8 พฤติกรรมเสี่ยงทำลายสมอง
รู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมที่คุณทำจนคุ้นชิน และ กลายเป็นนิสัยติดตัวนั้น บางครั้งกลายเป็นพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพสมองในระยะยาว มาดูกันว่าพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง ที่ควรหลีกเลี่ยงมีอะไรบ้าง
1. ละเลยการกินอาหารเช้า
อาหารเช้าสำคัญใครๆก็รู้ แต่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะละเลยการกินอาหารเช้า เพราะรีบเร่งเดินทาง และ หน้าที่การงานที่รัดตัวจนทำให้ละเลยอาหารเช้าแล้วไปควบรวมเป็นอาหารกลางวันแทน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วร่างกายที่ขาดอาหารมานานประมาณ 6-7 ชั่วโมงนั้นต้องการอาหารเช้าเป็นอย่างยิ่ง เมื่อคุณละเลยอาหารเช้าและปล่อยให้ท้องว่างไปจนถึงเที่ยงวัน นั่นเท่ากับว่าร่างกายและสมองขาดสารอาหารที่จำเป็นในการหล่อเลี้ยง ซึ่งจะส่งผลเสียในระยะยาว
2. สูบบุหรี่
รู้กันดีว่า สูบบุหรี่ ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็ยังมีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี แม้จะมีการรณรงค์อย่างเข้มข้นมากขึ้น ถ้าอย่างนั้นมาดูงานวิจัยในปี 2012 กันดีกว่าเพื่อจะทำให้หลายคนอยากหันกลับมาเลิกบุหรี่กันบ้าง ซึ่งงานวิจัยฉบับดังกล่าวนั้นระบุว่า ชายวัยกลางคนที่สูบบุหรี่ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน มีโอกาสที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมมากกว่าคนที่ไม่สูบ หรืองานวิจัยในปี 2015 ก็ระบุตรงกันว่า ผู้ที่สูบบุหรี่นั้นมีโอกาสสูงถึง 30 เปอร์เซนต์ที่จะมีภาวะสมองเสื่อมหากเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่
3. กิน-ดื่มมากจนเกินพอดี
คนเป็นคนช่างกิน แล้วมันผิดตรงไหน คำตอบคือไม่ผิด ถ้าคุณไม่กินจนเกินความต้องการของร่างกาย เพราะการบริโภคอาหารเครื่องดื่มจนมากเกินไปไม่ส่งผลดีต่อร่างกาย ระบบประสาทและสมอง จากผลวิจัยของสถาบันการแพทย์ Mount Sinai School of Medicine นั้นระบุว่า การกินดื่มที่มากเกินความต้องการของร่างกายนั้น ทำให้ฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายทำงานผิดปกติ และอาจเป็นการนำไปสู่โรคอ้วนหรือเบาหวานได้
4. ทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
ในปัจจุบันการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ดูจะกลายเป็นนิสัยที่คนในสังคมบอกว่าไม่ผิดปกติ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันเป็นการเปิดให้เกิดความผิดพลาดสูงมาก และเหนืออื่นใด มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดระบุว่า การทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันเปรียบเสมือนการใส่ยาพิษทีละน้อยให้กับสมองของคุณเอง จากงานวิจัยนั้นพบว่า คนที่ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน หรือ รับข้อมูลจากสังคมดิจิทัลหลายทางในทุกๆวัน จะมีปัญหาในเรื่องของความจำ เมื่องานนั้นผ่านพ้นไปแล้วจะไม่สามารถจดจำรายละเอียดที่สำคัญได้ ซึ่งจะแตกต่างจากคนที่ทำงานอย่างเดียวให้เสร็จแล้วค่อยทำงานอย่างอื่นต่อ ซึ่งจะจำในรายละเอียดของงานที่ทำได้ดีกว่า
5. ดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นั้นระบุว่า การดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันนั้นทำร้ายสมองของคุณเป็นอย่างยิ่ง และส่งผลต่อกระบวนการรับรู้ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ วางแผน หรือ แม้กระทั่งการตัดสินใจ ดังนั้นการดื่มน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันจึงสำคัญมาก ต่อสุขภาพสมอง ถ้าดื่มน้ำให้เป็นนิสัยจะทำให้ร่างกายของคุณดีขึ้นอย่างที่คุณคิดไม่ถึงเลยทีเดียว
6. นอนไม่เพียงพอ หรือ พฤติกรรมการนอนที่ไม่เหมาะสม
เรารู้กันอยู่แล้วว่า การนอนที่เพียงพอจะอยู่ที่ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน เพราะร่างกายจะได้พักผ่อนและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แต่หลายคนก็นอนดึก หรือ นอนไม่เพียงพอ เพราะต้องอ่านหนังสือ ทำงานดึก ดังนั้นเราควรจัดตารางการนอนของตนเองให้เหมาะสม เพื่อที่ร่างกายและสมองจะได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ จำไว้ว่าเมื่อใดที่คุณนอนน้อยคุณกำลังฆ่าเซลล์สมองของคุณด้วยตัวของคุณเอง
7. ฝืนทำงานแม้ว่าร่างกายเจ็บป่วย
หลายคนบอกว่าชีวิตการทำงานมันต้องไปให้สุด หรือ บางคนต้องมาทำงานเพราะกลัวว่าเจ้านายจะว่าถ้าลาป่วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานขณะที่ร่างกายกำลังเจ็บป่วยนั้น เท่ากับสมองของคุณต้องทำงานเพิ่มเป็นสองเท่า เนื่องจากร่างกายของคุณกำลังต่อสู้กับเชื้อโรค และ ต้องการการพักผ่อนเพื่อเยียวยาให้อาการดีขึ้น ดังนั้นการฝืนทำงานแม้ว่าร่างกายจะเจ็บป่วย เท่ากับเป็นการทำร้ายสมองของคุณเองเช่นกัน
8. เซิร์จกูเกิ้ลจนเป็นนิสัย
ในยุคสมัยที่คิดอะไรไม่ออก หรือ อยากรู้อะไรก็เซิร์จหาในกูเกิ้ล กลายเป็นพฤติกรรมที่ทำร้ายสมองโดยไม่รู้ตัว เพราะในอดีตนั้นความจำของเราจะถูกสร้างจากการท่องจำ ได้เขียน หรือ อ่าน ข้อความนั้นบ่อยๆ และทำให้ข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในความทรงจำระยะยาว จนกระทั่งเมื่อโลกนี้เปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่างสามารถค้นหาได้จาก กูเกิ้ล ทำให้ความทรงจำหรือการจำนั้นสั้นลง ไม่ว่าจะเป็นการจำคำศัพท์ หรือ ข้อมูลสั้นๆ หลายคนก็ไม่สามารถจำได้แล้ว ดังนั้นพฤติกรรมที่คิดอะไรไม่ออก ก็เซิร์จกูเกิ้ลจนเป็นนิสัย ก็อาจจะต้องเพลาๆลงบ้าง