนักบริหารวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ จุฬาฯ โทร. 0-2218-3333

ปัจจุบัน Erasmus+ มีทุนหลักๆ สามประเภทดังนี้

1. ทุนการเพิ่มขีดความสามารถในด้านการอุดมศึกษา (Capacity Building in Higher Education)

โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านการศึกษาระดับสูงสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ การเข้าถึงความรู้ และความเป็นสากลของการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศที่เป็นภาคีในโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและมหาวิทยาลัยที่เป็นพันธมิตร ส่งเสริมความท้าทายในการจัดการและการกำกับดูแลของสถาบันอุดมศึกษา การปรับปรุงคุณภาพของการศึกษาขั้นสูง การพัฒนาโปรแกรมการศึกษาใหม่และนวัตกรรม สร้างและปฏิรูปการศึกษา แนวทางและเครื่องมือการเรียนการสอนที่ทันสมัย การศึกษา และการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

โครงการสร้างเสริมศักยภาพมี 2 ประเภทคือ

  • โครงการร่วม (Joint Project) : มุ่งเป้าไปที่ความร่วมมือเพื่อช่วยปรับปรุงหลักสูตรการกำกับดูแลและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานอุดมศึกษา
  • โครงการเน้นโครงสร้าง (Structural Project) : มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปฏิรูประบบอุดมศึกษา การปรับปรุงนโยบายการกำกับดูแลและเสริมสร้าง ความสัมพันธ์ระหว่างระบบอุดมศึกษาและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและ สังคมในวงกว้าง

2. ทุนการศึกษาระยะสั้นและทุนสำหรับศึกษาวิจัยระดับปริญญาโท

การแลกเปลี่ยนระยะสั้นแบบนับหน่วยกิต (Erasmus+ Credit Mobility) หากมหาวิทยาลัยไทยใดมีข้อตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยในยุโรปที่อยู่ในโครงการ Erasmus+ แล้ว ก็สามารถสมัครขอทุนแลกเปลี่ยนระยะสั้นแบบนับหน่วยกิต (3-12 เดือน) เพื่อไปเรียนใน ระดับปริญญาตรี โท หรือเอกในมหาวิทยาลัยที่เป็นภาคีร่วมกับสถาบันของคุณ โดยนับหน่วยกิตรวมเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนในหลักสูตรไทย

  • หลักสูตรร่วมอีราสมุส มุนดุส ระดับปริญญาโท (Erasmus Mundus Joint Master Degrees) ผู้ได้รับทุนจะได้เรียนหรือทำวิจัยในมหาวิทยาลัยในยุโรป อย่างน้อยสองแห่งขึ้นไป เป็นทุนสำหรับนักเรียนปริญญาโทและสำหรับนักวิชาการและอาจารย์ที่สอนหรือทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยในเครือข่าย
  • หลักสูตรร่วมอีราสมุส มุนดุส ระดับปริญญาโท ผู้สนใจจะต้องสมัครขอทุนโดยตรงกับกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรร่วม แต่ละหลักสูตรจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ และวันปิดรับสมัครเอง ช่วงเวลารับสมัครจะอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม - มกราคม ของทุกปี

3. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการสอนและการฝึกอบรม (Staff Mobility)

Erasmus + สนันสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับอาจารย์ และการฝึกอบรมพนักงาน โดยกิจกรรมที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยในภาคี มีทั้งพัฒนาด้านความสามารถในการสอนและกิจกรรมนอกหลักสูตร และหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาการฝึกอบรมสั้นๆ ไม่เกิน 5 วัน ถึง 2 สัปดาห์ กิจกรรมประกอบด้วยการเข้าห้องเรียนสังเกตรูปแบบการเรียนการสอน แนวทางพัฒนาวิธีการสอน การพัฒนาวิชาชีพ และความสามารถเฉพาะทาง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีทุนทำวิจัย The Marie Sklodowska-Curie Fellowship โดยคณะกรรมาธิการยุโรปต้องการให้การสนับสนุนนักวิจัยที่มีพรสวรรค์โดยไม่คำนึงถึงอายุและสัญชาติที่จะเดินทางไปยังประเทศใด ๆ ในสหภาพยุโรปหรือในประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ นักวิจัยทุกสาขามีสิทธิ์ได้รับเงินทุน เนื่องจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการวิจัยและนวัตกรรมจะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจการสร้างงานและการพัฒนาสังคม ในปีนี้ทุนจะเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 11 - 26 กันยายน 2019

เรื่อง : อ.ดร.อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook