อาการรักหลงตัวเอง อาจมีประโยชน์ถ้าไม่มากเกินไป

อาการรักหลงตัวเอง อาจมีประโยชน์ถ้าไม่มากเกินไป

อาการรักหลงตัวเอง อาจมีประโยชน์ถ้าไม่มากเกินไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักจิตวิทยากล่าวว่า 'การรักตัวเองลุ่มหลงตัวเองอย่างหนัก' หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Narcissism นั้น เป็นความผิดปกติด้านบุคลิกภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้คนราว 1% ทั่วโลก โดยเป็นความผิดปกติหรือความบกพร่องไม่สมบูรณ์ทางจิตใจในลักษณะที่กระหายหรือเรียกร้องความสนใจ และต้องการเป็นจุดเด่นหรือเป็นจุดศูนย์กลางของสังคมอยู่ตลอดเวลา

โดยอาการดังกล่าวนี้อาจจะสะท้อนให้เห็นได้ในบรรดานักการเมืองหรือผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังบางคน ซึ่งผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบนี้มักจะต้องการความสนใจ คำชมเชย หรือคำสรรเสริญเยินยอแบบล้นหลามตลอดเวลา

เพราะผู้ที่มีลักษณะดังกล่าวมักจะมีความคิดแบบผิด ๆ ว่าตัวเองนั้นเก่ง ดี มีความสำคัญและมีความสามารถโดดเด่นกว่าคนอื่น โดยเมื่อใดก็ตามที่ไม่ได้รับการปฏิบัติในลักษณะที่ต้องการ ผู้ที่มีลักษณะ Narcissism ก็จะเกิดอาการเครียดรวมทั้งมีอาการสลดหดหู่ได้

คนที่รักลุ่มหลงตัวเองแบบนี้มักจะพยายามโอ้อวดความสำเร็จ ความสามารถ และผลงานของตัวเอง และบ่อยครั้งที่มักจะขาดความอดทนโดยหันไปโจมตีตำหนิด่าว่าวิจารณ์คนอื่นที่คิดว่าต่ำต้อยหรือด้อยกว่าตน เนื่องจากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยบอกว่าความบกพร่องทางจิตใจในแบบที่ว่านี้พอมีประโยชน์อยู่บ้างเช่นกัน เพราะเป็นกลไกที่ช่วยให้คนเราสามารถรวมความกล้าหาญและความเข้มแข็งของจิตใจเพื่อต่อสู้กับความเครียดและแรงกดดันต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึง

หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเป็นกลไกที่ช่วยสร้างความมั่นใจ และช่วยให้คนเราอยู่รอดได้นั่นเอง

นักวิจัยของ Queen’s University ในเมืองเบลฟาสต์ ของไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งศึกษาเรื่องนี้อธิบายว่า ถ้ามองในแง่ดีแล้ว กลไกบางอย่างของการรักตัวเองนี้จะช่วยจัดการกับแรงกดดันและความเครียดต่าง ๆ

นักวิจัยบอกด้วยว่า จากการทดสอบบุคลิกภาพแบบ Narcissism ของคนทั่วไปซึ่งมีคะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 40 นั้น คนเราส่วนใหญ่จะมีความรักและหลงตัวเองอยู่บ้างในระดับประมาณ 10 คะแนนกว่า ๆ

ดังนั้นหากมีอยู่ในระดับที่ไม่มากเกินไปก็ยังพอมีประโยชน์อยู่บ้าง ในแง่การสร้างความยอมรับนับถือตัวเอง และเป็นกลไกเพื่อช่วยสร้างความแข็งแกร่งสำหรับรับและจัดการกับความเครียดและเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook