ระวัง! โนโรไวรัสท้องร่วงช่วงอากาศเย็น ข้อมูลดีๆ จากหัวหน้าไวรัสวิทยา จุฬาฯ

ระวัง! โนโรไวรัสท้องร่วงช่วงอากาศเย็น ข้อมูลดีๆ จากหัวหน้าไวรัสวิทยา จุฬาฯ

ระวัง! โนโรไวรัสท้องร่วงช่วงอากาศเย็น ข้อมูลดีๆ จากหัวหน้าไวรัสวิทยา จุฬาฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อนึกถึงอาการท้องเสียและอาหารเป็นพิษ หลายคนอาจนึกถึงช่วงหน้าร้อนที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ แต่แท้ที่จริงแล้ว ท้องเสียเป็นกันได้ทุกฤดู แม้ในช่วงอากาศเย็นและชื้นอย่างหน้าฝนและหน้าหนาว ก็มีเชื้อโรคบางชนิดที่เจริญเติบโตได้ดี อย่าง โนโรไวรัส โดยศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จะมาอธิบายถึงไวรัสนี้ให้เราได้เรารู้กัน

รู้จักโนโรไวรัส

โนโรไวรัส (Norovirus) เชื้อโรคที่เป็นเหตุของอาการท้องเสียฉับพลัน มักเกิดขึ้นในช่วงปลายฝนต้นหนาว และตลอดหน้าหนาว ไวรัสตัวนี้ถูกพบครั้งแรกจากการระบาดของโรคท้องเสียในเด็กนักเรียนประถมที่เมือง Norwalk มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1968 และต่อมาก็พบการระบาดในหลายแห่งทั่วโลกโดยเฉพาะในหมู่เด็กนักเรียน สำหรับประเทศไทย พบการกระจายตัวของเชื้อนี้ในทุกภูมิภาค โรคนี้เป็นได้ในทุกวัยแต่ความรุนแรงของโรคมักจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็กและผู้สูงอายุ

อาการ

หลังได้รับเชื้อ จะมีระยะฟักตัวราว 12 - 48 ชั่วโมง อาการคล้ายอาหารเป็นพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ

การติดต่อ

  • รับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก เช่น อาหาร ทะเล ผักผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด
  • สัมผัสผู้ป่วยโดยตรง เช่น เด็กจับหรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้ออยู่ แล้วนำนิ้วเข้าปาก
  • อยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ได้รับเชื้อพร้อมกันเป็นจำนวนมากจากน้ำดื่มและอาหาร

การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส

ส่วนใหญ่จะเกิดจากผู้ป่วยที่มีเชื้อขับถ่ายออกมาทางอาเจียนและอุจจาระ ซึ่งสิ่งปฏิกูลเหล่านี้อาจจะลงไปในแม่น้ำลำคลอง หรือปนเปื้อนกับอาหารที่รับประทาน
โนโรไวรัสเป็นไวรัสที่ไม่มีเปลือกหุ้ม จึงทนต่อสารเคมีและอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายวัน การฆ่าเชื้อโนโรไวรัสสามารถทำได้โดยใช้สารที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบ เช่น Sodium Hypochlorite หรือน้ำยาในกลุ่มน้ำยาฟอกขาว น้ำยาที่มีส่วนประกอบของฟอร์มาลีน หรือกลูตารัลดีไฮด์ ก็สามารถทำลายและหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้

การตรวจวินิจฉัยและการรักษา

ดูจากอาการผู้ป่วย โดยพิจารณาเรื่องฤดูกาลและการระบาดของโรคร่วมด้วย เนื่องจากอาการท้องเสียจากการติดเชื้อโนโรไวรัสมีลักษณะคล้ายกับอาการอาหารเป็นพิษมาก อาจทำให้มีการวินิจฉัยผิดได้ ดังนั้นการวินิจฉัยที่แน่นอนทำได้โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระหรืออาเจียนของผู้ป่วยเพื่อส่งตรวจหาโนโรไวรัสด้วยกระบวนการทางชีวโมเลกุลด้วยการตรวจหา RNA ของเชื้อไวรัสเพื่อการยืนยันผล
สำหรับการรักษา ไม่มียาจำเพาะหรือยาต้านเชื้อโนโรไวรัส จึงต้องเป็นการรักษาตามอาการในรายที่อาเจียนหรือถ่ายเป็นจำนวนมาก จะต้องให้น้ำเกลือเพื่อประคับประคองไม่ให้ผู้ป่วยขาดน้ำ อาการจะเป็นอยู่ 1 - 3 วัน ก็จะค่อยๆ ดีขึ้น เหมือนการรักษาผู้ป่วยจากอาหารเป็นพิษทั่วๆ ไป

การป้องกันโนโรไวรัส

  1. บริโภคอาหารที่ปรุงสุก ล้างผักในน้ำให้สะอาด
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเลดิบ
  3. ควรล้างมือด้วยสบู่ และใช้น้ำเปล่าในการชะล้างออกไปให้เพียงพอ
  4. ในกรณีที่มีการระบาดของโรค จะต้องมีการทำลายเชื้อที่อาเจียน อุจจาระออกมา ด้วยน้ำยาฟอกขาว หรือ Sodium Hypochlorite
  5. ผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูปที่เปื้อนอุจจาระที่เกิดจากท้องเสีย ควรจะกำจัดเชื้อด้วยสารละลายน้ำยาฟอกขาว น้ำยาล้างห้องน้ำ หรือสารที่มีคลอรีน ก่อนจะทิ้ง
  6. ทำความสะอาดสถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียน ในกรณีที่มีการระบาด ควรปิดชั้นเรียนหรือโรงเรียน รวมถึงสถานรับเลี้ยงเด็กเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ

“โนโรไวรัสเป็นเชื้อไวรัสสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในบ้านเรา โรคนี้เป็นแล้วเป็นได้อีก เพราะเชื้อไวรัส มีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมของสายพันธุ์ จึงทำให้มีความหลากหลายในกลุ่มย่อยมากมาย ซึ่งภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ติดเชื้อซ้ำได้”

เรื่อง : ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
เรียบเรียง : ขนิษฐา จันทร์เจริญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook