สามย่าน & สยาม 2 ถิ่น ศิลปะ

สามย่าน & สยาม 2 ถิ่น ศิลปะ

สามย่าน & สยาม 2 ถิ่น ศิลปะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศิลปะไม่ได้สร้างสรรค์ความงามให้กับเมืองเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคุณภาพชีวิตของผู้คนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ใจกลางเมือง ความงามของศิลปะช่วยให้ตาได้พัก ใจผ่อนคลาย จินตนาการบรรเจิด เกิดสุนทรียภาพในการใช้ชีวิตมากขึ้นและยังเป็นส่วนสร้างพลังทางสังคมด้วย มาทำความรู้จักโครงการสร้างสรรค์พื้นที่ศิลปะกลางกรุง 2 โครงการ จุดนัดพบคนศิลปะที่สามย่าน และศิลปะบนฝาท่อในพื้นที่สยามสแควร์

CU ART4C จุดนัดพบคนรักศิลปะ

cuart4c1

ชุมชนสามย่านกลายเป็นพื้นที่แห่งศิลปะสร้างสรรค์ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ มีศิลปินจากโครงการ Chula Art Town ช่วยเนรมิตกำแพงร้างของอาคารพาณิชย์เก่าให้เป็นภาพศิลปะแนว graffiti ที่สดใส และวันนี้ยังมีโครงการ CU ART4C ที่ปรับเปลี่ยนอาคารพาณิชย์ 3 คูหา หน้าปากซอยจุฬาฯ 12 บนถนนพระราม 4 ให้เป็นจุดนัดพบใหม่ของศิลปะนานาแขนงด้วย

ผู้ชื่นชอบศิลปะมานั่งชิลและสุนทรียสนทนาประสา co-working space ที่ร้านกาแฟ Class Café ชั้นล่างของ CU ART4C ใครที่ชื่นชอบศิลปะก็ขึ้นไปชั้น 2 พื้นที่จัดนิทรรศการ ซึ่งในเวลานี้จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม มีนิทรรศการ “The Townie Creatures” ผลงานของศิลปินที่เป็นศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่นำเอากระดาษโพสต์-อิท โน้ต มาสร้างสรรค์งานศิลปะแบบ Pixel Art สะท้อนชีวิตของคนในเมือง ส่วนชั้น 3 ของ CU ART4C เป็นพื้นที่โล่งที่ใช้จัดกิจกรรมทางศิลปะต่างๆ ไม่ว่าจะการแสดง black box หรือเวิร์กชอปด้านศิลปะ

145642

อ.ดร.ให้แสง ชวนะลิขิกร อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโครงการ CU ART4C พูดถึงพื้นที่ศิลปะแห่งนี้ว่า “ที่นี่แตกต่างจากพื้นที่ศิลปะอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ที่มุ่งเน้นการจัดแสดงงานทัศนศิลป์อย่างเดียว แต่ทุกพื้นที่ใน CU ART4C สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินไม่ว่าจะแขนงใด ทั้งไทยและตะวันตก”

ดร.ให้แสง อธิบายแนวคิดหลักของ CU ART4C ว่า 4 C มาจาก Community, Collaboration, Creative, Co–Working Space และเลข 4 มาจาก 4 ภาควิชาของคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้แก่ ทัศนศิลป์ นฤมิตศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และนาฏยศิลป์

“CU ART4C จะเป็นพื้นที่แสดงผลงานศิลปนิพนธ์ของนิสิตทั้ง 4 ภาควิชาของคณะฯ CU ART4C จะมีนิทรรศการและกิจกรรม เวิร์กชอปที่มีคุณภาพหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจด้านศิลปะ

ไม่เฉพาะคณะศิลปกรรมศาสตร์ แต่ทุกตารางเมตรของ CU ART4C ยังเปิดกว้างให้ทุกคณะในจุฬาฯ รวมถึงพันธมิตรด้านศิลปะจากสถาบันอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือคณะละครเทศกาลละครกรุงเทพฯ มาจัดแสดงบนพื้นที่ได้ด้วย” ดร.ให้แสง กล่าวเสริม

“ศิลปะมีอยู่ในทุกศาสตร์อย่างการแพทย์สามารถใช้ศิลปะสร้างงาน แอนิเมชั่นเพื่อสื่อการเรียนการสอนหรืออธิบายอาการของโรคให้กับคนไข้ได้ หรือหากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อยากจะใช้สถานที่ของเราจัดเวิร์กชอปก็ได้”

ที่สำคัญ ผู้คนในชุมชนสามย่านก็สามารถใช้พื้นที่แห่งนี้ในการฝึกอบรมงานศิลปะที่ชาวชุมชนสนใจ เช่น การจัดสวนขวด การแต่งหน้าเค้ก หรืองานฝีมืออื่นๆ เป็นต้น

cuart4c

ดร.ให้แสง หวังว่า CU ART4C จะสร้างความคึกคักมีชีวิตชีวาให้กับชุมชนศิลปินและชุมชนชาวสามย่าน เชื่อมโยงนิสิตจุฬาฯ ที่สนใจศิลปะ ให้บริการชุมชนรอบจุฬาฯ และยังเป็นแหล่งฟูมฟักและรวม Startup และผู้ประกอบการทางศิลปะด้วย

“CU ART4C เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมมีประสบการณ์ได้โดยง่าย ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในวงการศิลปะ สร้างสีสันให้กับชุมชนโดยรอบ เชื่อมคนให้รู้จักกัน”

ผู้สนใจจะทำกิจกรรมทางศิลปะในพื้นที่ CU ART4C สามารถติดต่อสอบถามกับทางโครงการได้ที่ contact@art4c.org หรือดูรายละเอียดและตารางการจัดแสดงผลงานได้ที่ https://www.facebook.com/CUArt4C/ และ www.art4c.org

ฝาท่อ ความงามที่ไม่อาจเดินข้าม

954934

สยามสแควร์เป็นแหล่งท่องเที่ยวชอปปิ้งที่เต็มไปด้วยสิ่งน่าสนใจมากมาย ทั้งป้ายโฆษณาน้อยใหญ่ การตกแต่งร้านรวงที่สนุกสนาน และสินค้าบริการต่างๆ ที่แปลกตา แต่นับจากนี้ อีกสิ่งที่จะ “สะดุดตา” ของย่านนี้อยู่ที่ฝาท่อ!

ใครที่เดินผ่านไปแถวอาคารสยามกิตติ์อาจจะเห็นผู้คนกำลังก้มหน้าก้มตา มองพื้น หรือหยิบมือถือขึ้นมาเซลฟีกับฝาท่อ ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะตอนนี้ ฝาท่อเป็นเสมือนผืนผ้าใบที่แสดงผลงานชนะเลิศการประกวดการออกแบบลวดลายบนฝาท่อ Fiber Optic Cable ของสยามสแควร์ ซึ่งจัดโดยสำนักงาน จัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU)

338991

“เรามีแนวคิดนำสาย Fiber Optic Cable ทั้งหมดในพื้นที่สยามสแควร์ ลงใต้ดินเพื่อทัศนียภาพที่สวยงาม เมื่อนำสายสื่อสารทั้งหมดลงใต้ดินแล้วก็ต้องปิดฝาท่อเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ การจ้างผู้เชี่ยวชาญให้ออกแบบฝาท่อนั้นธรรมดาเกินไป PMCU จึงจัดโครงการประกวดเพื่อให้นิสิตนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมสร้างคุณค่าให้กับพื้นที่สาธารณะ” คุณวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU) เผยที่มาของกิจกรรมศิลปะบนฝาท่อ ซึ่งได้รับความสนใจจากนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมส่งผลงานกว่า 80 ชิ้น

ผู้ชนะการประกวด นางสาวชัญญา ตั้งจิตวินัย นิสิตคณะสถาปัตยกรรม ศาสตร์ จุฬาฯ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบชิ้นงานว่า “ลายเส้นมาจากแผนผังเส้นทางของถนนที่สยามสแควร์ ที่นำมาเชื่อมโยงให้เกิดเรื่องราวภาพกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสยามสแควร์ เช่น วิถีของผู้คน ร้านอาหาร การชอปปิ้ง ร้านค้าริมถนน รถราที่แล่นไปมา โรงหนัง นักท่องเที่ยว นักเรียน คนทํางาน”

598337

“ภาพนี้อยากสะท้อนให้เห็นว่าสยามสแควร์เป็นแหล่งรวมคนผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ส่วนสีสันที่สดใสสื่อถึงความสนุกสนานที่เกิดขึ้นที่นี่ นอกจากนั้นยังนําโลโก้ของสยามสแควร์มาซ่อนไว้ในภาพด้วยเพื่อให้ดูน่าค้นหา”

ฝาท่อที่มีลวดลายศิลปะของชัญญาติดตั้งที่แรกแล้วที่ฝาท่อตรงข้ามอาคารสยามกิตติ์ และจะได้ขยายติดตั้งต่ออีกเป็นทั้งหมด 11 จุดทั่วพื้นที่สยามสแควร์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม 2562 นี้ แต่จะเป็นที่ใดบ้าง ก้มหน้าก้มตาดูเวลาที่เดินเที่ยวสยามสแควร์ก็แล้วกัน

เรื่องโดย อภิชัย ไทยเกื้อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook