การเรียนกวดวิชาอย่างหนักของเด็กญี่ปุ่นกับความสุขในวัยเด็กที่หายไป

การเรียนกวดวิชาอย่างหนักของเด็กญี่ปุ่นกับความสุขในวัยเด็กที่หายไป

การเรียนกวดวิชาอย่างหนักของเด็กญี่ปุ่นกับความสุขในวัยเด็กที่หายไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คงจะคล้ายคลึงกับเด็กไทยที่เด็กญี่ปุ่นเรียนกวดวิชากันตั้งแต่อนุบาลเพื่อสอบเข้าโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีชื่อเสียง แต่ดูเหมือนเด็กญี่ปุ่นจะเรียนอย่างจริงจังเอาเป็นเอาตายมากกว่าเด็กไทยมาก ผู้เขียนมีเรื่องเกี่ยวกับการเรียนกวดวิชาและข้อคิดส่วนตัวมาเล่าให้ฟังนะคะ

ประเด็นเรื่องเล่าระหว่างแม่บ้านญี่ปุ่น

ผู้เขียนมักชวนเพื่อนแม่บ้านมาทานข้าวเที่ยงด้วยกันบ่อย ๆ และสิ่งที่คุยกันส่วนใหญ่เป็นเรื่องการให้ลูกเรียนกวดวิชา ให้ลูกอ่านหนังสือหรือเรียนพิเศษต่าง ๆ เมื่อเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาเพื่อนรอบตัวลูกต่างเรียนกวดวิชากันอย่างแข็งขัน เพื่อนญี่ปุ่นบอกว่าลูกของพวกเขาไม่มีเวลาเล่นนอกบ้าน เล่นเกม หรือดูทีวี และเมื่อเข้าสู่ชั้นประถมปีที่ 5 และ 6 ครอบครัวแทบไม่ได้ออกไปพักผ่อนหาความสุขนอกบ้านในวันหยุดกันเลยเพราะลูกติดเรียนกวดวิชา ซึ่งทำให้ผู้เขียนประหลาดใจมากกว่า อะไรกันแค่ประถมศึกษา ทำไมเรียนหนักและยุ่งมากมายอย่างนี้ แล้วชีวิตที่เหลืออีก 50-60 ปีที่ต้องทำงานแข่งขันกันลูกพวกเขาจะได้มีเวลาพักสมองบ้างมั้ยหนอ

ค่านิยมการเรียนกวดวิชาและวิธีสร้างรายได้ที่มั่นคงของโรงเรียนกวดวิชา

 20180912110117

แม้ว่าโรงเรียนรัฐบาลญี่ปุ่นจะมีระบบการเรียนการสอนที่ไม่กดดัน คือไม่มีการสอบกลางภาคปลายภาคเพื่อจัดลำดับของเด็ก แต่นอกโรงเรียนพ่อแม่แข่งขันกันอย่างจริงจังโดยให้ลูกเรียนกวดวิชาตั้งแต่เล็ก แม้ว่าบางครอบครัวจะไม่อยากส่งลูกไปเรียนกวดวิชาในตอนแรก แต่ด้วยกระแสสังคมที่เห็นลูกเพื่อนเรียนกวดวิชา พ่อแม่ญี่ปุ่นก็เลยต้องส่งลูกไปเรียนกวดวิชาบ้าง

โรงเรียนกวดวิชาเหล่านั้นจะกำหนดเวลาเรียน เช่น หากอยู่ประถมศึกษาตอนต้นก็เรียนเพียงอาทิตย์ละชั่วโมงครึ่ง สัปดาห์ละหนึ่งวัน และจะเพิ่มเวลาไปเรื่อย ๆ จนเมื่อเข้าประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังหลายที่จะกำหนดเวลาให้เด็กเรียนวันละ 3-4 ชั่วโมง เป็นจำนวน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมถึงต้องสอบจัดลำดับขั้นในวันหยุดเสาร์หรืออาทิตย์ทุกเดือน

เด็กที่ไปเรียนพิเศษส่วนใหญ่ต้องนำข้าวกล่องหรือซื้ออาหารเพื่อทานเป็นอาหารเย็นที่โรงเรียนสอนพิเศษ นอกจากนี้ในช่วงปิดเทอมก็จะมีคอร์สสอนพิเศษที่โรงเรียนชักชวนให้เด็กลงเรียน โดยค่าเรียนและค่าสอบวัดระดับในโรงเรียนกวดวิชาบางแห่งนั้นสูงถึงเดือนละ 3 หมื่นบาท

ผลจากการเรียนพิเศษกวดวิชาอย่างหนัก

 a2d6ce31e868cdcce8677194b9cc9

ด้วยการเรียนพิเศษกวดวิชาอย่างหนักและความเครียดจากการสอบวัดระดับทุกเดือน เด็กคนไหนที่แกร่งและตั้งใจจริงก็จะสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อในญี่ปุ่นได้ แต่เด็กบางส่วนที่ทนต่อระบบการเรียนการสอนไม่ได้ก็ต้องล้มเลิกกลางคัน อย่างไรก็ตามการเรียนกวดวิชาที่หนักและจริงจังทำให้เด็กญี่ปุ่นไม่มีเวลาเล่น ออกกำลังกาย และพักผ่อนตามประสาเด็ก นอกจากจะต้องทำการบ้านจากโรงเรียนกวดวิชาแล้วก็ต้องรีบทำการบ้านที่โรงเรียนให้มาให้เสร็จ และเมื่อใดที่ผลคะแนนสอบวัดระดับจากโรงเรียนกวดวิชาต่ำ เด็ก ๆ ก็จะถูกพ่อแม่เข้มงวดให้เรียนหนักขึ้น ส่งผลให้เด็กเหล่านี้มีความเครียดสะสมและหาทางออกด้วยการทำลายข้าวของ แกล้งเพื่อน ที่หนักหน่อยคือสอบเข้าโรงเรียนมีชื่อเสียงตามที่พ่อแม่คาดหวังได้แล้วก็ไม่อยากไปโรงเรียนและไม่มีความสนุกกับการเรียน เป็นต้น

ข้อคิดจากผู้เขียนเกี่ยวกับการเรียนกวดวิชา

ในความคิดของผู้เขียนนั้น เมื่อลูกยังเล็กไม่ควรตามกระแสให้ลูกเรียนพิเศษกวดวิชาอย่างหนัก แทนการเรียนพิเศษกวดวิชาอย่างหนัก ผู้เขียนคิดว่าการเสริมสร้างระเบียบวินัยและความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายเป็นสิ่งที่จำเป็นกว่า นอกจากนี้ก็ควรให้ลูกรู้จักช่วยเหลืองานบ้านเพื่อฝึกทักษะต่าง ๆ ทั้งความอดทนและการรู้จักแก้ปัญหา อีกทั้งควรปล่อยให้เขาได้เล่นได้ออกกำลังกายอย่างเต็มที่ รวมถึงได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ เช่น เล่นดนตรีหรือกีฬา (แต่ไม่ใช่ปล่อยให้เล่นเกมและดูยูทูบทั้งวัน) วันหนึ่งเมื่อเขาพร้อม พวกเขาจะตั้งใจที่จะบรรลุเป้าหมายในสิ่งที่ต้องการเอง

การได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในวัยเด็กจะทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความสุข มีความพยายามในการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นจากการแข่งขันกับตนเองไม่ใช่แข่งกับคนอื่น และที่สำคัญเมื่อโตขึ้นที่บางทีอาจจะมีความเหนื่อยล้าท้อแท้บ้าง แต่พวกเขาจะผ่านมันไปได้เพราะมีจิตใจที่เข้มแข็งจากการมีความสุขที่เต็มเปี่ยมในวัยเด็กนั่นเอง หากอยากให้ลูกเรียนกวดวิชาก็ควรจะให้เรียนในระดับที่พอดีและเมื่อเขาพร้อมจะดีกว่าค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook