ต้องรอด! หนทางจบปริญญาตรีแล้วมีงานทำ

ต้องรอด! หนทางจบปริญญาตรีแล้วมีงานทำ

ต้องรอด! หนทางจบปริญญาตรีแล้วมีงานทำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เศรษฐกิจดีหรือไม่ลองดูจากอัตราการว่างงานที่ สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เปิดผลสำรวจว่ามีผู้ว่างงานในประเทศไทยประมาณ 491,000 คน และในจำนวนผู้ว่างงานนี้เป็นคนที่จบในระดับ ปริญญาตรี ถึง 1.77 แสนคน จนเป็นที่มาของคำถามว่าเรียนจบในระดับปริญญาตรีแล้วทำไมยังตกงานอีก วันนี้ Tonkit 360 จะพาคุณมาหาเหตุแห่งผลที่ทำให้เป็นเช่นนั้นและดูว่าจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร

1. สาขาที่เรียนจบมาไม่มีความต้องการในตลาดแรงงาน

ตัวอย่างที่จะยกมานี้เป็นนักศึกษาที่เรียนจบเกี่ยวกับศิลปะ (Fine Arts) แต่ไม่ได้อยากเป็นศิลปิน หรือ เป็นอาจารย์ ซึ่งจะเป็นสายงานตามที่เรียนมาซึ่งสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันจะเดินดุ่ยไปข้างหน้าเพื่อหางานตามที่เรียนมาคงเป็นไปได้ยากและก็คงเป็นหนึ่งในจำนวนของ 1.77 แสนคนที่ว่างงาน ขณะที่อีกหนึ่งตัวอย่างเรียนจบวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มา และมั่นใจว่าต้องมีงานทำ แต่สมัครงานไปเรื่อย โดยไม่ได้ทำการบ้านว่า ตลาดแรงงานส่วนไหนที่ต้องการ ยังไงคุณก็ตกงานอยู่ดี

วิธีการแก้ไข : จงระลึกไว้เสมอว่าอย่าคิดว่าการมีดีกรี ปริญญาตรี แล้วคิดว่าจะได้ทำงานตามที่อยากทำ แต่จงเดินเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยความเข้าใจว่า วิชาที่คุณร่ำเรียนมานั้นสามารถดัดแปลงไปสู่อาชีพที่หลากหลายกว่าในกรอบที่ตั้งเอาไว้ได้หรือไม่ เพราะเรารู้กันอยู่แล้วว่าแรงงานระดับปริญญาตรีนั้นล้นตลาด แต่ถ้าคุณรู้จักปรับตัวอย่างไรเสียก็ยังคงมีงานรองรับคนที่จบในระดับอุดมศึกษาอยู่อีกมาก

2. จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อจำนวนผู้เรียนในระดับอุดมศึกษา

การศึกษาในระดับปริญญาตรีนั้นถือเป็นค่านิยมของสังคมไทย ที่ทำให้ผู้ที่เรียนจบรู้สึกมีเกียรติ และ ทำให้จำนวนผู้ที่ต้องการเรียนในระดับอุดมศึกษามีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจำนวนผู้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีจากผลสำรวจเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้นมีจำนวนสูงถึง 38,212 คน ซึ่งนั่นหมายความว่านักศึกษาในจำนวนนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องเดินเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต ซึ่งบางคณะอาจมีแรงงานล้นตลาดอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นคุณควรทำเช่นไร

วิธีการแก้ไข : หาทักษะความรู้ด้านอื่นเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้คุณได้เห็นช่องทางในการนำเอาวิชาที่เรียนมาไปประยุกต์ใช้ ทักษะที่ว่านี้ อาจเป็นการศึกษาภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม เพราะสังคมปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมมากคนที่รู้ภาษาต่างประเทศจะช่วยให้มีความได้เปรียบมากขึ้นในตลาดแรงงาน ขณะเดียวกันการหาประสบการณ์การทำงาน หรือ ฝึกงาน (แบบตั้งใจฝึกจริงๆ) ก็จะช่วยได้มากสำหรับคนที่ยังคิดไม่ออกว่าคณะที่ตนเองเรียนนั้นจะไปทำมาหากินอะไรได้บ้าง

3. คุณภาพที่แท้จริงของสถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบัน

เรื่องสถาบันที่จบ กับคุณภาพของคนที่จะมาทำงานเป็นเรื่องเป็นสองสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน และไม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้นที่จะพิจารณาจากสถาบันที่จบเพราะในอเมริกาเหนือ คอลัมนิสต์จากเว็บไซต์ savespendsplurge.com ยังระบุไว้ว่า ชื่อสถาบันยังมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริหารที่จะรับพนักงาน ดังนั้นจงลบความคิดที่ว่า ชื่อสถาบันจะสำคัญอะไรหนักหนาในเมื่อจบมากก็ได้วุฒิปริญญาตรีเหมือนกันหมด

แต่ในความเป็นจริงแล้ว นัยของสถาบันที่มีชื่อเสียงนั้นทำให้เห็นว่าคนที่จบจากสถาบันดังกล่าวมีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการเรียนอย่างไรและแน่นอนว่าวิธีคิดในการทำงานของพวกเขาก็คงไม่ต่างกัน ขณะที่คนที่จบจากสถาบันที่มีชื่อเสียงน้อยกว่า อาจจะต้องพิสูจน์ด้วยผลการศึกษา และ การทำงานเพราะถ้าผลงานของคุณออกมาดีแล้วจากการลงมือทำงานอย่างเต็มที่ ก็จะไม่มีใครสนใจถามชื่อสถาบันที่คุณจบมา

วิธีการแก้ไข : หากคุณลงทะเบียนเรียนไปแล้ว ไม่ว่าจะสถาบันไหนก็ขอให้เรียนอย่างเต็มที่ ผลการเรียนยังคงเป็นอีกหนึ่งข้อที่บรรดาฝ่ายบุคคลในเมืองไทยยังคงพิจารณาอยู่ คุณจะได้เปรียบมากขึ้นถ้าคุณ มีผลการเรียนที่ดี ประกอบกับทักษะทางด้านอื่นที่คุณเรียนเพิ่มเติม และถ้าคุณไม่เลือกงานจนเกินไป รับรองว่าไม่มีทางตกงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook