พบดาวหางดวงใหม่! คาดเป็นวัตถุนอกระบบสุริยะดวงที่สอง

พบดาวหางดวงใหม่! คาดเป็นวัตถุนอกระบบสุริยะดวงที่สอง

พบดาวหางดวงใหม่! คาดเป็นวัตถุนอกระบบสุริยะดวงที่สอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“C/2019 Q4 (Borisov)” ดาวหางดวงใหม่เพิ่งถูกค้นพบ กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในวงการดาราศาสตร์ เพราะอาจเป็นวัตถุที่มาจากนอกระบบสุริยะลำดับถัดจาก โอมูอามูอา (Oumuamua) ซึ่งปัจจุบันเป็นวัตถุนอกระบบสุริยะหนึ่งเดียวที่เรารู้จัก

เกนนาดี โบรีซอฟ (Gennady Borisov) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวยูเครน ค้นพบดาวหาง C/2019 Q4 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2562 ที่หอดูดาวไครเมีย (Crimean Astrophysical Observatory) ซึ่งขณะนั้นดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 3 หน่วยดาราศาสตร์ กำลังเคลื่อนที่เข้าหาดวงอาทิตย์ และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ในวันที่ 8 ธันวาคม 2562 ที่ระยะห่าง 300 ล้านกิโลเมตร

 70040116_2593668434030088_606

สิ่งที่ทำให้นักดาราศาสตร์ทราบว่าวัตถุใดมาจากนอกระบบสุริยะ คือ ค่าความรีของวงโคจร (eccentricity)
ความรีใช้สำหรับบอกว่าวงโคจรมีรูปร่างใกล้เคียงกับวงกลมแค่ไหน กล่าวคือ ค่าความรีเท่ากับ 0 วงโคจรจะเป็นวงกลม ค่าความรีมากกว่า 0 แต่น้อยกว่า 1 จะเป็นวงรี ค่าความรีเท่ากับ 1 เป็นพาราโบลา และค่าความรีมากกว่า 1 เป็นไฮเพอร์โบลา

C/2019 Q4 มีความรีอยู่ที่ 3.2 รูปร่างวงโคจรไม่เหมือนกับบริวารของดวงอาทิตย์ แต่เหมือนกับบริวารของดาวฤกษ์ดวงอื่นที่มีวงโคจรไกลมาก ๆ มีความเร็วปัจจุบันคือ 150,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และบังเอิญเดินทางผ่านระบบสุริยะของเรา ดังนั้นจึงมีโอกาสเพียงครั้งเดียวที่จะศึกษามัน นักดาราศาสตร์ต่างรีบรวบรวมภาพถ่ายที่เคยถ่ายตามเส้นทางของดาวหางดวงนี้ โดยหวังว่าจะพบดาวหางดวงนี้ในภาพช่วงก่อนที่ เจนนาดี บอริซอฟจะค้นพบ เพราะจะทำให้มีข้อมูลที่มากขึ้นและคำนวณวงโคจรได้อย่างแม่นยำขึ้น

ปัจจุบันดาวหาง C/2019 Q4 มีค่าโชติมาตรปรากฏ 18 ซึ่งสว่างน้อยมาก ถึงแม้ความสว่างจะเพิ่มขึ้นตอนที่เข้าใกล้โลกมากที่สุด ก็ไม่สามารถมองเห็นได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์ แต่สามารถถ่ายภาพได้ด้วยกล้องถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ โดยตำแหน่งบนท้องฟ้าอยู่บริเวญกลุ่มดาวค้างคาว (Cassiopeia) และจะเคลื่อนที่ไปตามแนวระนาบทางช้างเผือก สามารถติดตามการรายตำแหน่งของดาวหางดวงนี้ได้จากเว็บไซต์ของไมเนอร์แพลนเน็ตเซนเตอร์ (MPEC 2019-R106.)

C/2019 Q4 (Borisov) เป็นเพียงชื่อชั่วคราวของดาวหางดวงนี้ และจะใช้ไปจนกว่าจะมีการยืนยันวงโคจรที่แน่ชัด ก่อนหน้านี้วัตถุระหว่างดวงดาว ดวงแรกมีชื่อชั่วคราวคือ C/2017 U1 ก่อนจะเปลี่ยนเป็น A/2017 และสุดท้ายได้รับชื่ออย่างเป็นทางการว่า 1I ‘Oumuamua โดยตัวอักษร I ย่อมาจากคำว่า Interstellar ซึ่งหมายถึงวัตถุที่อยู่ระหว่างดวงดาว ส่วนเลขหนึ่งคือลำดับที่ค้นพบ สำหรับ C/2019 Q4 ถ้ามีการยืนยันวงโคจรที่แน่นอนและยืนยันว่าเป็นวัตถุจากนอกระบบสุริยะ ก็จะตั้งชื่อเป็น 2I นำหน้าชื่อซึ่งหมายถึงวัตถุระหว่างดวงดาวที่ค้นพบเป็นลำดับที่สอง

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ ในยุคสมัยที่กล้องดูดาวอัตโนมัติที่ทำงานตลอดเวลาและสามารถค้นพบวัตถุใหม่ ๆ ได้แทบทุกวัน แต่ดาวหางนี้กลับค้นพบโดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ที่ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ขึ้นใช้เอง

เรียบเรียง : สิทธิพร เดือนตะคุ
เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook