"การอ่านหมายเลขทางหลวง" อ่านแบบไหนถึงจะเรียกว่าอ่านถูกหลัก
ทางหลวงนั้นเรียกว่าเป็นทางสายสำคัญ โดยปกติแล้วจะใช้ชื่อสกุลของบุคคล ที่มีความสำคัญซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับทางสายนั้นๆ อย่างเช่นผู้ก่อสร้าง หรือชื่อผู้บุกเบิกมาตั้งเป็นชื่อถนน แต่ในปัจจุบันมีการสร้างทางมากขึ้น จึงทำให้การใช้ชื่อสกุลมีความยุ่งยากและสับสนไม่สามารถทราบได้ว่าทางสายนั้นๆ ตั้งอยู่ทางบริเวณใดของประเทศ จึงได้มีการแก้ปัญหาโดยนำระบบหมายเลขมาใช้กับทางหลวงต่างๆ ที่อยู่ในการดูแลของกรมทางหลวง ซึ่งได้แก่ หลวงแผ่นดิน ทางหลวงสัมปทาน และทางหลวงพิเศษ
การอ่านหมายเลขทางหลวง มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
ทางหลวงที่มีเลขหนึ่งตัว หมายถึง ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงพิเศษที่เป็นถนนสายหลัก เชื่อมการคมนาคมระหว่างภาคต่อภาค ได้แก่
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ หรือ ถนนพหลโยธิน เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคเหนือ ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่จังหวัดเชียงราย
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ หรือ ถนนมิตรภาพ เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งต้นที่จังหวัดสระบุรี และไปสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓ หรือ ถนนสุขุมวิท เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่จังหวัดทางภาคกลางรวมถึงชายทะเลภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราด
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ หรือ ถนนเพชรเกษม เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคใต้ ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๕ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดเชียงราย
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดหนองคาย
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๗ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดจันทบุรี
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๘ เป็นทางเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ เป็นถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ
ทางหลวงที่มีเลขสองตัว คือ ทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงพิเศษที่เป็นสายประธานตามภาคต่าง ๆ เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒ หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินสายประธานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สายอุดรธานี-นครพนม ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๕๑ หมายถึง ทางหลวงซึ่งเชื่อมต่อจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ สุพรรณบุรี
ทางหลวงที่มีเลขสามตัว คือ ทางหลวงแผ่นดินสายรอง เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๒ หมายถึงทางหลวงแผ่นดินสายรองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สายชัยภูมิ-เขมราฐ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๔ หมายถึงทางหลวงแผ่นดินสายรองในภาคกลางสายบางปะกง-ฉะเชิงเทรา
ทางหลวงที่มีเลขสี่ตัว คือ ทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกับอำเภอ หรือสถานที่สำคัญของจังหวัดนั้น เช่น ทางหลวงหมายเลข ๔๐๐๖ หมายถึงทางหลวงในภาคใต้สายแยกทางหลวงหมายเลข ๔ (ราชกรูด-หลังสวน)
ในการอ่านหมายเลขทางหลวงให้อ่านเรียงตัว ดังนี้
- หมายเลขทางหลวง ๒๑
อ่านว่า หมาย-เลก-ทาง-หลวง สอง-หนึ่ง - หมายเลขทางหลวง ๓๑๔
อ่านว่า หมาย-เลก-ทาง-หลวง สาม-หนึ่ง-สี่