พบโมเลกุล “น้ำ” บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตได้เป็นครั้งแรก

พบโมเลกุล “น้ำ” บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตได้เป็นครั้งแรก

พบโมเลกุล “น้ำ” บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตได้เป็นครั้งแรก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักดาราศาสตร์ตรวจพบโมเลกุล #น้ำ ในชั้นบรรยากาศบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ “K2-18b” ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต

 70559792_2589209804475951_558_1

นับเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกที่มีทั้งน้ำและอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิต

งานวิจัยครั้งนี้นำทีมโดย ดร.อังเยลอส ทซีอารัส (Dr. Angelos Tsiaras) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์แม่ในระยะห่างที่ทำให้น้ำอยู่ในสถานะของเหลว และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy

มวลมากกว่าโลก 8 เท่า ห่างออกไป 110 ปีแสง

K2-18b ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ เป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลมากกว่าโลก 8 เท่า จัดอยู่ในประเภทดาวเคราะห์ซูเปอร์เอิร์ธ (Super-Earth) โคจรรอบดาวแคระแดง ชื่อว่า “K2-18” ด้วยคาบ 33 วัน ซึ่งดาวเคราะห์มีระยะห่างจากดาวฤกษ์แม่ในตำแหน่งที่ทำให้น้ำอยู่ในสถานะของเหลวได้ เรียกว่า “เขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (Habitable zone)”

มีน้ำในชั้นบรรยากาศ

การศึกษาครั้งนี้นำข้อมูลที่เคยบันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2559 - 2560 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลมาวิเคราะห์ใหม่ด้วยวิธี “ทรานสมิทชันสเปกโตรสโคปี (Transmission spectroscopy)” ทำให้สามารถศึกษาองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์ K2-18b ได้ และพบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีไอน้ำอยู่ในชั้นบรรยากาศ รวมถึงพบฮีเลียมและไฮโดรเจน

ยังไม่ใช่ บ้านใหม่ของมนุษย์โลก

ดาวเคราะห์ K2-18b อยู่ในตำแหน่งที่ได้รับรังสีจากดาวฤกษ์แม่ค่อนข้างมาก มีองค์ประกอบทางชั้นบรรยากาศที่แตกต่างจากโลก และมีมวลมากกว่าโลกถึง 8 เท่า หมายความว่ามีแรงโน้มถ่วงที่พื้นผิวมากกว่าโลกค่อนข้างมาก ทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้อาจจะยังไม่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของมนุษย์ สำหรับเป้าหมายต่อไปของทีมนักวิจัยนี้ คือ ศึกษาว่ามีปริมาณน้ำในชั้นบรรยากาศมากเพียงใด

สิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับงานวิจัยครั้งนี้ คือ K2-18b เป็นดาวเคราะห์ประเภทซูเปอร์เอิร์ธ เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่พบได้ทั่วไป รวมถึง K2-18 ที่เป็นดาวแคระแดง ก็พบได้เยอะในกาแล็กซีของเราเช่นกัน ดาวเทียมค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ “TESS” ก็คาดการณ์ว่าจะสามารถค้นพบดาวเคราะห์ประเภทซูเปอร์เอิร์ธได้อีกนับร้อยดวง

ทีมนักวิจัยเชื่อว่าดาวเคราะห์ K2-18b มีแก๊สไนโตรเจน และแก๊สมีเทนอยู่ในชั้นบรรยากาศอีก แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจพบแก๊สดังกล่าวได้ หากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ พร้อมทำงานเมื่อใด จะสามารถศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ได้มีประสิทธิภาพสูงกว่านี้หลายเท่า

เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ
เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook