ว่าด้วยเรื่องไร้ศาสนา อะไรทำให้ไปถึงจุดที่เลือกจะไม่นับถืออะไรเลย?

ว่าด้วยเรื่องไร้ศาสนา อะไรทำให้ไปถึงจุดที่เลือกจะไม่นับถืออะไรเลย?

ว่าด้วยเรื่องไร้ศาสนา อะไรทำให้ไปถึงจุดที่เลือกจะไม่นับถืออะไรเลย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาสนาเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือตั้งแต่ก่อนจะมีตัวอักษรใช้กันเสียอีก เพราะฉะนั้นศาสนาจึงฝังอยู่ในแต่ละพื้นที่ทั่วโลกจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ไม่สามารถแยกออกจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ได้เสียแล้ว อย่างวันสำคัญของแต่ละพื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวกับศาสนา

ที่สำคัญศาสนายังเป็นสิ่งที่คนเลื่อมใสศรัทธา ยึดเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เป็นแนวทางที่ทำให้ใช้ชีวิตแบบไม่เบียดเบียนผู้อื่น หรือปฏิบัติไปตามแต่ละศาสนาจะสอน เพราะฉะนั้นจึงเป็นสถาบันหนึ่งที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน มีผลต่อจิตใจผู้คนที่ศรัทธาอย่างมาก

แต่ในปัจจุบันกลับมีจำนวนผู้ไม่นับถือศาสนาพุ่งขึ้นอย่างน่าสนใจ และคาดว่าน่าจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

สถิติคนไม่นับถือศาสนาทั่วโลก

ปัจจุบันมีสถิติคนไม่นับถือศาสนาทั่วโลกกว่า 1,100 ล้านคน หรือกว่า 14 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก (7,730 ล้านคน) โดยคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีศาสนาคือชาวจีนกว่า 700 ล้านคน หรือเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรจีนเลยทีเดียว สาเหตุอาจมาจากความเป็นประเทศที่ปกครองแบบคอมมิวนิสต์ พรรคมีความเชื่อว่าศาสนาเป็นสิ่งมอมเมาประชาชน ทำให้ผู้นำในพรรคประกาศตัวชัดเจนว่าไม่นับถือศาสนาใด แต่ก็ไม่ได้บังคับให้ประชากรในประเทศต้องไร้ศาสนาไปด้วย เพียงแต่ไม่ได้อุ้มชูขึ้นมามีความสำคัญมากก็เท่านั้น ซึ่งถือว่าเปิดกว้างกว่าตอนที่เริ่มก่อตั้งพรรคใหม่ ๆ ในช่วงที่ความมั่นคงเป็นเรื่องหลัก ในยุคของเหมาเจ๋อตงจะเรียกว่าเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาก็ว่าได้ เพราะการเคลื่อนไหวทางความเชื่อและศรัทธาอาจนำไปสู่การโค่นล้มผู้มีอำนาจได้

ในขณะเดียวกันประเทศญี่ปุ่นก็ตามมาเป็นอันดับสอง โดยมีผู้ไม่นับถือศาสนาถึง 72 ล้านคน หรือกว่า 56 เปอร์เซ็นต์ของประชากรใจประเทศ (126.8 ล้านคน) ถึงแม้จะมีศาสนาชินโตเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาพุทธมีจำนวนเยอะกว่า และไม่ใช่เรื่องแปลกหากคนญี่ปุ่นจะเข้าวัดบ้างเข้าโบสถ์คริสต์บ้าง เพราะศาสนาในประเทศเขาเปิดกว้างมาก ๆ และไม่ผูกขาดพิธีกรรมของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

สาเหตุหลักที่น่าสนใจของคนเลือกไม่นับถือศาสนา

หลายคนอาจคิดว่าการเลือกที่จะไม่นับถือศาสนาเกิดขึ้นเป็นเทรนด์ในช่วงหนึ่ง ทำตามกันไปเพราะกระแสสังคม แต่ความจริงแล้วแต่ละคนมีความคิดเห็นที่น่าสนใจมากกว่านั้น จากการสืบค้นความคิดเห็นผ่านกระทู้และโซเชียลมีเดียหลายช่องทาง เราได้หลักความคิดใหม่ ๆ มากมายที่น่าสนใจ และความคิดเห็นที่ไม่ควรมองข้าม

หลายคนออกความคิดเห็นว่า สิ่งที่น่าเบื่อหน่ายอย่างหนึ่งของศาสนาคือการสอนให้คนอยู่ในกรอบด้วยความกลัว อย่าทำอย่างนี้นะเพราะจะบาปกรรม ทำแบบนี้แล้วตายไปจะตกนรก เกิดใหม่เป็นคนไม่ครบ 32 บ้างล่ะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกือบจะเป็นนามธรรม เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแท้จริงแล้วนรกสวรรค์เป็นอย่างไร มีจริงหรือไม่

คนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกผิดหวังกับพฤติกรรมของผู้เป็นตัวแทนเผยแผ่ศาสนาและผู้ที่เลื่อมใสศาสนามากเกินไปจนส่งผลเสีย เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาเดินออกมาอยู่ในจุดที่พอดี เลือกนับถือแต่คำสอนโดยไม่เข้าไปยุ่งกับระบบศาสนาใด ๆ

บางคนบอกว่าศาสนาของเขาคือวิทยาศาสตร์ อะไรก็ตามที่มีเหตุผลรองรับ มีอยู่จริง พิสูจน์ได้

หลายความคิดเห็นที่น่าเอาไปคิดตามและมีเหตุผลรองรับ ทำให้เราเห็นว่าการเลือกไม่นับถือศาสนาของหลาย ๆ คนไม่ได้ทำไปเพราะความเท่อย่างแน่นอน

ที่มีเยอะที่สุดคงเป็นกลุ่มคนมีศาสนาแค่บนบัตรประชาชน

เอาแบบใกล้ ๆ ตัวก็คือคนไทยส่วนใหญ่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เกิดมาก็มีศาสนาติดตัวแล้ว มีศาสนาตั้งแต่ก่อนจะรู้ว่าศาสนาสอนอะไรเสียอีก โดยยึดเอาครอบครัวเป็นหลัก และกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศก็นับถือศาสนาพุทธ วิถีชีวิต วัฒนธรรม วันสำคัญส่วนใหญ่สอดคล้องไปกับพุทธศาสนา

แต่เมื่อเริ่มมีความคิดความอ่าน เกิดความสงสัยในสิ่งที่กำลังนับถืออยู่ว่ามีความสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน บวกกับยุคสมัยที่วิทยาการก้าวไกล มีหลักวิทยาศาสตร์และการพิสูจน์ สถาบันหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามก็คงไม่พ้นศาสนา ด้วยเหตุปัจจัยอะไรหลาย ๆ อย่าง อาจจะด้วยวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้คนหันเข้าหาวัดและที่พึ่งทางใจนี้น้อยลง

ถึงแม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีสถิติแน่นอนของจำนวนคนไม่นับถือศาสนา (สถิติปีพ.ศ. 2543 ระบุว่าคนไทยกว่า 0.27 เปอร์เซ็นต์ไม่มีศาสนา) แต่พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนในยุคนี้ทำให้ศาสนาไม่ใช่สถาบันหลัก ๆ ที่คนจะนึกถึงเมื่อมีเรื่องไม่สบายใจหรือเมื่อต้องการที่พึ่ง ทำให้บางคนบอกว่าตัวเองเป็นผู้นับถือศาสนาแค่ในบัตรประชาชน แต่ไม่ได้ร่วมทำพิธีกรรมเกีี่่ยวกับศาสนาของตน

แต่ในปัจจุบันตามพระราชบัญญัติบัตรประชาชน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 23 ปีพ.ศ. 2554 ระบุไว้ว่านิกายหรือศาสนาของผู้ถือบัตรจะระบุหรือไม่ก็ได้ หลังจากนี้น่าจะมีตัวเลขของผู้ไม่นับถือศาสนาให้ได้เห็นกันชัดขึ้น

คนไม่มีศาสนา ใช้อะไรยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิต?

คำตอบที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ กฎหมาย ที่ถึงแม้จะมีกุศโลบายคล้าย ๆ กับศาสนา แต่สิ่งที่ตามมาไม่ใช่ความกลัวเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษ แต่เป็นความกลัวในกระบวนการยุติธรรมที่มีการตรวจสอบและบทลงโทษที่แน่นอน

บางคนตอบทีเล่นทีจริงว่าเขานับถือดารานักร้องที่ตัวเองชอบ ซึ่งถามว่าผิดมั้ย ในแง่ที่ใช้เป็นที่พึ่งทางใจก็คงไม่ผิดนัก การเสพผลงานของคนเหล่านั้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวในยามต้องการที่พึ่งย่อมไม่ใช่เรื่องผิด

อย่างไรก็ตามสถาบันศาสนาไม่ว่าจะศาสนาใดบนโลกถือว่าเป็นสถาบันที่เข้มแข็งมาก เพราะอยู่บนพื้นฐานความเชื่อความศรัทธาที่ฝังอยู่นานเป็นพันปี เราควรเรียนรู้การจะอยู่กับมันโดยเข้าใจกันและกัน เข้าใจผู้เลื่อมใส เข้าใจผู้ที่เลือกทางเดินของตัวเอง ยึดเอาหลักคำสอนของศาสนาที่ดีของตัวเองนำมาปฏิบัติกับผู้อื่น และปฏิบัติต่อกันตามกฎหมาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook