สถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย

สถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย

สถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การฆ่าตัวตาย เป็นการกระทำที่ทำให้ตนเองถึงแก่ความตายอย่างตั้งใจ ซึ่งจัดเป็นความรุนแรงทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช โดยจาก 56 ประเทศ พบว่าการแขวนคอเป็นวิธีการฆ่าตัวตายที่พบมากที่สุด ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ยังระบุว่า มีประชากรกว่า 8 แสนคน ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกปี

สถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย

สำหรับปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทย จากภาพรวมอัตราการฆ่าตัวตายของทั้งประเทศ ในปี 2561 มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 4,137 คน คิดเป็น 6.32 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งบุคคลที่มีอายุระหว่าง 30-39 ปี เป็นวัยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุดถึง 21.44% และตั้งแต่ปี 2540-2561 พบว่าผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิง

433072

371267

จากรายงานอัตราฆ่าตัวตายต่อประชากรหนึ่งแสนคน แยกตามจังหวัดในปีเดียวกัน 10 จังหวัดที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด ได้แก่ 1.แม่ฮ่องสอน (17.26 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน) 2.แพร่ (13.9 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน) 3.น่าน (13.19 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน) 4.เชียงราย (11.7 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน) 5.พัทลุง (11.05 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน) 6.ลำปาง (10.37 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน) 7.เชียงใหม่,สระแก้ว (10.18 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน) 9.อุตรดิตถ์ (9.88 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน) และ 10.ตาก (9.85 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน)

247840

โดยปัจจัยการฆ่าตัวตายที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ คือ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ได้แก่ ความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิดพบ 48.7% ความรัก หึงหวง 22.9% และต้องการคนใส่ใจ ดูแล 8.36% ส่วนปัญหาด้านการใช้สุราและยาเสพติด พบว่า มีปัญหาการดื่มสุรา 19.6% มีอาการมึนเมาระหว่างทำร้ายตนเอง 6% และปัญหาด้านการเจ็บป่วยทางจิต พบภาวะโรคจิต 7.45% โรคซึมเศร้า 6.54% และมีประวัติการทำร้ายตนเองซ้ำ 12%

วิธีป้องกันเมื่อคนรอบข้าง มีสัญญาณเสี่ยงฆ่าตัวตาย

ขอให้บุคคลรอบข้าง ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด คอยสังเกตสัญญาณเตือน หากพบว่ามีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้า และเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟัง

หลัก 3 ส. คำแนะนำจากกรมสุขภาพจิต

  • สอดส่อง มองหา ผู้ที่มีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือผู้ที่มีการส่งสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย
  • ใส่ใจรับฟัง ด้วยความเข้าใจ ชวนพูดคุย ให้ระบายความรู้สึก ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ โดยการรับฟังอย่างใส่ใจนั้นเป็นวิธีการที่สำคัญมีประสิทธิภาพมาก
  • ส่งต่อเชื่อมโยง เช่น การแนะนำให้โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงแอปพลิเคชั่นสบายใจ (Sabaijai) แนะนำให้ไปพบบุคลากรสาธารณสุข หรือช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook