“มนุษย์ลุงมนุษย์ป้า” คำตีตราที่ไม่ควรใช้กับใคร

“มนุษย์ลุงมนุษย์ป้า” คำตีตราที่ไม่ควรใช้กับใคร

“มนุษย์ลุงมนุษย์ป้า” คำตีตราที่ไม่ควรใช้กับใคร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“มนุษย์ลุง” หรือ “มนุษย์ป้า” เป็นคำที่ถูกนิยามขึ้นมา โดยตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ในสังคม คือบุคคลที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก เห็นแก่ตัวและไม่สนใจว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไร ทั้งนี้ พฤติกรรมมนุษย์ลุงมนุษย์ป้า ยังสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะคนที่มีอายุมากแล้วเท่านั้น

ซึ่งเอาเข้าจริงๆ คำว่า “มนุษย์ลุง” หรือ “มนุษย์ป้า” จิตแพทย์แนะนำว่าไม่ควรใช้เป็นคำตีตราผู้อื่น หลังพบเห็นพฤติกรรมของพวกเขาเพียงชั่วขณะ โดย นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในทางจิตวิทยาไม่มีคำจำกัดความคำเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นวาทะกรรมที่ไม่ถูกต้อง

และไม่ควรนำคำดังกล่าว มาใช้เปรียบเทียบกับบุคคลใด หรือชี้เฉพาะว่าเป็นลักษณะของบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ ถือเป็นการหยามเหยียด หมิ่นเหม่ให้ร้าย ทำร้ายความรู้สึกของบุคคลนั้นและครอบครัว เพราะตัวผู้พูดหรือผู้กล่าวเรียกคนอื่นเป็นมนุษย์ลุงมนุษย์ป้า ไม่ได้รู้จักเขาเป็นอย่างดี แต่เพียงเห็นแค่พฤติกรรมชั่วขณะเท่านั้น

สำหรับการแสดงพฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยๆ นั้น นายแพทย์ยงยุทธ ระบุว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล โดยอาจเป็นผู้ต่อต้านสังคม หลงตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเองสูง เมื่อไม่ได้รับการยอมรับในสังคมจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว หรือเป็นผู้มีบุคลิกภาพคาบเส้น คือควบคุมอารมณ์ได้ต่ำ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย

หรืออาจจะมีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ ซึ่งมีหลายสาเหตุมากระตุ้น ทำให้ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องความเครียดสะสม เมื่อเกิดปัญหาซ้ำก็จะระเบิดอารมณ์ก่อความรุนแรงขึ้น หรือที่เรียกว่าฟางเส้นสุดท้าย ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนมาทำความเข้าใจ กับพฤติกรรมมนุษย์ลุงมนุษย์ป้า ดูว่าที่เรารู้สึกไม่พอใจหรือหงุดหงิด

กับบุคคลที่มีพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าว อาจจะเป็นเพราะมุมมองที่แตกต่างในเรื่องของ ช่องว่างระหว่างวัย ทัศนคติ รสนิยม การอบรมเลี้ยงดู การใช้ชีวิต รวมถึงภาวะทางจิตด้วยหรือเปล่า เมื่อใดก็ตามที่เราเปิดใจ มองโลกในแง่บวกมากขึ้น หัดปล่อยความตึงเครียดออกไปบ้าง และลดความอคติ เราก็จะพบว่าการอยู่ในสังคมที่มีผู้คนมากมาย

เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่เราจะเจอกับคนที่มีพฤติกรรมทั้งดีและไม่ดี ในขณะเดียวกันเราก็สามารถเรียนรู้และแยกแยะได้ ว่าแบบไหนคือพฤติกรรมที่ไม่ควร เช่น การแซงคิวคนอื่น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเราก็อย่าทำตาม ท้ายที่สุดเราก็จะสามารถยืดหยุ่นต่อการใช้ชีวิตในสังคมที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างมีความสุขนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook