ปัญหาการคุกคามทางเพศ หรือเพราะทัศนคติของคนในสังคมยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริง

ปัญหาการคุกคามทางเพศ หรือเพราะทัศนคติของคนในสังคมยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริง

ปัญหาการคุกคามทางเพศ หรือเพราะทัศนคติของคนในสังคมยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัญหาอันเรื้อรัง ที่สามารถเรียกกันได้อย่างเต็มปากว่า “สร้างความขวัญผวา” ให้กับคนไทยมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ว่าด้วยเรื่องของการคุกคามทางเพศไปจนถึงการข่มขืนกระทำชำเราโดยเกือบร้อยทั้งร้อยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อคือผู้หญิงและเด็ก

สภาพสังคมกับแนวคิด ‘ผู้ชายเป็นใหญ่’

การที่ความคิดของคนในสังคมยังคงติดอยู่ในกรอบขนบเดิม ๆ อย่างความคิดที่ว่า “ผู้ชายเป็นใหญ่” ที่ว่าด้วยเพศชายคือเพศที่แข็งแรงจึงต้องเป็นผู้นำ ฝ่ายหญิงต้องยำเกรงและเคารพทำหน้าที่เป็นเบี้ยล่างเสมอ ๆ ถึงแม้ว่าปัจจุบันความเท่าเทียมจะถูกสนับสนุนยกชูขึ้นมาเป็นแกนหลักของสังคม แต่คราบของการกดขี่ทางเพศก็ยังทิ้งเขม่าให้เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้

ด้วยความคิดแบบนี้จึงส่งผลให้ผู้หญิงมักถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางเพศ จนเกิดเหตุการณ์การลวนลามหรือบังคับขู่เข็ญร่วมเพศ อย่างที่เราได้เห็นกันตามหน้าข่าวซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เราได้รับรู้ โลกภายนอกของสังคมที่กว้างใหญ่นี้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้กี่ครั้งและมีเหยื่อกี่คนเราไม่อาจทราบ เพราะเหยื่อส่วนใหญ่มักไม่กล้าส่งเสียงหรือเรียกร้องด้วยเหตุผลบางประการ

Victim blaming

อีกหนึ่งระบบความคิดที่มีเป้าหมายเพื่อหวังลดทอนความร้ายแรงของความผิดตนเองคือ การกล่าวโทษเหยื่อ โดยการยกอ้างถึงต้นเหตุของการกระทำความผิดเกิดจากการกระทำของเหยื่อเอง อย่างการแต่งตัวของเหยื่อ โดยกล่าวอ้างว่าเป็นความผิดของเหยื่อที่แต่งตัวล่อแหลมเองจึงทำให้ถูกลวนลามและคุกคาม หรือแม้กับกิจวัตรที่เหยื่อทำเป็นประจำก็สามารถถูกยกมากล่าวอ้างได้ เช่น ถ้าเธอไม่เดินผ่านซอยนี้ช่วงค่ำเป็นประจำก็คงไม่โดนฉุดไปข่มขืน ซึ่งเป็นชุดความคิดที่ผิดอย่างยิ่ง และคนส่วนใหญ่ยังยึดติดกับความคิดนี้อยู่

การกล่าวโทษเหยื่อว่าแต่งตัวล่อแหลมล่อไอ้เข้เองจึงถูกข่มขืน นอกจากจะเป็นการเบี่ยงความผิดในภาพรวมแล้วยังเป็นการปลูกฝังความเข้าใจแบบผิด ๆ อีกด้วย ซึ่งความจริงแล้วไม่ว่าใครก็มีสิทธิ์ทำในสิ่งที่ตนเองพอใจทั้งนั้นเพียงแค่ไม่เดือดร้อนคนอื่นเป็นพอ

หญิงสาวคนนั้นจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ตามที่เธอพอใจ ซึ่งแม้เธอจะแต่งตัวโป๊ไม่ได้หมายความว่าเธออยากมีเซ็กส์ การแต่งตัวไม่ได้บ่งชี้ว่าใครง่ายหรือไม่ง่าย มันคือความคิดที่ผิด หากจะบอกให้เหยื่อเปลี่ยนพฤติกรรมเปลี่ยนการแต่งตัวมันก็ไม่ใช่แล้ว

คำกล่าวโทษเหยื่อนี้เป็นแค่คำอ้างเลื่อนลอย เพราะประเด็นสำคัญคือตัวผู้กระทำผิดเองต่างหากที่ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ที่น่าเศร้าคือไม่ใช่เพียงผู้ต้องหาเท่านั้นที่มักจะยกคำอ้างเหล่านี้ขึ้นมา แต่สังคมโดยรอบที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็มักแสดงความคิดเห็นที่ไม่เข้าท่านี้อยู่เสมอ

เราจะเห็นได้ชัดว่า การแต่งตัวของเหยื่อ ไม่ใช่สาเหตุของการถูกกระทำชำเรา โดยในปี 2013 มีนิทรรศการหนึ่งที่ชื่อว่า What Were You Wearing? หรือ วันนั้นคุณใส่ชุดอะไร ซึ่งจัดโดย Jen Brockman ผู้อำนวยการศูนย์การป้องกันและการศึกษาการข่มขืนทางเพศ ของมหาวิทยาลัยแคนซัส โดยการนำชุดของเหยื่อที่ถูกข่มขืนมาจัดแสดงในงาน ซึ่งพบว่าชุดส่วนใหญ่ไม่ใช่ชุดที่ใส่แล้วดูล่อแหลมเลยแม้แต่น้อย ชุดนอน เสื้อยืด กางเกงขายาว ก็มีเป็นส่วนใหญ่

เห็นได้ชัดว่ารากแก้วของปัญหาการข่มขืนและคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะชุดความคิดและทัศนคติที่หลายคนยังเกิดความเข้าใจผิดต่อสาเหตุของเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้น มากกว่าปัจจัยภายนอกอย่างการแต่งกายที่แทบจะไม่มีผลในการเกิดของเหตุเลยด้วยซ้ำ สังคมควรปรับเปลี่ยนความคิดที่คอยถามเหยื่อว่า ไปทำยังไงถึงโดนข่มขืน เป็น เราจะหาทางหยุดวงเวียนความคิดผิด ๆ นี้อย่างไร จะดีกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook