นวัตกรรมสามประสาน: สูตรสำเร็จในการปลูกป่าน่าน
หลายคนอาจคิดว่า “การปลูกป่า” คือการเอากล้าไม้ไปลงปลูกในพื้นที่ที่ป่าถูกทำลาย แล้วรอให้ต้นกล้าเติบโตกลายเป็นผืนป่าทดแทน แต่นั่นเป็นเพียงวิธีคิดที่ผิวเผิน
ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนให้คิดใหม่ว่า “เราไม่ได้ไปปลูกป่า แต่เราไปสร้างและฟื้นฟูระบบนิเวศ เนื่องจากระบบนิเวศคือความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่การนำต้นกล้าไม้อะไรก็ได้ไปลงดิน แต่ต้องมีการศึกษาพิจารณาก่อนว่าในบริเวณนั้น ดินและแร่ธาตุอาหารในดินเหมาะแก่การปลูกพืชอะไร และพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของพื้นที่นั้นๆ คืออะไร แล้วเราจึงนำไปปลูกตามสภาพผืนป่าเดิมของเขา กล้าไม้จะได้มีโอกาสรอด ไม่ใช่ว่าป่าดั้งเดิมเป็นป่าดิบชื้น แต่เราเอาพันธุ์ไม้ป่าเต็งรัง ไปปลูก มันก็ไม่รอด”
ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ ร่วมพูดคุยเรื่องการปลูกป่าที่จังหวัดน่าน โดยอาศัยนวัตกรรมใหม่ในการปลูกป่าแบบยั่งยืน แม้ว่าในปัจจุบันวิธีการปลูกป่าทดแทนจะมีหลากหลายวิธี แต่ในการฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลาย ณ จังหวัดน่านนั้น ทางสถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี จุฬาฯ ศึกษาทดลองและประยุกต์เอาวิธีการทางชีวภาพต่างๆมาใช้ร่วมกัน จนเกิดเป็น “นวัตกรรมเทคโนโลยี 3 ประสาน” ดังนี้
1. ใช้เชื้อราที่เป็นมิตรกับรากไม้
ทีมวิจัยจากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ นำโดย ผศ.ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านไม้ เชื้อราและการเพาะเห็ด พบว่า การที่ไม้ป่าเต็งรังทนแล้งได้ เพราะที่รากของมันมี เชื้อราเอคโตไมคอร์ไรซา ซึ่งมักอาศัยอยู่ร่วมกันกับไม้พันธุ์วงศ์ยางนา เช่น ตะเคียน เหียง พลวง เชื้อราชนิดนี้จะคอยจับความชื้นในอากาศ ทำให้รากมีน้ำและช่วยให้รากของพืชสามารถอยู่รอดในสภาวะอากาศที่รุนแรง เช่น แล้งจัดๆ น้ำไหลบ่า หรือภาวะไฟป่า โดยปกติแล้วเชื้อราชนิดนี้มีอยู่ในดินอยู่แล้ว แต่กว่าเชื้อราจะมาเจอและอาศัยอยู่ที่รากนั้น ค่อนข้างใช้เวลา ดังนั้นการใส่เชื้อราเอคโตไมคอร์ไรซาในรากของกล้าไม้พันธุ์ยางนาให้เรียบร้อยก่อนลงปลูก จะช่วยเพิ่มโอกาสการอยู่รอด
“นอกจากนี้ เชื้อราชนิดนี้ยังเป็นเชื้อเห็ด เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตและมีสภาพอากาศที่เหมาะสม เชื้อราจะทำให้เกิดเป็นเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบที่โคนต้น กลายเป็นแหล่งอาหาร และแหล่งรายได้สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านได้อีกทางหนึ่ง” ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ กล่าว
2. พอลิเมอร์ชีวภาพ แหล่งเก็บอาหารสำรองของต้นไม้
พอลิเมอร์ชีวภาพ เป็นการนำพอลิเมอร์ที่ได้มาจากส่วนของพืชหรือสัตว์ เช่น แป้งต่างๆ มันสำปะหลัง มาเป็นแหล่งอาหาร และสามารถย่อยสลายได้ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในดินโดยหลักการทำงานจะคล้ายกับฟองน้ำ จึงถูกนำมาใช้เป็นตัวเก็บกักความชื้น สำรองน้ำไว้ให้ต้นไม้ในช่วงฤดูแล้งหรือภาวะขาดแคลนน้ำ เมื่อฝนตกลงมา ไบโอพอลิเมอร์ก็จะดูดซับน้ำไว้ พอถึงช่วงที่ ไม่มีฝน รากพืช ก็จะดูดน้ำจากตัวไบโอพอลิเมอร์ไปใช้ พอน้ำหมดไป ตัวพอลิเมอร์ก็แห้งเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.วิเชฏฐ์เสริมว่า “การนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ฟื้นฟูป่า จะต้องคำนึงถึงลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่นั้นๆ เพราะบางอย่างก็ไม่สามารถใช้ได้ทุกพื้นที่ ตัวอย่างเช่น การใช้ไบโอพอลิเมอร์ในการปลูกในพื้นที่ลุ่ม แทนที่น้ำจะระบายไปได้ อาจกลับทำให้น้ำขัง ส่งผลให้รากเน่าได้”
3. แนวคิดการสร้างระบบนิเวศเลียนแบบธรรมชาติ
การประยุกต์เอาแนวคิดการปลูกป่าสร้างระบบนิเวศแบบอาคิระมิยาวากิ ของ ศ.อาคิระ มิยาวากิ โดยมีหลัก 3 ประการคือ การยกเนินดินขึ้นมา เพื่อให้น้ำและอากาศถ่ายเทได้สะดวก การเลือกปลูกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่หรือปลูกพันธุ์ไม้ประจำถิ่น รวมไปถึงการปลูกอย่างหนาแน่น คือ 3-5 ต้นต่อตารางเมตร สาเหตุที่ต้องปลูกมากกว่า 1 ต้นขึ้นไป เพื่อทำให้พืชเกิดการแข่งขันแย่งกันเจริญเติบโต พอมีการแข่งขันก็จะเกิดการคัดเลือก ต้นที่สูงกว่าใบแผ่ปกคลุม ต้นที่เตี้ยกว่า พอไม่มีแสงแดดก็ตาย เหลือเพียงแต่ต้นที่โตเร็วเท่านั้น ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการเจริญเติบโตจาก 30 ปี เหลือเพียง 10 ปีเท่านั้น
แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นวัตกรรมสามประสานช่วยส่งเสริมการอยู่รอดของกล้าไม้ ทำให้สามารถฟื้นฟูป่าน่านได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งนับเป็นหนึ่งความสำเร็จของจุฬาฯ ที่สามารถนำความรู้และงานวิจัยกลับคืนสู่สังคม
เรื่อง : ภัทรพร รักเปี่ยม