คุณค่าคนกับความเท่าเทียม

คุณค่าคนกับความเท่าเทียม

คุณค่าคนกับความเท่าเทียม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความเท่าเทียม เป็นประเด็นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ ดังจะเห็นว่าในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีเวทีเสวนาว่าด้วยเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันถึงสองงาน

เริ่มต้นจากงาน “HeForShe University Tour” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย โดยความร่วมมือระหว่าง UN Women และคณะกรรมาธิการว่าด้วย การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ประเทศไทย และจุฬาฯ เพื่อส่งเสริม เผยแพร่และให้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ

heforshe_logo

โครงการนี้ริเริ่มโดยองค์การสหประชาชาติในปี 2553 โดยมีสาระสำคัญ คือ การหยุดความไม่เท่าเทียมทางเพศโดยเน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วม และที่สำคัญต้องการความร่วมมือจากเด็กผู้ชายและผู้ชายเพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้ อย่างไรก็ตาม การรณรงค์นี้ ไม่ได้จะมาทำให้การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีถูกมองว่าเป็นการเกลียดผู้ชาย ในความเป็นจริง ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และทุกคนควรต้องมีสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกัน

ในงานทัวร์มหาวิทยาลัยครั้งนี้เปิดเวทีให้ผู้ที่เคยตกเป็นผู้เสียหายของการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและ/หรือในที่สาธารณะ การถูกคุกคามทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศได้มาแบ่งปันประสบการณ์ของตนเอง

คุณซินดี้ สิรินยา บิชอพ นางแบบและนักแสดงชื่อดังผู้เคลื่อนไหวด้านความเสมอภาคทางเพศมาอย่างต่อเนื่องได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ #donttellmehowtodress (พลังสังคม หยุดคุกคามทางเพศ) ในงานนี้ด้วย เพื่อเป็นการทำให้ทัศนคติความรุนแรงทางเพศเป็นไปในทางที่ถูกต้อง ไม่ตัดสินคนจากเครื่องแต่งกาย

รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ มีความเห็นว่า สถาบันการศึกษาควรเป็นสถานที่ๆ เตรียมความพร้อมของนักเรียน/นิสิต สำหรับการเผชิญโลกในอนาคตและควรสร้างให้เกิดกลไกการสร้างความเข้าใจในประเด็นความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง ในขณะที่ผู้แทนนิสิต เสนอให้เปิด ช่องทางการร้องเรียนและขอความช่วยเหลือที่เป็นมิตรและมีระบบการรักษาความลับของผู้เสียหาย สังคมควรยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้วยความเข้าใจและไม่ซ้ำเติมผู้เสียหาย

สำหรับงานเสวนาเรื่อง “สื่อไทยกับการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง” ของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ประเด็นความสำคัญของสื่อไทยในฐานะเป็นต้นทางของการนำเสนอข่าวสารข้อมูล จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สื่อข่าวจะต้องเข้าใจประเด็นอ่อนไหวที่ผูกโยงกับสิทธิมนุษยชน โดยหลีกเลี่ยงการสร้างภาพตัวแทนที่เข้าข่ายการไม่เคารพศักดิ์ศรี และละเมิดสิทธิมนุษยชน

397053

กลุ่มผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง อาทิ กลุ่มคนพิการ ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมักถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม และถูกสร้างภาพให้เป็นภาระพึ่งพิงทางสังคม อันเนื่องมาจากอคติต่อวัย เพศสภาพ สภาพร่างกาย และชาติพันธุ์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางต่อผู้อ่านและสาธารณะ จึงมีข้อเสนอแนะว่าสื่อควรปรับฐานคิด โดยใส่เรื่อง “คุณค่าคน” ลงไปใน “คุณค่าข่าว” หรือการขายข่าว เน้นคุณภาพเนื้อหาการนำเสนอ และหาแหล่งข่าวที่เป็นเสียงสะท้อนของกลุ่ม ใช้ภาษาและมุมมองในการเสนอข่าวเพื่อสร้างภาพเชิงบวก และครอบคลุมมิติด้านสิทธิมนุษยชนด้านสังคม-คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ-อาชีพ และการเมือง-ความเป็นพลเมืองอย่างรอบด้าน

993683

ในสังคมที่มีความหลากหลายทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรมจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการสื่อสารเรื่องความเท่าเทียมีเพื่อให้คนทุกคนได้รับการส่งเสริมและปกป้องสิทธิ สำนึกคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างปราศจากอคติและการถูกเลือกปฏิบัติ

บทความโดย อ.ดร.รัชดา ไชยคุปต์ และ อ. ดร.อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook