"การประชุมสุดยอดอาเซียน" คืออะไร จัดเมื่อไหร่ มีประเทศไหนเข้าร่วมบ้าง?
การประชุมสุดยอดอาเซียน ASEAN Summit คือ การประชุมที่จัดขึ้นโดยกลุ่มรัฐสมาชิกอาเซียน ในที่ประชุมจะมีผู้นำของแต่ละรัฐสมาชิกเข้ามาร่วมประชุมกัน ซึ่งเป้าหมายในการจัดประชุมนั้นก็เพื่อปรึกษาหารือกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคม ภายในกลุ่มรัฐสมาชิก พร้อมทั้งกำหนดนโยบายหรือแนวทางในการดำเนินงานของประชาคมอาเซียน รวมถึงเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาค
การประชุมสุดยอดอาเซียน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 มีคำขวัญคือ One Vision, One Identity, One Community หรือ หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม
ในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนั้น รัฐสมาชิกจะสลับผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพตามลำดับตัวอักษรของชื่อประเทศ โดย การประชุมสุดยอดอาเซียน ASEAN Summit ในปี 2562 ในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 34 และ 35 โดยจัดขึ้นในวันที่ 20-23 มิถุนายน 2562 และ 31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2562 ในประเทศไทย
ประเทศที่จะเข้าร่วมประชุม การประชุมสุดยอดอาเซียน ASEAN Summit ครั้งที่ 35
- กัมพูชา
- ไทย
- บรูไน
- พม่า
- มาเลเซีย
- ลาว
- เวียดนาม
- ฟิลิปปินส์
- สิงคโปร์
- อินโดนีเซีย
- จีน
- เกาหลี
- ญี่ปุ่น
- ออสเตรเลีย
- นิวซีแลนด์
- อินเดีย
- รัสเซีย
- อเมริกา
- องค์การสหประชาชาติ
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
บทบาทของ ASEAN SUMMIT ภายใต้กฎบัตรอาเซียน
ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนนั้นถือเป็นองค์กรสูงสุดในการบริหารงานของอาเซียน โดยองค์ประกอบของที่ประชุมนั้นก็คือประมุขของรัฐ หรือ หัวหน้ารัฐบาลของรัฐสมาชิก โดยภายใต้กฎบัตรอาเซียนนั้น การตัดสินใจของที่ประชุมจะต้องมีการลงคะแนนเสียงแบบฉันทามติ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- เป็นองค์กรสูงสุดในการกำหนดนโยบายของอาเซียน
- พิจารณาหารือ ให้แนวนโยบาย และตัดสินใจในประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุวัตถุประสงค์ของอาเซียนในเรื่องสำคัญที่เป็นผลประโยชน์ต่อรัฐสมาชิก และในทุกประเด็นที่ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน คณะมนตรีประชาคมอาเซียนและองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขา
- สั่งการให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในแต่ละคณะมนตรีที่เกี่ยวข้องให้จัดการประชุมเฉพาะกิจระหว่างรัฐมนตรี และหารือประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอาเซียน ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างคณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ ทั้งนี้ โดยให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council) เป็นผู้กำหนดกระบวนวิธีดำเนินการประชุมข้างต้น
- สนองตอบสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีผลกระทบต่ออาเซียน โดยดำเนินมาตรการที่เหมาะสม
- ในกรณีที่มีการละเมิดกฎบัตรอาเซียนอย่างร้ายแรง หรือกรณีที่มีข้อพิพาทกันระหว่างรัฐสมาชิก และได้มีการนำเรื่องดังกล่าวให้แก่ที่ประชุม ที่ประชุมมีหน้าที่ให้คำตัดสินหรือคำแนะนำ พร้อมทั้งดูแลให้มีการปฏิบัติตามคำตัดสินหรือคำแนะนำดังกล่าว
- อนุมัติให้จัดตั้งหรือยุบองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขาและสถาบันอื่นๆของอาเซียน
- แต่งตั้งเลขาธิการอาเซียน ที่มีชั้นและสถานะเทียบเท่ารัฐมนตรีซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่โดยได้รับความไว้วางใจและตามความพอใจของประมุขของรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาล ตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
- หน้าที่ในการจัดประชุมปีละ 2 ครั้ง โดยให้รัฐสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพ
- จัดการประชุมพิเศษหรือการประชุมเฉพาะกิจเมื่อมีความจำเป็นในสถานที่ตามแต่รัฐสมาชิกจะตกลงกัน โดยให้รัฐสมาชิกที่เป็นประธานอาเซียนเป็นประธานการประชุม
การประชุมสุดยอดอาเซียนนั้น เป็นการประชุมที่มีความสำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นการประชุมระดับผู้นำประเทศและเป็นกลไกหลักในการตัดสินใจกิจการต่างๆ ในอาเซียน ทั้งด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม และรวมถึงเป็นที่ประชุมที่ยุติข้อพิพาทระหว่างรัฐสมาชิกด้วย จากการประชุมที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นว่าอาเซียนได้วางกลยุทธ์และหารือถึงปัญหาต่างๆ ที่เป็นปัญหาระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง การประชุมสุดยอดอาเซียนจึงเป็นเวทีที่ทำให้อาเซียนสามารถปรับตัวให้เท่าทันกับสภาพสังคมและสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นเวทีที่กำหนดทิศทางในการพัฒนาและเป็นเวทีสำหรับยุติข้อพิพาทหรือหาออกสำหรับปัญหาต่างๆ ทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค