จุฬาฯ สามัคคี น้ำใจท่วมท้นเพื่อชาวอุบลฯ หลังอุทกภัย

จุฬาฯ สามัคคี น้ำใจท่วมท้นเพื่อชาวอุบลฯ หลังอุทกภัย

จุฬาฯ สามัคคี น้ำใจท่วมท้นเพื่อชาวอุบลฯ หลังอุทกภัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราได้เห็นภาพข่าวสภาพน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยอย่างหนัก ประชาชนกว่าสองหมื่นคนอพยพหนีน้ำ ที่ท่วมสูงเกือบมิดหลังคาบ้าน ไร่นาจมใต้บาดาล โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ราชการได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

ความห่วงใยและความช่วยเหลือหลั่งไหลไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเวลานั้น จนเมื่อน้ำลด หลายคนคิดว่าปัญหาจบลงแล้ว แต่ไม่ใช่เลย แม้น้ำจะแห้งแต่ผู้ประสบภัยก็ยังต้องการน้ำใจและความ ช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูสภาพชีวิตและจิตใจ ด้วยเหตุนี้ ชาวจุฬาฯ จึงร่วมใจกันจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ “จุฬาฯ สามัคคี” นำโดย ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในระยะฟื้นฟู

897234

เช้ามืดของวันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม ชาวจุฬาฯ กว่าร้อยคน มีทั้งคณาจารย์ บุคลากร และนิสิต รวมตัวกันในนาม “เพื่อนชาวอุบลฯ” มุ่งหน้าสู่ฐานทัพอากาศดอนเมืองเพื่อเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี คณะของพวกเราได้รับเกียรติจาก พล.ร.อ.ปวิตร รุจิเทศ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ที่มาต้อนรับพร้อมพิธีมอบหมวกและผ้าพันคอพระราชทานให้กับตัวแทนฝ่ายคณาจารย์ บุคลากรและนิสิตของจุฬาฯ ที่ร่วมภารกิจนี้

หลังจากเสร็จพิธีแล้ว พวกเราก็ทยอยขึ้นเครื่องบินทหาร ตื่นเต้นและแตกต่างจากการนั่งเครื่องบินโดยสารที่คุ้นเคย ภายในตัวเครื่องบินเป็นเหล็กเปลือย ที่นั่งเป็นตาข่ายสีแดงที่ยึดไว้กับเชือกและเหล็กหนา

885432

เรานั่งเรียงกันเป็นแถวยาวขนานไปตามตัวเครื่อง รู้สึกเหมือนกำลังนั่งรถสองแถวอย่างนั้นเลย การนั่งในแนวนี้ เวลาเครื่องขึ้น-ลงจากพื้นดิน หลายคนบ่นว่าเวียนหัวคลื่นไส้มาก แต่เลือดสีชมพูทนได้
เมื่อลงเครื่องที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว เราก็ขึ้นรถบัสทหารต่อ ได้สัมผัสไอแดดและลมร้อนจากธรรมชาติ คิดถึงแผงโซล่าเซลล์ขึ้นมาเลยทีเดียว โชคดีที่การเดินทางใช้เวลาเพียง 15 นาที เราก็เข้าเขตอำเภอวารินชำราบ พื้นที่เป้าหมายที่ถูกน้ำท่วมอย่างหนักและนานหลายสัปดาห์

แม้วันนี้น้ำจะลดและแห้งสนิทแล้ว แต่ก็มีร่องรอยน้ำไว้ตาม

เสา ป้าย ไม้ผุพัง สังกะสี-ตะปูขึ้นสนิม เศษซากสิ่งของที่น้ำพัดมา ซากกระดูกวัวควายที่ตายเพราะหนีน้ำไม่ทัน รวมทั้งฝุ่นดินที่เกาะบนบ้านเรือน จริงอย่างที่ พ.อ.อนุชา ปิยสุทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี กล่าวไว้ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยช่วงหลังน้ำลดสำคัญมากไม่แพ้ช่วงน้ำท่วม ผู้ประสบภัยต้องการความช่วยเหลือ ทั้งในการฟื้นฟูสภาพบ้านเรือน พื้นที่ทางกายภาพต่างๆ และสภาพจิตใจ

761540

จุดแรกของกิจกรรม ‘จุฬาฯ สามัคคี’ เรามากันที่วัดเสนาวงศ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของชุมชนโดยรอบ ทุกคนแบ่งหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกลุ่มจิตอาสาอื่นๆ พวกเราช่วยกันรื้อถอน เก็บกวาดสิ่งของต้นไม้ที่โคน ล้างทำความสะอาดอุโบสถ ถนนลานวัด ผนังสกปรก คราบโคลนดินที่เปรอะเปื้อนจากน้ำท่วมรวมทั้งขยะและใบไม้ที่สะสมอยู่ทั่วบริเวณ เช็ดล้างสิ่งของจำเป็นภายในวัด และช่วยกันขนลำเลียงของอุปโภคบริโภคเพื่อนำส่งให้ประชาชนในพื้นที่ จากนั้นร่วมแจกจ่ายอาหารโรงครัวพระราชทาน
หมดวัน แม้จะหมดแรง แต่ก็อิ่มใจ กิจกรรมในวันแรกผ่านไปด้วยดี ทำให้นึกถึงพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “ความสามัคคียังประโยชน์สุขให้แก่หมู่เหล่า”

dsc_7020

เช้าวันรุ่งขึ้น พวกเราไปต่อกันที่โรงเรียนบ้านคูสว่าง อำเภอวารินชำราบ ที่นี่พวกเราร่วมกิจกรรม ทำความสะอาด ทาสีอาคาร สนามเด็กเล่น นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมและบริการมากมายจากชาวจุฬาฯ
นิสิตจัดกิจกรรมสันทนาการกับเด็กเล็ก นักเรียน ผู้ปกครองและผู้สูงอายุในพื้นที่ เด็กๆ ร้องเพลง เต้นชูไม้ชูมือตามที่นิสิตชวนทำบนเวที บรรยากาศสนุกสนานครื้นเครง ช่วยให้คลายทุกข์และความกังวลได้เป็นอย่างดี ผู้คนเป็นมิตรแบ่งปันอาหารและน้ำให้กัน นั่งทานและทำกิจกรรมไปพร้อมกัน

ส่วนผู้ใหญ่ในชุมชนก็พากันมารับบริการด้านสุขภาพที่จุฬาฯ จัดเตรียมไว้ อาทิ ศูนย์บริการสุขภาพ จุฬาฯ ให้บริการตรวจสุขภาพ ส่วนโอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ มีบริการด้านยาและให้คำแนะนำ ในการใช้ยา และผู้เชี่ยวชาญจากคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ก็มาให้คำปรึกษา ด้านสุขภาพจิต

dsc_7375

ผู้หญิงคนหนึ่งปรึกษากับนักจิตวิทยาอยู่นาน ก่อนจะเดินจากไปพร้อมแววตาที่สดใสขึ้น ใบหน้าของชาวบ้านหลายคนที่เข้ามารับบริการจากเราล้วนมีสีหน้าดีขึ้น อย่างที่คุณยายคนหนึ่งยิ้มและบอก พวกเราว่า “มาหาหมอ สบายใจแล้ว”

พวกเรายิ้มและอิ่มสุขเช่นกัน น้ำลด แต่สิ่งที่เพิ่มคือ น้ำใจของชาวจุฬาฯ ที่จะไม่มีวันลด

เรื่อง : นิธิกานต์ ปภรภัฒ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook